พาณิชย์ ชี้โอกาสข้าวหอมมะลิไทยส่งออกตลาดอิตาลี หลังอิตาลีเร่งปลูกข้าวเพิ่ม แต่ยังไม่พอ แถมข้าวเวียดนาม-เมียนมา ถูกอียูตัดสิทธิ GSP และอินเดียยังห้ามส่งออกข้าว

ข้าว

วันที่ 1 เมษายน 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์มิลาน อิตาลี ถึงสถานการณ์การผลิตและการนำเข้าข้าวของอิตาลี และโอกาสในการขยายตลาดข้าวไทยในอิตาลี ที่ในปี 2567 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ดีตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับสถานการณ์การผลิตข้าวของอิตาลีในปี 2567 เกษตรกรอิตาลีพบว่า จะกลับมาเพาะปลูกข้าวอีกครั้ง หลังจากเผชิญกับวิกฤตสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนและภัยแล้ง แต่ผลผลิตก็ยังไม่มากพอ ที่จะตอบสนองต่อความต้องการบริโภค ทั้งในประเทศและส่งออก

ขณะที่การนำเข้าข้าวมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่มีการนำเข้าจากเวียดนามและเมียนมาลดลง จากการที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับ 2 ประเทศนี้ เพราะไม่เคารพต่อการใช้กฎการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐาน

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ตัวเลขจาก Global Trade Atlas พบว่า อิตาลีนำเข้าข้าวจากทั่วโลก มีมูลค่า 303.29 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.21% โดยไทยถือเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของอิตาลี อันดับ 3 มีมูลค่า 23.62 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.01% รองจากปากีสถาน มูลค่า 113.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 24.69% และอินเดีย มูลค่า 40.76 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 88.51%

โดยนำเข้าข้าวหอมมะลิและข้าวขาวมากที่สุด มูลค่า 20.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 38.64% โดยข้าวหอมมะลิไทย ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคท้องถิ่น ด้วยเม็ดข้าวที่มีความนุ่ม หอม อร่อย แต่ราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับข้าวหอมและข้าวชนิดอื่นจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะข้าวจากเมียนมาและเวียดนาม

“แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยไปอิตาลีในปี 2567 น่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เพราะอียูได้ระงับสิทธิ GSP จากเวียดนามและเมียนมา ทำให้ปี 2566 ทั้ง 2 ประเทศนี้ส่งออกไปอิตาลีลดลง 76.74% และ 76.54% ตามลำดับ และไทยยังได้อานิสงส์จากการงดส่งออกข้าวขาวของอินเดีย ทำให้ปี 2566 ข้าวไทยขยายตัวในตลาดอิตาลีอย่างมาก และคาดว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่องในปี 2567 ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมความพร้อมในการส่งออก แต่ในปี 2568 หากทั้ง 2 ประเทศได้รับสิทธิ GSP อีกครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งต้องจับตาต่อไป”

สำหรับตลาดข้าวไทยในอิตาลี ข้าวที่ได้รับความนิยมมากสุด คือ ข้าวหอมมะลิไทย โดยเป็นที่นิยมของผู้บริโภคโดยทั่วไป โดยเฉพาะชาวเอเชียและชาวต่างชาติ ที่พำนักอาศัยอยู่ในอิตาลี

โดยปี 2566 มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในอิตาลี 5,141,341 คน ในจำนวนนี้ เป็นชาวเอเชีย 1,181,236 คน และชาวแอฟริกา 1,151,433 คน ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่บริโภคข้าว รวมถึงร้านอาหารไทยและร้านอาหารเอเชียที่เปิดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้ข้าวไทยขยายตัวได้ดีในอิตาลี

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ