คนไทยใช้ Food Delivery น้อยลง ไม่สู้ราคาแพง ทั้งค่าอาหาร ค่าส่ง ซ้ำเจออาหารไม่ตรงปก ไม่สมราคาที่จ่าย

ศูนย์วิจัยกสิกรคาดตลาดเดลิเวอรี่ Food Delivery หดตัวปีนี้ คนเปลี่ยนพฤติกรรม ซ้ำปัญหาแก้ไม่ตก ราคาแพง อาหารไม่ตรงปก แนะแพลตฟอร์มมัดใจ Gen Z รักษาลูกค้าด้วยการเพิ่มคุณภาพและใช้เทคโนโลยีมาช่วย

ตลาด Food Delivery ถึงคราวหดตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยบทวิเคราะห์ตลาด Food Delivery มองว่า ในปี 2566 มูลค่าตลาด Food Delivery น่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 0.6% จากปี 2565 ขณะที่ปริมาณการสั่งอาหารน่าจะหดตัวลง 11.3% จากปี 2565

kasikornresearch

โดยกลุ่มตัวอย่าง 44% ยังมีการสั่งอาหาร แต่ความถี่ในการสั่งลดลง เนื่องจากปรับเปลี่ยนมานั่งทานนอกบ้าน ซื้ออาหารกลับไปทานหรือทำเองที่บ้านมากขึ้น รวมถึงไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการสั่งอาหาร แต่กลุ่มตัวอย่างในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันก็มองว่าน่าจะใช้เท่าเดิม (42%) ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มองว่าไม่ใช้บริการเลย คิดเป็น 8% และใช้งานมากขึ้นคิดเป็น 6%

ปัญหาคาราคาซังทำคนกินไม่อยากสั่งอาหารออนไลน์

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการสั่งอาหารมีผลทำให้กลุ่มตัวอย่างสั่งลดลงหรือหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารในระยะข้างหน้า อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาอาหารและค่าขนส่ง รวมไปถึงประเด็นเฉพาะที่เกิดจากการสั่งอาหาร เช่น ปัญหาอาหารที่สั่งแล้วไม่ตรงปกจากร้านอาหาร ปริมาณอาหารที่ได้รับรู้สึกไม่คุ้มกับค่าเงินที่เสียไป ปัญหาความล่าช้าในการส่งอาหาร ปัญหาความผิดพลาดและอาหารเสียหาย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ส่ง

นอกจากนี้หากค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารไม่ว่าจะเป็นราคาอาหาร หรือค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้นก็มีผลต่อการใช้บริการสั่งอาหารจัดส่งยังที่พักเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดข้ึนสะสมมานาน ผู้ให้บริการแพลตฟอรม์ออนไลน์คงต้องทำงานร่วมกับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ใช้บริการ

เปิดการบ้านแพลตฟอร์ม Food Delivery คนกินต้องการอะไร ?

ศูนย์วิจัยกสิกรยังเผยว่าผู้ใช้งานแอป Food Delivery ส่วนใหญ่เป็น กลุ่ม Gen Y (58%) รองลงมาเป็นกลุ่ม Gen X (28%) ซึ่งเป็นกลุ่มในวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ และส่วนใหญ่ใช้งานมากกว่า 1 แอปขึ้นไป เพื่อเปรียบเทียบราคา ตามโปรโมชั่นหรือสิทธิพิเศษ

ขณะที่กลุ่มผู้บริโภค New generation หรือ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาและวัยเริ่มทำงาน แม้จากผลสำรวจสะท้อนว่ามีสัดส่วนผู้ใช้งานน้อยกว่าแต่กลับพบว่ามีค่าเฉลี่ยความถี่ในการใช้งานสูงกว่ากลุ่มอื่น สะท้อนถึงพฤติกรรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฯ น่าจะให้ความสำคัญในการกระตุ้นตลาดในกลุ่มนี้มากขึ้น

โดยกลุ่มตัวอย่างต้องการให้แพลตฟอร์มฯ นำเสนอบริการที่ครอบคลุมความต้องการ ในชีวิตประจำวัน และสามารถตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายได้ในแอปพลิเคชั้่นเดียว ควรมีร้านอาหารที่มีคุณภาพและทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีระบบการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน และสามารถนำเสนอร้านอาหาร/โปรโมชั่นได้ตรงความต้องการมากที่สุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น และพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่มีความหลากหลาย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้มีความเฉพาะมากข้ึน เช่น การใช้ฐานข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฯ ร่วมกับพันธมิตรร้านอาหาร ทำการตลาดเจาะกลุ่มตามไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่แตกต่างกัน

แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารคงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการและตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มที่ย่อยลงไปอีก (Sub- Segment)  เช่น ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอ Customized loyalty program หรือโปรโมชั่นที่ดึงดูด เพื่อรักษายอดการใช้บริการของกลุ่ม Gen Y-X และเพิ่มรายได้จากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่าง Gen Z ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุน

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ : kasikornresearch 

 

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกร