COVID ที่ว่าร้าย โลกร้อนร้ายกว่าหลายเท่า แนะให้ปรับเปลี่ยน Mindset สู่การบริโภคอย่างยั่งยืน

ท่ามกลางสถานการณ์แปรปรวนทั้งอุณหภูมิโลกและการเกิดโรคระบาดอุบัติใหม่ หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งกล่าวถึงกันมานานแต่ปัญหากลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง we are CP มีโอกาสได้ฟัง คุณสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำโครงการด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหลายโครงการ และยังได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานโครงการ We Grow : ปลูกเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้สะท้อนมุมมองการชะลอภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยการปลูกต้นไม้ ในเวที “CP Roundtable” เมื่อไม่นานมานี้ โดยกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ  Covid-19 ที่หลายคนมองว่าร้ายแรงมาก จนทำให้ชาวโลกตื่นตระหนกและหันมาให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตกันยกใหญ่ แต่ที่ร้ายแรงกว่าก็คือ “ปัญหาสภาวะโลกร้อน”

คุณสุธี เล่าว่า เมื่อปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ภูมิอากาศสุดขั้วไปกลับ” ขึ้นบนโลก ส่งผลกระทบที่รุนแรงคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทั้งธรรมชาติและยังส่งผลกระทบต่อ “ความมั่นคงทางอาหาร”

“พอสภาพทางภูมิศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หิมะเคยตกก็ไม่ตก หรือที่มีอยู่ก็ละลาย สิ่งที่สำคัญของชีวิตทุกชีวิตในโลกนี้คือ “น้ำ” มีน้ำมีชีวิต ถ้าขาดน้ำ นั่นหมายความว่า ผลิตผลทางการเกษตรที่จะมาเป็นอาหาร ก็ผลิตได้น้อยลง หรือทำให้เกิดภาวะความขาดแคลนอาหารของโลกได้”

โลกร้อน แก้ได้ด้วย Mindset
คุณสุธี บอกอีกว่า การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากการช่วยกันรณรงค์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าแล้ว สิ่งสำคัญคือ Mindset ซึ่งทุกคนต้องเปลี่ยน Mindset และต้องกำหนดเป้าหมายของตนเองว่าต้องการเห็นโลกที่ดีกว่าอย่างไร ซึ่งสิ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ก็คือ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนให้เป็นการบริโภคที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ CPF เป็นธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้ดำเนินโครงการต่างๆ ทั้งการประหยัดพลังงาน การรณรงค์ให้ใช้พลังงานทดแทน เช่น Solar Cell หรือ Biogas เป็นต้น เพื่อนำไปสู่สังคมที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ปัญหา Food loss Food waste ก็มีความสำคัญ โดยจะต้องบริหารจัดการให้วัตถุดิบที่นำมาสู่กระบวนการผลิตอาหารมีความสูญเสียน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันเมื่อผลิตออกมาป็น product แล้ว จะต้องวางแผนและบริหารจัดการให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เหลือเป็นของทิ้งให้น้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนอาหาร ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ด้วย

“We Grow ปลูกเพื่อความยั่งยืน” จุดเริ่มต้นสู่การเปลี่ยนแปลง
คุณสุธี เน้นย้ำอีกว่าการที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนสิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โครงการ “We Grow” เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่นแปลง ซึ่ง CPF มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปลูกต้นไม้ โดยมีโครงการหลักๆ อยู่ 2 โครงการ คือ “ป่าเลน” กับ “ป่าบก”

ทั้งนี้ “ป่าเลน” ก็คือ โครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของ CPF ซึ่งมีโครงการอยู่ตลอดชายฝั่งทะเลของประเทศไทยใน 5 จังหวัด คือ ระยอง, สมุทรสาคร, ชุมพร, สงขลา และพังงา ส่วน “ป่าบก” ก็คือ โครงการรักษ์นิเวศน์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ปลูกต้นไม้ภายในโรงงานและฟาร์มของเรา ซึ่งตอนนี้เราก็มีกระบวนการในการเก็บข้อมูลว่ามีต้นไม้เท่าไร มีพื้นที่เท่าไร ปลูกไปแล้วกี่ต้น สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไร

2. ร่วมปลูกต้นไม้กับกรมป่าไม้ โดยขออนุญาตในการเข้าไปช่วยฟื้นฟูป่าสงวน ป่าเสื่อมโทรมที่ต้นน้ำป่าสัก เขาพญาเดินธง จังหวัดลพบุรี พื้นที่ประมาณ 5,971 ไร่ ตอนนี้เข้าปีที่ 5 แล้ว ซึ่งโครงการมีความก้าวหน้ามาก

“วันนี้เราคุ้นชินกับ new normal จากสถานการณ์โควิด ผมมองว่า เราใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนพฤติกรรมของเราจากพฤติกรรมที่สร้างความสุขสบายภายใต้ความเสื่อมโทรม ความสูญเสียของโลก ให้เป็นพฤติกรรมที่เราบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะฝากโลกใบนี้ของเรา ไว้ให้ลูกหลานเราได้มีเหมือนที่เรามีอยู่ทุกวันนี้” คุณสุธี กล่าวทิ้งท้าย

บทสัมภาษณ์จาก CP Roundtable ครั้งที่ 11: 3 ผู้บริหารสายกรีน
https://youtu.be/81NvvG-h8oA