รีวิวสรุปหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ของประธานอาวุโสธนินท์ และข้อคิดจากทำงานใน CP

กฤตเมธ เปรมนิยา (เอิ๊ก)
ประโยคที่บอกว่า “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ไม่ใช่เป็นแค่คำเท่ ๆ ที่คิดไว้เพื่อเป็นชื่อปกหนังสือเท่านั้น แต่เป็นคำพูดติดปากของเจ้าสัวธนินท์ที่บอกว่า “ผมพอใจแค่วันเดียว” ซึ่งคนที่ทำงานใน CP จะได้ยินเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อได้มีโอกาสไปที่สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPLI : CP Leadership Institute) หรือเรียกว่าโรงเรียนสร้างผู้นำ ได้พูดถึงในบทหลัง ๆ ของหนังสือเล่มนี้

ผมเป็นคนนึงที่ได้มีโอกาสทำงานใน CP มาก่อน ซึ่งอยู่ในโครงการ Future Leader Development Program (FLP) หรือ หลักสูตร “เถ้าแก่น้อย” ถ้าอ่านในหนังสือเจ้าสัวธนินท์ได้ให้นิยามว่า “ลูกวัวไม่กลัวเสือ”

หนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ภาพจาก www.wearecp.com

เมื่อเจ้าสัวธนินท์ หรือ คนใน CP จะเรียกว่าท่านประธานอาวุโส ออกหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ผมก็ไม่พลาดที่จะซื้อมาอ่านจนจบ แม้จะมีคนสรุปข้อคิดของหนังสือเล่มนี้ไปแล้วมากมาย แต่ผมก็อยากสรุปหนังสือเล่มนี้ในมุมมองของคนที่เคยอยู่ใน CP และเคยเป็นลูกวัวไม่กลัวเสือคนนึง น่าจะเป็นอีกมุมนึงที่คนอยากรู้ซึ่งยังไม่ค่อยมีคนเล่ามาก่อน

ในขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ผมนึกถึงอย่างนึง นั้นคือ “ค่านิยม 6 ประการ” (6 Core Values) ของ CP ซึ่งพนักงานทุกคนจะต้องรู้จักเป็นอย่างดีตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ก้าวมาทำงานที่นี่ ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มันสอดคล้องกับค่านิยม 6 ประการนี้เกือบทั้งหมด

“ค่านิยม 6 ประการ” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์

ผมจึงขออาสาสรุปหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ไปพร้อม ๆ กับ “ค่านิยม 6 ประการ” ของ CP แล้วปิดท้ายด้วย “สิ่งที่คุณธนินท์ให้ความสำคัญมากที่สุด” รวมไปถึงข้อคิดจากประสบการณ์ตรงจากการเป็น “ลูกวัวไม่กลัวเสือ” ของผมเอง

ลองติดตามกันดูนะครับ…
________________________________________

ค่านิยม ข้อที่ 1 : สามประโยชน์สู่ความยั่งยืน

“3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน” คือ เมื่อจะทำอะไรต้องคำนึงถึง “ประเทศ” เป็นอันดับแรก รองลงมาคือ “ประชาชน” และสุดท้ายถึงจะเป็น “บริษัท” เพราะถ้าประเทศไม่ได้ประโยชน์ ประชาชนเดือดร้อน บริษัทจะอยู่ได้อย่างไร
ถือเป็นข้อที่คุณธนินท์ ให้ความสำคัญมากที่สุดเลยก็ว่าได้ สังเกตได้จากในหนังสือเล่มนี้ได้นำแนวทางของค่านิยมข้อนี้มาเล่ามากที่สุด ตั้งแต่

1. เรื่องราวของคุณแม่ ของคุณธนินท์
ในหนังสือจะเห็นได้ว่าสมัยวัยเด็ก คุณธนินท์ใกล้ชิดกับคุณแม่มาก เนื่องจากคุณพ่อเป็นนักบุกเบิกธุรกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ซึ่งคุณแม่เป็นตัวอย่างของ “การให้” ในมุมมองของคุณธนินท์ ทั้งการให้ความช่อยเหลือ ใหอภัย และให้โอกาส

เช่น การที่คุณแม่จะไปเยี่ยมเยียนญาติที่ยากจนเพื่อดูแล เช่นเดียวกับลูก ถ้าลูกคนไหนลำบากแม่ก็จะเอาเงินไปให้ แต่ถ้าลูกคนไหนสบายท่านจะไม่ไปเยี่ยม ต้องมาหาท่านเอง เชื่อว่า “การให้” ของคุณแม่ คือเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกฝั่งอยู่ในใจคุณธนินท์ และผมเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่มาสำหรับค่านิยมข้อแรก ในการคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นก่อนตัวเอง

2. เรื่องของ “Contract Farming”

“Contract Farming” ภาพจากcp-enews.com

“Contract Farming” ก็เป็นเรื่องที่คุณธนินท์พูดถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยจะบอกว่าเกษตรกรมีอุปสรรคอยู่ 3 อย่าง นั้นก็คือ “เงินทุน” “เทคโนโลยี” และ “การตลาด” คุณธนินท์จึงได้เริ่มนำรูปแบบระบบ Contract Farming จากสหรัฐฯ ที่เขาทำสำเร็จมากแล้วมาประยุกต์กับประเทศไทย ซึ่งผมว่ามันตรงกับหลัก 3 ประโยชน์เช่นกัน โดยหลักการมีดังนี้

เรื่อง “เงินทุน” — เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถกู้เงินกับธนาคารได้ CP จึงค้ำประกันให้เพื่อลงทุนสร้างโรงเรือนในการเลี้ยงไก่

เรื่อง “เทคโนโลยี” — CP ได้จัดหาไก่ วัคซีน อาหารสัตว์ ทั้งหมดให้กับเกษตรกร และมีสัตวบาลมาดูแลเป็นระยะ เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกร

เรื่อง “การตลาด” — เมื่อเกษตรกรเลี้ยงไก่มาแล้วก็ต้องมีที่ขาย ดังนั้น CP ได้รับซื้อไก่ของเกษตรกรที่อยู่ในโครงการ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนไม่ต้องเสี่ยงกับราคาที่ผันผวน หรืออาจไม่มีคนมารับซื้อ

การทำ Contract Farming มีสัญญาชัดเจนว่า เกษตรกรมีหน้าที่เลี้ยง ดูแลไก่ หากถูกขโมยหรือสัตว์อื่นทำร้าย เกษตรกรจะเป็นผู้รับผิดชอบ กรณีมีภัยธรรมชาติ ไก่เป็นโรคตาย CP จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง
ที่สำคัญคือเมื่อสามารถเลี้ยงไก่ได้มากขึ้น “ราคาก็จะถูกลง” ทำให้คนไทยสามารถกินไก่ได้ต่างจากอดีตซึ่งคนมีฐานะเท่านั้นที่จะเอื้อมถึง…

3. เรื่องการลงทุนในต่างประเทศ

ภาพจาก www.cp-enews.com

ในหนังสือเล่มนี้ได้เล่าเสมอว่าเมื่อ CP ไปลงทุนที่ใด จะนำ “ธงชาติไทย” ขึ้นไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า “เราเป็นคนไทย” และนี่คือ “ธุรกิจของไทย” และทุกประเทศที่ไปจะคำนึงถึงหลัก 3 ประโยชน์เป็นสำคัญ ประเทศน้ันต้องได้ประโยชน์ ประชาชนประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ และบริษัทต้องได้ประโยชน์เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น การนำข้าวโพดพันธุ์ที่ดีที่สุดของเราไปให้ประเทศพม่า ซึ่งทำให้ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ลง และราคาไข่ลดลงถึง 3 เท่า ตอนแรกกลุ่มผู้บริหารก็ตกใจเพราะกลัวสังคมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเอาของดีไปให้ต่างชาติ
สิ่งที่คุณธนินท์พูดคือ “เราต้องจริงใจกับเขา เขาถึงจะจริงใจกับเรา” และ “ถึงเราให้สิ่งที่ดีที่สุดที่เรามีในวันนี้ พรุ่งนี้ CP ก็มีของใหม่เกิดขึ้น”

4. ความสัมพันธ์กับประเทศจีน

“ใบอนุญาตลงทุนที่ 001″ ภาพจาก www.cp-enews.com

อย่างที่รู้กันว่า CP ถือ “ใบอนุญาตลงทุนที่ 001″ เป็นการอนุญาตให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศจีนได้เป็นรายแรกสำหรับต่างชาติ เนื่องจากในยุคนั้นจีนพึ่งประกาศเปิดประเทศ คนอื่นอาจมองว่ายังไม่พร้อมสำหรับการลงทุน แต่คุณธนินท์มองว่า “เราไม่รอให้เขาพร้อม แต่เราจะไปสร้างความพร้อมให้เกิดขึ้น” จึงเริ่มเปิดตลาดจีนด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ที่ตนเองถนัด

และในช่วงที่เกษตรกรไทยยังขาดความรู้ ได้ร่วมกับรัฐบาลจีนในเรื่อง “นโยบายการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่” ในเขต “ผิงกู่” กรณีศึกษานี้ก็เป็นเรื่องที่คุณธนินท์พูดถึงอยู่บ่อยครั้งกับทุกคน จำได้ว่าวันแรกที่เจอคุณธนินท์ท่านก็ได้เปิดคลิปของ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่ 3 ล้านตัว” ในผิงกู่ให้ดูซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก

“โครงการไก่ไข่ 3 ล้านตัวผิงกู่” ภาพจาก www.cp-enews.com
เพราะเป็นการร่วมมือกันของ 4 ฝ่ายนั้นก็คือ รัฐบาล ธนาคาร เกษตรกร และ CP ซึ่งโครงการนี้ CP เช่าที่ดินรัฐบาลให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จำนวน 1,600 ครอบครัวและให้เกษตรกรเป็นผู้ถือหุ้นเอง ธนาคารให้กู้ 70% ส่วน ส่วนอีก 30% CP และรัฐบาลเป็นคนจัดหามาให้คนละครึ่ง ซึ่งได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในโครงการนี้

CP รับหน้าที่นำไข่ที่ได้ไปขายรับความเสี่ยง เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนจากการเลี้ยงไก่ไข่ เมื่อครบ 10 ปี สามารถผ่อนเงินต้นได้หมด และทุกอย่างก็ตกเป็นของเกษตรกรโดยสมบูรณ์
เชื่อว่าสิ่งที่ CP ทำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้ใจประเทศจีน เพราะช่วยเหลือเขาตั้งแต่เขายังลำบาก…

5. แนวคิดสินค้าเกษตร คือ “สมบัติของชาติ”
เมื่อคุณธนินท์ได้เดินทางไปศึกษาประเทศต่าง ๆ นั้นพบว่ามีหลายประเทศที่สินค้าเกษตรราคาแพงกว่าประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่นและไต้หวัน แต่นั้นเป็นเพราะประเทศเหล่านี้คำนึงถึง “รายได้ขั้นต่ำของเกษตรกร” และมองว่าสินค้าเกษตรเป็น “สมบัติของชาติ” ถ้าขายถูกลง ทรัพย์สมบัติของชาติก็จะมีมูลค่าน้อยลง

ดังนั้นเขาจึงไม่ชอบเลย ถ้ามีประเทศไหนเอาสินค้าเกษตรไปขายให้ในราคาที่ถูก เพราะมันจะทำให้ราคาตก ปั่นป่วน แล้วยังต้องมาซื้อสินค้าต่างชาติอีก เปรียบเหมือนประเทศกลุ่มโอเปกที่น้ำมันคือสมบัติของชาติ เขาจึงดูแลราคาน้ำมันอย่างดี

คุณธนินท์จึงได้นำเสนอทฤษฎี “สองสูง” นั้นคือ “ราคาสินค้าเกษตรสูง” และ “รายได้ขั้นต่ำสูง” ถ้าสองต่ำ คือ ไม่เพิ่มรายได้แล้วไปลดค่าครองชีพ ทำให้ไม่เกิดเงินหมุนเวียน

เช่น ถ้าเราขึ้นราคาข้าวสาร 10 บาท/กิโลกรัม แต่ละคนเสียจะเสียค่าข้าวเพิ่มประมาณ วันละ 3 บาท แต่เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น นำมาหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและรัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย
“สุดท้ายทุกคนจะได้ประโยชน์”

________________________________________

ค่านิยม ข้อที่ 2 : เร็วและมีคุณภาพ

คุณธนินท์พูดอยู่เสมอว่าปัจจุบันนี้ “ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่เป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า” แต่เร็วอย่างเดียวไม่ได้ “คุณภาพ” เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
1. การเคล็ดลับการส่งหมูของคุณธนินท์

เป็นเรื่องราวสมัยเด็กที่ผมอ่านแล้วชอบมาก นั้นคือเรื่องราวช่วงวัยเด็กของคุณธนินท์สมัยยังเป็น “เสมียน” ซึ่งมีหน้าที่ทำทุกอย่างตั้งแต่เปิดร้าน เก็บเงิน จ่ายเงิน นอกจากงานที่ร้าน พี่ชายทั้งสองยังมอบหน้าที่ “การส่งหมู” ให้ด้วย
พี่ชายบอกว่า ถ้าหมูตายน้อยลง 1 ตัว จะให้รางวัล 100 บาท คุณธนินท์ไม่รอช้าได้เรียนรู้เทคนิคการส่งหมูด้วยตนเอง ผลลัพธ์คือได้รางวัลหลายพันบาท เพราะสามารถหาทางให้หมูไปอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดได้ หมูจึงตายน้อยลง
ถ้าไม่มีมรสุมให้หมูอยู่หน้าเรือ แต่ถ้ามีมรสุมต้องให้อยู่ตรงกลางหรือข้างหลัง “นี่คือเคล็ดลับของคุณธนินท์” ซึ่งผมมองว่าเป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ของค่านิยม “เร็วและมีคุณภาพ” ได้ดี

2. ว่าด้วยเรื่องของ “7-Eleven”

ภาพจาก www.cp-enews.com

คิดว่าเป็นตัวอย่างที่สะท้อนค่านิยม “เร็วและมีคุณภาพ” ได้ดี เนื่องจากจุดเริ่มต้นเจ้าของ 7-Eleven ได้บอกกับคุณธนินท์ว่า “เมืองไทยยังไม่พร้อม ลงทุนไปอาจขาดทุนได้ แต่ถ้าคุณยอมขาดทุน ผมก็จะยอมให้คุณ” ตอนนั้นเขามองว่ารายได้ประชากรต่อหัวของไทยยังน้อยอยู่

แต่คุณธนินท์ไม่คิดเช่นนั้น เนื่องจากได้ลงไปนับจำนวนคนด้วยตนเอง แม้ว่าคนไทยจะมีรายได้ต่ำกว่า แต่มีคนหนาแน่นกว่า “ถ้าสหรัฐฯ คนเข้าร้าน 1 คน ในประเทศไทยคนจะเข้าร้าน 10 คน” นั้นคือสิ่งที่คุณธนินท์เห็น “มองอะไรอย่ามองมุมเดียว”

จนวันนี้ 7-Eleven มีมากกว่า 10,000 สาขา พนักงานกว่า 1 แสนคน และมีลูกค้าเดินเข้าออกร้านเฉลี่ยวันละ 10 ล้านคน…
“เห็นก่อน ทำก่อน”

________________________________________

ค่านิยม ข้อที่ 3: ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

“คนเก่งชอบทำเรื่องง่าย แต่คนเก่งกว่าต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย” เป็นคำพูดหนึ่งที่ผมจำได้ขึ้นใจ เรื่องยาก ๆ ไม่ค่อยมีคนมาทำแข่งกับคุณ ถ้าคุณทำสำเร็จได้ ก็เหมือนนักมวยที่สะดุดขาตัวเองบนเวที ลุกขึ้นมายังชนะอยู่เลย เพราะไม่มีคู่แข่ง!

1. การเลี้ยงไก่ของ CP

ภาพจาก www.cp-enews.com

“การเลี้ยงไก่” เป็นเรื่องที่คุณธนินท์มักใช้เป็นตัวอย่างในการอธิบายเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เนื่องจากสมัยก่อน “ไก่” เป็นอาหารของคนรวยราคาสูง เพราะคนไทยหนึ่งคนเลี้ยงไก่ได้แค่ 100–500 ตัว ไก่จึงเป็นของหายาก

“ทำไมคนอเมริกาคนเดียวสามารถเลี้ยงไก่ได้ถึง 10,000 ตัว” นั้นเป็นโจทย์ที่คุณธนินท์ตั้งกับตัวเอง และได้ลงลึกศึกษาเรื่องการเลี้ยงไก่อย่างจริงจัง หลังจากนั้นจึงได้นำเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มาปรับใช้กับประเทศไทย จนสามารถทำได้สำเร็จ!

“ปัจจุบันเกษตรกร 1 คน สามารถเลี้ยงไก่ได้ 170,000 ตัวแล้ว” ราคาไก่จึงถูกลงแม้กำไรต่อตัวน้อย แต่เลี้ยงได้เยอะขึ้น รายได้ก็มากขึ้น ทุกคนก็สามารถกินไก่ได้ในราคาไม่แพง

2. ทำอะไรก็ “ต้องครบวงจร”
ธุรกิจครบวงจรเป็นเรื่องที่ผมคิดว่ายากมาก ๆ แต่คุณธนินท์สามารถทำมันได้ เนื่องจากการทำธุรกิจนั้นมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ คนขายพันธุ์สัตว์ คนขายอาหารสัตว์ คนขายยา คนขายวัคซีน คนเลี้ยงไก่ โรงฆ่าสัตว์ แม่ค้า “กว่าจะมาถึงผู้บริโภค ถูกบวกกำไรกันไม่รู้กี่ต่อ” จนทำให้ราคาแพง

เมื่อจากหลายขั้นตอนเหลือขั้นตอนเดียว จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากลูกไก่สู่จานอาหารของเราได้มาก สามารถควบคุมคุณภาพได้ทุกขั้นตอน ต้นทุนและราคาขายก็ถูกลง
ถือเป็นการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายโดยแท้จริง…

________________________________________

ค่านิยม ข้อที่ 4 : ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ในโครงการเถ้าแก่น้อยเชื่อว่าทุกคนจะคุ้นเคยกับค่านิยมข้อนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากเราต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจริงๆ

1. เพราะ “จังหวะ” คือปัจจัยความสำเร็จ
มีช่วงหนึ่งในหนังสือเขียนว่า “จังหวะ” คือปัจจัยความสำเร็จอันดับ 1 ซึ่งผมเห็นด้วยมาก ๆ แต่ก็ต้องมีเรื่องอื่นมาช่วยด้วยนั้นคือ “โอกาส” และ “คน” ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็อาจจะไม่สำเร็จ ธุรกิจก็เหมือนคน บางทีก็ป่วย หายก็กลับมาแข็งแรง เวลาที่ดีที่สุดต้องเตรียมพร้อมว่า เวลาที่แย่ที่สุดทำยังไงถึงจะอยู่รอดได้ แต่ “วิกฤติ ก็ตามมาด้วยโอกาส” ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ…

2. ฝ่าวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง”

ภาพจาก www.posttoday.com

ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับค่านิยม “ยอมรับการเปลี่ยนแปลง” ในช่วงปีพ.ศ.2540 ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ค่าเงินบาทจาก 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 50 บาท ทำให้หนี้สินจากการกู้เงินต่างประเทศพึ่งสูงขึ้น

2 เท่าในเวลาชั่วข้ามคืน แผนในการวางมือของคุณธนินท์จึงได้พับลงไป

ในภาวะที่มืดแปดด้าน คุณธนินท์ได้ตัดสินใจอย่างเชียบขาดในการขาย “โลตัส” และ “สยามแม็คโคร” เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ให้หมดและทำให้บริษัทในภาพรวมยังคงอยู่รอดจนถึงทุกวันนี้…
“นักธุรกิจต้องมีสติรับมือในยามรุ่งเรืองและถดถอย”

________________________________________

ค่านิยม ข้อที่ 5 : สร้างสรรค์สิ่งใหม่

ค่านิยมข้อนี้ถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะเรียกว่า “Innovativeness” หรือเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาการทำงานของเครือ CP
1. ธุรกิจ “มอเตอร์ไซค์” ในประเทศจีน

ภาพจาก www.cp-enews.com

เป็นเรื่องที่ผมชอบมากที่สุดในการเลือก “นวัตกรรม” มาทำให้ธุรกิจเติบโต เรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุด แพงที่สุด แต่ต้องเป็นนวัตกรรมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกค้า

“มอเตอร์ไซค์” ที่ CP เลือกในการบุกประเทศจีน คือ ยี่ห้อฮอนด้าโดยเป็นรุ่นเก่าที่เขาเก็บไว้ในลิ้นชักแล้ว เนื่องจากคุณธนินท์ศึกษาข้อมูลมาแล้วว่า รุ่นใหม่นั้นสวยงามแต่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานขนส่งในเมืองจีน รุ่นเก่าที่ไม่สวยแต่ทนกว่าจึงตอบโจทย์ชาวจีนได้มากกว่า

เรียกได้ว่าผลิตมาได้เท่าไหร่ ก็ขายเกลี้ยง…

2. นาน้ำท่วม
หนังสือเล่มนี้ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คุณธนินท์เปิดหูเปิดตาอยู่ตลอดเวลา ได้เรียนรู้แนวคิดและเทคโนโลยีมากมายจากทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “นาน้ำท่วม” คือการใช้ “น้ำ” ฆ่าแมลงแทนการใช้ยาปราบศัตรูพืช

คุณธนินท์ได้เห็นครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้ หลักการคือการปล่อยน้ำให้ท่วมนาข้าว โดยผ่านการศึกษามาแล้วว่า “ข้าวในนา” สามารถหายใจในน้ำได้ 8 ชั่วโมง แต่ “แมลงศัตรูพืช” จะอยู่ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงก็จะตายทั้งหมด

วิธีการนี้ไม่สร้างความเสียหายให้กับต้นข้าว และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้ปลาตายแถมยังเลี้ยงปลาได้ด้วยซ้ำไปหากเรารู้จักใช้เทคโนโลยี สามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตได้ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ “เหมือนดึงกำไรจากอากาศนั้นเอง”

3. ทฤษฎี “3 สูง 1 ต่ำ”
เป็นทฤษฎีที่คุณธนินท์สร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา
“ลงทุน” สูง
“ประสิทธิภาพ” สูง
“คุณภาพสูง” สูง
“ต้นทุน” ต่ำ

นั้นคือคุณธนินท์กล้าลงทุนในเทคโนโลยีที่ราคาสูง ถ้ามันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ ผลผลิตมีคุณภาพสูง มันจะกลายเป็นต้นทุนต่ำ เพราะไม่ต้องไปเสียเวลาเสี่ยงกับการแก้ไขปัญหาจุกจิก หรือเสียค่าใช้จ่ายกับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ

แต่ถ้าไม่ลงทุนในเทคโนโลยี เช่น พันธุ์ไก่ถ้าไม่ดี เอามาเลี้ยงก็ไม่โต ให้อาหารไปก็มีแต่เพิ่มต้นทุนโดยใช้เหตุ ลงทุนต่ำ ประสิทธิภาพต่ำ คุณภาพต่ำ จึงกลายเป็นต้นทุนสูง…

________________________________________

ค่านิยม ข้อที่ 6 : ซื่อสัตย์และมีคุณธรรม

ข้อสุดท้ายซึ่งผมเคยฟังจาก ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ พูดไว้ว่า ข้อนี้คือพื้นฐานสำคัญของ CP พื้นฐานสำคัญของการทำธุรกิจ ถ้าเราไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่มีคุณธรรม บริษัทจะไม่มีทางอยู่มาได้ยาวนานขนาดนี้แน่นอน

เรื่องราวของคุณพ่อ ผู้บุกเบิก “เจียไต๋”

ภาพจาก www.cpgroupglobal.com

เป็นบทแรก ๆ ขอหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผมว่าเหมาะกับค่านิยมข้อนี้มากที่สุด นั้นคือเรื่องราวของ “คุณพ่อของคุณธนินท์”

คุณพ่อของคุณธนินท์ทำธุรกิจขายเมล็ดพันธ์ุที่เมืองจีน และได้ตัดสินใจมาเปิดตลาดที่เมืองไทย เป็นจุดกำเนิดของ “เจียไต๋” บ้านหลังแรกของคุณธนินท์ และเป็น “จุดเริ่มต้น” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ นั้นเอง

•“เจีย” แปลว่า ซื่อตรง ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม
•“ไต๋” แปลว่า ยิ่งใหญ่ไพศาล

นั้นคือสิ่งที่คุณพ่อคุณธนินท์ยึดถือมาโดยตลอด เพื่อต้องการเป็น ร้านที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม แต่ชื่อนั้นไม่สำคัญเท่ากับการกระทำของคุณพ่อคุณธนินท์ เพื่อแสดงถึงความซื่อตรงนี้ จึงได้ริเริ่มพิมพ์ “วันหมดอายุ” ของเมล็ดพันธุ์ที่ขาย เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำสินค้ามาเปลี่ยนได้ฟรีหากเกิดปัญหา มันคือการรักษาคุณภาพ ด้วยความซื่อตรง

“ถ้าสินค้าดีมีคุณภาพ ลูกค้าย่อมกลับมาอุดหนุนเราอีก” มันคือการรักษาคุณภาพ ด้วยความซื่อตรง ถือเป็น “เมล็ดพันธุ์” ที่ฝั่งอยู่ในใจคุณธนินท์เสมอ

________________________________________

สิ่งที่คุณธนินท์ให้ความสำคัญมากที่สุด คือเรื่อง “คน”

หนังสือเล่มนี้นอกจากจะสื่อถึง “ค่านิยม 6 ประการ” ของ CP แล้ว มันยังสื่อถึงสิ่งที่คุณธนินท์ให้ความสำคัญมากที่สุด นั้นคือเรื่อง “คน” ไม่มีใครสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว คนเราต้องเกิดแก่เจ็บตาย เก่งอย่างไรก็ต้องมีวันหยุด เราต้องมี “การสร้างคน” มารองรับ

1. “การสร้างคน” สไตล์คุณธนินท์
ในหนังสือกล่าวว่า “การให้โอกาส” คือวิธีการสร้างคนของคุณธนินท์ คุณธนินท์จะวิเคราะห์อยู่เสมอว่า งานที่มอบหมายนั้น คนทำสนใจหรือไม่ ถ้าเขาเก่งและอยากทำ งานจะสำเร็จแน่นอน อย่าไปฝืนเขา เมื่อมอบหมายแล้วก็ปล่อยให้เขาแสดงฝีมือให้เต็มที่

คนที่เก่งต้องให้ “อำนาจ” เพื่อสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ตามด้วย “เกียรติ” และ “เงิน” ตามมา

“คุณอดิเรก ศรีประทักษ์” และ “คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการสร้างคนของคุณธนินท์ จนกลายเป็นประธานกรรมการบริหาร ของบริษัท CPF และ CP All ตามลำดับ

2. “สถาบันผู้นำ” เครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Leadership Institute)

ภาพจาก Facebook : CP Leadership Institute

คุณธนินท์เดินทางไปทั่วโลกเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการ “สร้างผู้นำ” แบบอย่างที่คุณธนินท์นำมาเป็นสร้างสถาบันผู้นำ คือ “โรงเรียนผู้นำของบริษัท จีอี” เนื่องจากมีพนักงานทั่วโลกพอ ๆ กับ CP และมีความหลากหลายของกลุ่มธุรกิจเช่นกัน

คุณธนินท์ได้ สร้างสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPLI) อยู่ที่เขาใหญ่ โลยมีหลักสูตรมากมาย โดยเน้น “การเรียนรู้จากการทำจริง” และให้คนมา “แบ่งปันประสบการณ์กัน” ใครที่ทำสำเร็จก็นำมาแบ่งปันเพื่อต่อยอด ใครล้มเหลวก็นำมาแบ่งปันเพื่อไม่ให้ผิดซ้ำ

เมื่อจบหลักสูตรแล้วกลับไปยังหน่วยงานเดิมแล้ว ก็จะติดตามว่าผู้บังคับบัญชาได้ให้โอกาสเขาให้แสดงความสามารถหรือไม่ ถ้าไม่ ปัญหาก็จะอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาก็ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เขาได้ใช้ความสามารถให้เต็มที่

3. เถ้าแก่น้อย “ลูกวัวไม่กลัวเสือ”
หนึ่งในโครงการของสถาบันผู้นำคือ Future Leader Development Program (FLP) หรือ หลักสูตร “เถ้าแก่น้อย” และผมได้เข้าร่วมในโครงการ FLP รุ่นที่ 2 ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่รับนิสิตนักศึกษาจบใหม่พอดี เนื่องจาก FLP รุ่นที่ 1 นั้นจะเป็นการคัดเลือกคนภายในบริษัทต่าง ๆ ในเครือมาเข้าร่วมเท่านั้น

ผมจำได้อย่างแม่นยำในวันแรกที่มีโอกาสเจอคุณธนินท์ และคุณศุภชัย ตัวเป็น ๆ ผมได้ถามคำถามทั้ง 2 ท่านหลายคำถาม แต่คำถามหนึ่งคือ “โครงการนี้แตกต่างจากโครงการของบริษัทอื่นอย่างไร?”

คำตอบที่ผมได้มา คือคำว่า “เวที” ฟังครั้งแรกผมก็ไม่เข้าใจเท่าไรจึงฟังการขยายความ นั้นคือโอกาสในการแสดงฝีมือ ลงมือทำจริง รายงานตรงกับคุณธนินท์และผู้บริหารระดับสูงของเครือ พร้อมรับฟัง Feedback ให้ไปดำเนินการต่อ บนเวทีของสถาบันผู้นำ ทุกๆ 2 สัปดาห์

สิ่งที่คุณธนินท์เน้นในการรายงานมากที่สุดนอกจากสิ่งที่ได้ทำมา นั้นคือ “ปัญหา” เพื่อเป็นการให้ทุกคนในบริษัทได้รับรู้ข้อมูลสำคัญ และสิ่งที่ต้องแก้ไข หลายคนอาจจะกลัวที่จะพูดถึงปัญหา แต่ไม่ใช่สำหรับ “เถ้าแก่น้อย” เพราะเขาไม่ใช่ลูกน้องใคร ดังนั้นจึงได้เปรียบเถ้าแก่น้อยเป็น “ลูกวัวไม่กลัวเสือ” นั้นเอง รายละเอียดในโครงการทั้งหมดที่ผมได้เจอมาคงเล่าในการสรุปครั้งนี้ไม่หมด อาจจะทำให้หลุดประเด็นของการสรุปหนังสือได้ ถ้ามีคนสนใจไว้ผมจะทำสรุปรายละเอียดที่ผ่านมาให้อ่านนะครับ…

________________________________________

ข้อคิดจากประสบการณ์ทำงานใน CP

ความจริงในหนังสือเล่มนี้ เป็นการรวมบทเรียนที่คุณธนินท์ที่เล่าให้ทุก ๆ คนฟังอยู่ตลอดจริง ๆ การได้อ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นการทวนคำสอนของคุณธนินท์ก็ว่าได้
ดังนั้นส่วนนี้ผมจะเล่าข้อคิดเพิ่มเติมจากการทำงานใน CP ในฐานะเถ้าแก่น้อย จากการสังเกตพฤติกรรมและแนวคิดของคุณธนินท์รวมถึงผู้บริหารระดับสูงมาให้ทุกคนได้อ่านกันนะครับ

1. “วินัย” เป็นตัวแปรสำคัญของความสำเร็จ
สิ่งที่ผมทึ่งที่สุดอย่างหนึ่งคือ “วินัยของคุณธนินท์” ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานในการรักษาเวลา ถ้าคุณธนินท์มาสายเพียงนิดเดียวก็จะกล่าวคำขอโทษกับทุกๆ คน การออกกำลังกายว่ายน้ำตอนเช้าทุกวัน การรับทานอาหารที่ตรงเวลามาก คุณธนินท์จะไม่นั่งอยู่นาน ๆ จะต้องมีช่วงลุกขึ้นเดินเพื่อรักษาสภาพร่างกายให้ดี รวมไปถึงการนั่งสมาธิอยู่เสมอเพื่อทำให้สมองสดชื่นไม่ต้องพูดถึงเรื่องการทำงาน คุณธนินท์ยังคงทำงานทุกวัน โดยจะเน้นไปที่การสร้างคนในกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังคงเป็น “ผู้นำที่เป็นแบบอย่าง” ให้กับพนักงานทุกคน

2. ผู้ที่ให้ “เกียรติ” คือผู้ได้รับ “เกียรติ”
คุณธนินท์ให้เกียรติทุกคนจริง ๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กอย่าง “การจำชื่อคน” จะเป็นที่รู้กันดีว่าคุณธนินท์จำชื่อคนได้แม่นมาก และจะเรียก “คนเก่ง” ที่นับถือว่าเป็น “อาจารย์” อยู่เสมอ คุณธนินท์จึงได้รับความรู้ดี ๆ จากคนเก่งอยู่บ่อยครั้ง
ในหลักสูตรเถ้าแก่น้อย คุณธนินท์ก็มักจะให้เด็ก ๆ ในโครงการเวียนไปทานข้าวกับท่านเป็นครั้งคราว ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ หรือในบางครั้งมีการเดินทางไปต่างประเทศก็จะให้เถ้าแก่น้อยติดตามไปเพื่อศึกษาดูงานด้วย ถือว่าเป็นการให้เกียรติคนมาก ๆ แม้ว่าคนนั้นจะอายุน้อยก็ตาม

3. คิดให้ “ใหญ่” มองให้ “ไกล”
อันนี้เป็นเหตุการณ์ตรงที่เจอกับตัวเอง ในครั้งนี้ได้มีโอกาสนำเสนอแผนงานในการสร้างร้านอาหารรูปแบบหนึ่ง หลังจากที่ผมเสนอไป คุณธนินท์ได้ตอบกลับมาว่า “ผู้นำตลาดที่อยู่มาเป็น 30 ปี ยังขยายสาขาได้แค่ 500 สาขา เป้าหมายเราต้องการสาขามากกว่านั้นเราจะทำได้อย่างไร” เราไม่สามารถทำทุกเรื่องได้ เวลาทำอะไรให้มองให้ไกล ถ้ามันไม่สามารถเติบโตได้ในระยะยาวก็อย่าทำเลย…

4. เรียนรู้ “ทีเด็ด” ตลอดเวลา
“ทีเด็ด” เป็นคำพูดติดปากของคุณธนินท์ที่หมายความว่า “จุดแข็ง/ข้อดี/เคล็ดลับ” เวลามองคนให้มอง “ทีเด็ด” ของคน ๆ นั้น ดูว่าเขาเก่งอะไร มีข้อดีตรงไหน

“อย่าเอาจุดอ่อนเขามาเทียบกับจุดแข็งของเรา” แต่ให้มองท่ีจุดแข็งของคนอื่นที่เหนือกว่าเรา มันจะทำให้เราได้เรียนรู้จากคน ๆ นั้นได้มาก และทำให้เราเคารพผู้อื่น อ่อนน้อมถ่อมตน ได้อย่างจริงใจ

ในหนังสือเล่มนี้จะเห็นได้ว่าคุณธนินท์ได้เรียนรู้ “ทีเด็ดของบริษัทต่าง ๆ” ทั่วทุกมุมโลกที่คุณธนินท์ได้ไปพบเจอ แล้วนำข้อดีเหล่านั้นมาปรับใช้กับบริษัท โดยไม่จำกัดตัวเองไม่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว เพราะถ้าคิดเช่นนั้น เราก็จะหยุดเรียนรู้…

5. “ความผิดพลาด” เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าผิดซ้ำ นั้นคือ “ปัญหา”
หลักสูตรเถ้าแก่น้อยที่ผมได้อยู่ เน้นเรื่องของความผิดพลาด คุณธนินท์ต้องการให้คนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่เป็นผ้าขาวยังไม่มีกรอบของความสำเร็จ กล้าคิดกล้าทำ และบอกเสมอว่า “ผิดพลาดไม่เป็นไร เป็นการลองผิดลองถูก แต่เมื่อผิดพลาดต้องรู้ว่าเพราะอะไร แล้วอย่าผิดซ้ำ”

โดยความผิดพลาดทั้งหลายจะถูกนำเสนอบทเวทีที่สถาบันผู้นำเพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้จากความผิดพลาดไปพร้อม ๆ กัน “เก็บเป็นบทเรียน” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำขึ้นอีก

คุณธนินท์ก็มีเรื่องที่ตัดสินใจพลาด และยังพูดจนถึงทุกวันนี้ นั้นคือตอนที่แจ็คหม่าเข้ามาคุยเพื่อระดมเงินไปลงทุนสร้าง Alibaba ในตอนนั้นคุณธนินท์ไม่เข้าใจจริง ๆ มองไม่เห็นภาพว่า E-Commerce คืออะไร จึงไม่ได้ลงทุนไป และได้บอกกับทุกคนว่า “ถ้าผมลงทุนไป…ในตอนนั้นผมคงเป็นมหาเศรษฐีโลกไปแล้ว” ผมนี่อึ้งไปเลย (ตอนนี้ก็เป็นมหาเศรษฐีแล้วนะ)

“คนเรายิ่งทำงานมากก็ยิ่งผิดพลาดมาก คนที่ไม่เคยทำผิดคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย”

6. รู้จักการ “ผนึกกำลัง”
ในช่วงที่ผมเข้าไปอยู่ในบริษัทใหม่ ๆ ผมค่อนข้างแปลกใจที่ภายในบริษัทที่ใหญ่โตขนาดนี้จะมีการแข่งขันสูงมาก จนบางครั้งก็มองว่าต่างคนต่างทำงาน ไม่ค่อยร่วมมือกันมากนัก
แต่ในช่วงหลัง ๆ นอกจากการสร้างคนที่คุณธนินท์เน้นเป็นพิเศษแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือ “การผนึกกำลัง” ภายในบริษัท คุณธนินท์พยายามทลายไซโล จากเดิมคนทำงานกันเป็นท่อน ๆ แล้วส่งต่องานกัน ก็จะรู้ดีแค่ส่วนงานตัวเอง เช่น ผลิตก็รู้แค่ผลิต ฝ่ายขายก็รู้แค่การขาย

แต่ตอนนี้มีการผนึกกำลังกันเป็นทีมซึ่งในทีมก็จะมีทุกฝ่ายอยู่ด้วยกัน เรียกได้ว่าทีมเดียวทำได้ทุกอย่าง เพิ่มความคล่องตัวให้กับบริษัท ได้เรียนรู้งานซึ่งกันและกัน พัฒนาคนให้รู้กว้างมากขึ้น
“ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว”

7. พอใจแค่ “วันเดียว”
“ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” เชื่อว่าชื่อนี้มากจากคำพูดติดปากของคุณธนินท์ที่ว่า “ผมพอใจแค่วันเดียว” ซึ่งผมคิดว่าความหมายของมัน จริง ๆ แล้ว คือ พื้นฐานสำคัญที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก คือ “ความไม่ประมาท”

เมื่อเราไม่ประมาท…เราก็จะไม่หยุดที่จะเรียนรู้…ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง…ทำให้เราดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี…เมื่อเราเจริญรุ่งเรืองเราก็จะคิดไปถึงภัยอันตรายที่มีโอกาสเข้ามาได้

คุณธนินท์เคยเล่าเรื่องนึงที่ผมฟังแล้วจำได้จนถึงทุกวันนี้ นั้นคือ “สิ่งที่อาจทำให้ 7-Eleven ล้มละลาย!” ซึ่งคุณธนินท์ก็ได้พูดอีกครั้งในงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้เช่นกัน
ใช่ครับ 7-Eleven ที่มีกว่า 10,000 สาขานี่แหละครับ ที่คุณธนินท์มองว่ามันอาจจะล้มละลายได้…

ภาพจาก www.cpall.co.th

คุณธนินท์เล่าว่าสิ่งที่อาจจะทำให้ 7-Eleven ล้มละลายได้ นั้นคือ “ธุรกิจ Delivery” ตอนแรกฟังก็ยังไม่เข้าใจ หลังจากนั้นคุณธนินท์ก็ได้อธิบายต่อลองคิดดูสิว่าถ้าธุรกิจ Delivery ต่าง ๆ รับของจาก 7-Eleven ไปให้ลูกค้าถึงบ้าน
นาน ๆ เข้าก็จะมีข้อมูล ว่าลูกค้าย่านนี้ต้องการสินค้าประเภทไหนบ้าง

แล้วถ้า ธุรกิจ Delivery นี้สร้างคลังสินค้าเล็กๆ หลาย ๆ จุด และที่เป็นสินค้าแบบที่ 7-Eleven มีล่ะ คราวนี้ธุรกิจ Delivery ก็ไม่ต้องรับของจาก 7-Eleven แต่สามารถขนส่งของจากคลังของตัวเองไปให้ลูกค้าปลายทางได้โดยตรง
เหมือนตัดตัวกลางทิ้ง หลังจากนั้นก็ไม่จำเป็นที่ต้องมี 7-Eleven อีกต่อไป

“ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”
พรุ่งนี้ทำงานต่อ…
________________________________________

หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้บอกเลยว่าคุ้มค่ามาก ๆ ถ้าใครกำลังตัดสินใจผมก็ขอเชียร์เต็มที่ เพราะมันทำให้เข้าใจแนวความคิดของบุคคลระดับโลกอย่างคุณธนินท์ได้มากขึ้น และคิดว่าทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
ขอบคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น และเป็นเหมือนดั่งอาจารย์ของผมในช่วงเริ่มต้นการทำงาน ขอบคุณพี่ฝน ดร.วรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ หัวหน้าคนแรกในโลกของการทำงานจริงที่ได้ให้โอกาสผมมาตลอด และขอบคุณพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่ได้มีโอกาสร่วมงานกัน คิดถึงเสมอครับ…

FB : Krittamate Pramniya
IG : krittamate