ผู้เชี่ยวชาญเผย 3 ความเสี่ยง คุกคามความมั่นคงทางการคลังไทย แนะปรับปรุงนโยบายการคลัง-ระบบภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ

นักวิชาการเผย 3 ความเสี่ยง คุกคามความมั่นคงทางการคลังไทย หลังการระบาดของโควิดทำให้ฐานะทางการคลังของไทยแย่ลง เนื่องจากรัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมากและใช้จ่ายเกินดุลเพื่อสนับสนุนผู้คนและเศรษฐกิจ ทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมแนะวิธีลดความเหลื่อมล้ำผ่านการดำเนินนโยบายการคลัง

ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนา Thailand Economic Monitor: Fiscal Policy for a Resilient and Equitable Future ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารโลก (World Bank) ว่า ตามรายงาน Fitch Ratings และ Moody’s ระบุว่าประเทศไทยมีฐานะทางการคลังแย่ลงในช่วงโควิด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และเกิดขึ้นกับทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้คาดหวังว่าไทยจะมีการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการคลัง โดยประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อการกำหนดมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศด้วย

โดย ดร.อธิภัทร ยังเตือนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการบรรลุการรัดเข็มขัดทางการคลังอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

  1. ความท้าทายทางการคลังระยะยาว ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การติดกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งแปลว่าไทยจะไม่สามารถลดรายจ่ายได้มากนัก ทั้งรายจ่ายสวัสดิการ และรายจ่ายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยังมีความจำเป็น
  2. นโยบายภาษีของไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง และแทบไม่มีการขึ้นภาษีเลย โดยส่วนใหญ่ล้วนเป็นการลดภาษีทั้งนั้น
  3. ไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง โดยจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาทำให้คาดการณ์ได้ว่าพรรคการเมืองต้องจัดแคมเปญและให้คำมั่นเกี่ยวกับการลดภาษี แต่แทบไม่มีพรรคการเมืองใดพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับฐานะทางการคลังระยะยาวของประเทศ

 

นโยบายการคลังจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร

เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังสาธารณะจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในงานเดียวกันว่า ประเทศไทยควรต้องทำนโยบายการคลังแบบฉลาดขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การทำนโยบายไปที่กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น (Targeted) การพัฒนาฐานข้อมูล รวมถึงการทำให้การใช้เงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มคามากที่สุด

ขณะที่ ดร.อธิภัทร กล่าวว่า เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ นโยบายรายจ่ายและสวัสดิการของประเทศควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้คน ทั้งเรื่องการศึกษา และสุขภาพ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการทำงานและใช้ชีวิต

นอกจากนี้ ดร.อธิภัทร ยังเสนอว่า ไทยควรปรับปรุงระบบภาษี โดยชี้ว่าระบบภาษีของไทยยังมีพื้นที่ให้สามารถจัดการกับความเหลื่อมล้ำได้มากกว่าปัจจุบันเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยสามารถหักค่าลดหย่อนส่วนตัว และอื่นๆ พร้อมทั้งมองว่าระบบภาษีของไทยยังไม่ก้าวหน้ามากนัก