“ธรรมาภิบาลเป็นหลักสำคัญแรกที่จะทำให้ทุกคนเชื่อมั่น ไว้ใจในองค์กร”

โดย ศาสตราจารย์พิเศษหิรัญ รดีศรี

ตลาดหลักทรัพย์ ให้ความหมายของ ธรรมาภิบาล ว่าคือ หลักการกำกับดูแลกิจการ ที่เรียกกันย่อๆ ว่า CG (Good Corporate Governance) ซึ่งหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่นำมาเป็นแนวทางปฏิบัตินั้น ต้องอาศัยหลักธรรมาภิบาลที่ดีที่สากลยอมรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าบริษัทได้ยึดหลักความยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในการกำกับดูแลโดยคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะเป็นผู้ถือหุ้นก็ดี เจ้าหนี้ก็ดี นักลงทุนก็ดี ล้วนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

ประสบการณ์จากอดีตพบว่า บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะสามารถอยู่ได้เป็นร้อยปี เหตุผลก็เพราะบริษัทเหล่านี้จะต้องบริหารอย่างมืออาชีพ ยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบ เพราะได้ใช้เงินของมหาชนมาทำธุรกิจ มีนักลงทุน ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ยังรวมถึงนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนของต่างประเทศ ซึ่งไม่เคยมาเมืองไทยเลยนะครับ

แต่เพราะเขามีความเชื่อมั่นว่าบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นี้ได้ยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ กล้าเข้ามาลงทุนกับบริษัทในประเทศไทย ถ้าเขามีความเชื่อมั่นในบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดีก็จะเกิดมูลค่าเพิ่ม

ทีนี้เหตุที่ว่าทำไมถึงยึดหลักธรรมาภิบาลแล้วจึงทำให้เกิดความยั่งยืน นั่นหมายถึงว่า บริษัทนั้นจะต้องเริ่มจากการจัดโครงสร้างขององค์กรให้มีความโปร่งใส ต้องมีความยุติธรรมต่อผู้ถือหุ้น ต่อกรรมการ ต่อพนักงาน ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้บริหารไม่มีการเอาเปรียบ บุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนสามารถที่จะตรวจสอบได้ด้วยว่าการบริหารจัดการเป็นไปด้วยความโปร่งใสยุติธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายถึงว่า องค์กรได้รับความไว้วางใจ ทำให้บริษัทดำเนินกิจการไปแบบถูกต้อง

“ธรรมาภิบาล หรือหลักการกำกับดูแลกิจการ เป็นหลักที่เข้ามาช่วยสร้างความมั่นใจให้บริษัท เป็นแนวปฏิบัติ วางไกด์ไลน์ให้ผู้บริหารของบริษัทมหาชนเหล่านี้นำไปดำเนินการ หลักปฏิบัติเหล่านี้ทำให้เราทำงานแบบมืออาชีพ ยุติธรรม โปร่งใส ไม่เอาเปรียบใคร และตั้งใจที่จะทำให้มีความเจริญเติบโต อันนี้สำคัญมาก ต้องมีความคิดแบบมืออาชีพ วางแผน คิดว่าเราจะเจริญเติบโตทางไหนอย่างไร เมื่อมีความเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ มันก็มีความยั่งยืน เป็นที่สนใจของนักลงทุน”

เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เผยแพร่หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี 15 ข้อ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2549 กระทั่งในปี 2562 สำนักงาน กลต. จึงได้พัฒนาหลักการ กํากับดูแลกิจการที่ดีฉบับใหม่ ประกอบด้วย 8 หลักปฏิบัติ ซึ่งใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ในการนี้อดีตประธานที่ปรึกษา ศูนย์พัฒนาการกำกับดูเเลกิจการที่ดี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้มีส่วนร่วมวางโครงสร้างมาตั้งแต่ต้นยืนยันว่า เหล่าบริษัทจดทะเบียนในไทยให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี

เมื่อเราสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปใช้ แน่นอนว่าตอนแรกๆ จะมีบริษัทส่วนใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจ แล้วก็ยังไม่มั่นใจที่จะนำไปปฏิบัติ อันนี้เราดูได้จากผลการให้คะแนน โดยสถาบัน IOD (สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 เป็นเวลา 2 ปี หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในเอเซีย หรือที่เรียกว่าต้มยำกุ้ง เมื่อพ.ศ. 2540)

ปัจจุบัน IOD พัฒนามากว่า 20 ปีแล้ว และ IOD ก็จะทำหน้าที่ประเมินว่าในแต่ละรอบปีบริษัทใดได้นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปใช้ ได้ผลเป็นระดับไหน โดยให้คะแนนเป็นดาว 1-5 ระดับ ซึ่งเราจะเห็นว่าคะแนนเฉลี่ยของผลการประเมินหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพิ่มขึ้นโดยตลอด

ขณะที่กลุ่มบริษัทที่ต้องการเจริญเติบโต พวกนี้จะสามารถนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปปฏิบัติได้เต็ม 5 ดาว ติดต่อกัน โดยส่วนรวมก็มองว่ามีความพึงพอใจที่บริษัทจดทะเบียนของไทยเราได้เข้าใจและนำไปปฏิบัติ ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบจากในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน จะเห็นว่าประเทศไทยเรามีบริษัทที่ได้คะแนน 5 ดาว หรือได้คะแนนดี มากกว่าบริษัทในกลุ่มประเทศอาเซียนเสียด้วยซ้ำไป แสดงว่าเราพัฒนามาได้ด้วยดีครับ

ถ้ามองจากช่วงเวลาตั้งแต่ปีที่ 4-5 ของการตั้ง IOD มาก็เริ่มเห็นชัดแล้วว่ามันดีขึ้น นั่นแสดงว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เห็นความสำคัญของการมีธรรมาภิบาลที่ดี  

Responsibility VS Accountability ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

แนวคิดพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่เป็นแนวทางให้ทุกองค์กรได้นำไปปรับใช้นั้น ยังประกอบด้วยอีกสองคำสำคัญ ได้แก่

Responsibility ความรับผิดชอบในหน้าที่ ซึ่งในที่นี้หมายถึง หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามบทบาทที่ถูกกำหนดไว้

Accountability ความรับผิดชอบต่อผลงานที่ครอบคลุมถึงความรับผิดชอบต่อการกระทำและการตัดสินใจใดๆ ที่อธิบายและชี้แจงได้

ความจริงสองคำนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถือเป็นหนึ่งในคอนเซ็ปต์ของการที่จะสร้างธรรมาภิบาลเลย โดยเฉพาะคำว่า Accountability เป็นคำที่ในภาษาไทยไม่มีคำแปลที่ยอมรับกัน ไม่เหมือนคำว่า Responsibility ที่เราทุกคนจะเข้าใจหมดว่าคือ หน้าที่รับผิดชอบ

ส่วนความหมายของ Accountability ก็คือความรับผิดชอบในผลงาน หรือการกระทำของตน หมายรวมถึงจริยธรรมควบคู่ไปด้วย ระหว่างที่ปฏิบัติงานนี่ต้องคำนึงถึงตัวจริยธรรมด้วย ถ้าหากตัวเองขาดจริยธรรม หรือไปข้องเกี่ยวกับสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ เราจะเห็นในหลายประเทศ เมื่อสังคมนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แล้วเขาทำสิ่งผิดพลาดที่ร้ายแรง ทำเรื่องที่ถือว่าเป็นการผิดจริยธรรม เขาก็ต้องลาออก เพื่อรักษาภาพลักษณ์บริษัท อันนี้เป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับผลงานด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากในองค์กรเรามีบุคคลที่รับผิดชอบในผลงานและมีจริยธรรมแล้ว องค์กรก็จะประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความสามารถ มีคุณภาพ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น ปัจจุบันวงการธุรกิจเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้นนะครับ

Responsibility กับ Accountability  ต้องไปด้วยกันถ้าจะให้องค์กรได้รับความยุติธรรม ยั่งยืนได้ ถ้าเปรียบเทียบ Responsibility ก็เหมือน Input ในเมื่อเราเข้าไปรับหน้าที่ เขาบอกให้เราต้องทำอย่างนี้ๆ ส่วน Accountability เป็น Output เมื่อเราทำไปตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หรือตามที่กำหนดผลงานไว้

แต่เมื่อทำแล้วไม่เป็นผลสำเร็จ มีข้อบกพร่อง ความรับผิดชอบต่อผลงานไม่สมบูรณ์ เราก็ต้องยอมรับผิด ถ้ากรณีเป็นพนักงาน ผมไม่ได้เงินเดือนขึ้น เพราะผลเป็นอย่างนี้ เห็นชัด หรือถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูง ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เอาคนที่มีความสามารถมารับแทน หรือในระหว่างที่ทำงานไป มองว่ามีอะไรที่ผิดจริยธรรม ต้องยอมรับด้วยการขอลาออกไป หรือเปลี่ยนหน้าที่ เพื่อให้องค์กรไม่เสียภาพลักษณ์ ซึ่งจะมีผลกระทบมากทีเดียวต่อมูลค่าของบริษัท เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นของคู่กัน Input กับ Output ที่ต้องไปด้วยกัน

บทบาทด้านบริหารความเสี่ยงของ “ผู้นำ” องค์กรในยุคที่โลกต้องเผชิญโรคระบาดโควิด-19

เชื่อว่าไม่มีใครคาดคิดว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบรุนแรง แต่กลายเป็นเหตุการณ์ที่สามารถหยุดการดำเนินการทำธุรกิจไปได้ทั่วโลกเลย ต้องยอมรับว่าไม่ใช่แค่กระทบโดยตรงกับบริษัท แต่ส่งผลกระทบกับทั้งประเทศและทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเลย

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จำเป็นจะต้องประเมินความเสี่ยงทันทีว่าจะเป็นระดับใด ซึ่งการบริหารความเสี่ยงในเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าถ้าเกิดเหตุขึ้นมาอย่างนี้จะมากระทบธุรกิจขนาดไหน ผลการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร เงินทุนหมุนเวียนจะเพียงพอหรือไม่ รวมถึงจำนวนพนักงาน เป็นงานที่ซีอีโอจะต้องคิดหนัก แล้วจะแก้ไขได้ขนาดไหนเป็นเรื่องที่ต้องดูด้วยเหมือนกันว่าเป็นวิกฤติที่ทำให้เกิดโอกาสหรือเปล่า อย่างบริษัทที่หันมาผลิตหน้ากากอนามัย บริษัทที่มีความคล่องตัว ก็จะสามารถจะปรับอุตสาหกรรมของเขาจากที่เคยทำอย่างหนึ่งมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ผลิตโปรดักต์ตามที่ตลาดต้องการ พวกนี้ถือว่าดีนะครับ

สรุปก็คือ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นความเสี่ยงสูงที่บริษัทต้องนำมาพิจารณา เพียงแต่ว่าใครจะประเมินผลกระทบของความเสี่ยงมากน้อย หรือจะหาวิธีมาจัดการยังไงให้มันบรรเทาลง ก็ต้องอาศัยผู้นำขององค์กรที่มีประสบการณ์และความสามารถมากมายเข้ามาช่วย ในอนาคตจะมีเหตุการณ์ระดับส่งผลกระทบแบบทั่วโลกอย่างนี้เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ แต่ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญอันหนึ่งนะครับที่เราจะต้องคำนึงถึงด้วย

 

Corporate Culture & Human Capital Management เทรนด์องค์กรที่โลกต้องจับตามอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างให้เกิดธรรมาภิบาลนั้นเป็นสิ่งที่องค์กรใหญ่ต่างให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และเรื่องหนึ่งที่ถูกพุ่งเป้าให้ความสนใจจนเป็นหนึ่งในเทรนด์ระดับโลกเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ก็คือ วัฒนธรรมองค์กรและการบริหารจัดการทุนมนุษย์ (Corporate Culture & Human Capital Management) ที่เน้นการให้คุณค่าของคนทำงาน มากกว่าตัวกระบวนการหรือหน้าที่ด้านบุคคล เพราะหากมีระบบการจัดการบุคคลที่ดีก็จะสามารถทำให้องค์กรมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

การพัฒนาหลักการกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาล หากจะได้รับความสำเร็จ ตามหลักต้องมาจาก Tone on the Top คือ ต้องมาจากผู้บริหารระดับสูง หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการนั่นเอง ถ้าระดับ Tone on the Top ขาดความสนใจแล้วจะพัฒนาต่อได้ยาก

เมื่อระดับสูงให้ความสนใจแล้ว เรื่องสำคัญคือ จะต้องทำให้เกิดการยอมรับ ก็ต้องอาศัยการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ถ้าเราสามารถทำได้ก็จะนำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล ให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจแล้วก็นำไปปฏิบัติ ถึงจะได้รับความสำเร็จอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้การที่จะให้ลักษณะคนในองค์กรและการจะทำได้ดีขึ้นหรือได้รับความสำเร็จจริงๆ ในเรื่องการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร แน่นอนมันก็ต้องไปเกี่ยวกับ Human Resource Management หรือ Human Capital Resource เพราะพนักงานจะมีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยให้เรื่องของการพัฒนาธรรมาภิบาลให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กรได้ดี หากทำได้ก็จะได้ผลดีอย่างมาก”

มุมมองที่มีต่อแนวทางการบริหาร ด้านธรรมาภิบาลของเครือซีพี

ช่วงระยะเวลาสองปีที่ผมเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในคณะที่ปรึกษาพัฒนาบรรษัทภิบาลของเครือซีพี เพื่อร่วมวางหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นโอกาสทำให้มองเห็นแนวโน้มความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายของเครือฯ ที่จะเป็นบริษัทซึ่งบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาลที่ดี

ผมก็ถือว่าได้รับเกียรติจากท่านประธานกลุ่มซีพีได้แต่งตั้งให้ผมอยู่ในคณะที่ปรึกษาในการที่จะปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือว่าหลักธรรมาภิบาล ซึ่งในตอนนั้นเครือฯมี เป้าหมายว่า ควรจะพิจารณาวางหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไว้เป็นของกลุ่ม เพื่อให้บริษัทในเครือฯ ทั้งหมด ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศนำไปถือเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารงาน ซึ่งในคณะที่ปรึกษา ก็ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ มีทั้งจากไทย มีต่างประเทศมาจากฮ่องกง อังกฤษ เยอรมนี

ต้องชื่นชมว่าเครือฯ มีวิสัยทัศน์ที่ดี เพื่อให้มั่นใจ และต้องการได้เห็นความหลากหลายของความเห็นของในแต่ละภาคส่วนของโลก จึงนำหลายประเทศมาร่วมให้ความเห็น เพื่อวางแนวปฏิบัติ และยังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีความชำนาญด้านวางแนวหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมารับหน้าที่ร่างโครงสร้าง เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ

รวมทั้งสร้างวิธีการที่จะถ่ายทอดอบรมให้แก่พนักงาน จากนั้นมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อที่จะดูแลพัฒนาและจัดอบรม เพราะจำเป็นต้องมีการอบรมพนักงานทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นการจัดทำให้สำเร็จครบวงจร เกิดเป็นผลเพื่อที่จะนำไปปฏิบัติได้จริง

ปัจจุบันหน่วยงานนี้ก็ได้ดำเนินการไปเป็นรูปธรรม ได้อบรมเผยแพร่ตามนโยบายต่อมา เพื่อให้เกิดผลจริง โดยเฉพาะเราก็ต้องยอมรับว่า กลุ่มซีพีทำธุรกิจซึ่งไปเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมหลายกลุ่ม เพราะฉะนั้นความสนใจในเรื่องธรรมาภิบาลก็จะช่วยองค์กรได้มาก จะสร้างความเข้าใจแก่สังคมที่เข้าไปเกี่ยวข้อง จากภาพที่ผมได้เห็นเอง พูดได้จากประสบการณ์ตนเอง รู้สึกชื่นชมว่าผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ แล้วก็มีความตั้งใจที่ดี

‘ธรรมาภิบาลที่ดี’ หัวใจสู่ความยั่งยืนขององค์กร

ธรรมาภิบาลเป็นหัวใจที่สำคัญในการที่จะพัฒนาและนำไปสู่ความยั่งยืนของบริษัท ด้วยเหตุนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงาน กลต. จึงได้ลงทุนพัฒนาปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการ พัฒนาให้ดีขึ้น เพราะเรายังมีความต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศทั่วโลกให้มาลงทุนในตลาดทุนไทย ซึ่งบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทที่ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็เหมือนสินค้าของตลาด การที่จะให้เขามาลงทุนได้ เขาต้องมีความเชื่อมั่นในสินค้าตัวนั้นว่า มีคุณภาพดี คงทน ไม่ใช่ว่าเขามาซื้อไปแล้วไม่กี่วันก็เจ๊ง หรือซื้อไปแล้วคุณภาพไม่ดี ถูกหลอก ขาดทุน

ทั้งนี้ สิ่งที่จะบ่งบอกว่าสินค้าตัวนี้มีคุณภาพดี คงทน ก็คือหลักการกำกับดูแลกิจการหรือหลักธรรมาภิบาลที่จะเป็นตัวชี้วัดได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเรานำมาปรับปรุงพัฒนาขึ้นจากองค์กรระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่เชื่อถือ ทำให้นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเกิดความมั่นใจ สบายใจได้

และเมื่อมีคนมาลงทุนในบริษัทที่มีหลักธรรมาภิบาล ก็หมายความว่าบริษัทเหล่านี้จะมีความเจริญเติบโต เมื่อมันเติบโต ก็หมายถึงมีความยั่งยืนไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นหลักธรรมาภิบาลจึงเป็นหัวใจหรือหลักสำคัญอันแรกที่จะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่น ไว้ใจบริษัทเหล่านี้ได้ แล้วก็เข้ามาติดต่อสัมพันธ์ลงทุน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับ เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้หลักธรรมาภิบาลอย่างเดียวที่จะสร้างความมั่นใจให้เขาได้ ไม่พอเสียแล้วในปัจจุบันนี้ สิ่งเหล่านี้มันมีผลกระทบในโลกที่มันเปลี่ยนแปลง ทั้ง Climate Change ทั้งสังคมก็มีความแตกต่าง

แม้ว่าธุรกิจจะมีหลักธรรมภิบาล แต่ถ้าสังคมแย่ เราจะอยู่ได้จริงหรือเปล่า ถ้าสภาวะแวดล้อม หรือสิ่งแวดล้อมแย่ ก็กระทบกับบริษัทด้วยเหมือนกัน

ในระดับสากลเขามองแล้วว่าการที่องค์กรจะอยู่ยั่งยืนได้ ไม่ใช่แค่มี CG ดีอย่างเดียว ยังต้องคำนึงถึงสังคม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม Social & Environment ด้วย จึงมีคำย่อ ESG : Environment, Social และ Governance ต้องมี 3 อย่างนี้ไปด้วยกัน นั่นแหละถึงจะยั่งยืนแท้จริง

แต่ในมุมมองของผมอยากจะเพิ่มอีกอันหนึ่ง เห็นชัดว่า 2-3 ปีมานี้ เรามองดูแต่ Environment, Social, Governance แต่เราอย่าเผลอ ต้องดูเทคโนโลยีด้วย เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้มันดิสรัปต์ให้ธุรกิจเราพังได้ ถ้าไม่ทันระวังก็เสร็จเลย ความยั่งยืนก็แย่เลย เพราะฉะนั้นผมอยากจะขอเพิ่มเข้าไปว่า หลักธรรมาภิบาลที่ดีต้องคำนึงถึงทั้ง 4 อย่างนี้ ได้แก่ Social, Environment, Governance และ Technology ชี้ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง

ศาสตราจารย์พิเศษหิรัญ รดีศรี ผู้มีประสบการณ์คลุกคลีกับการวางโครงสร้างด้านหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ร่วมวางรากฐาน พัฒนาแนวทาง และส่งเสริมให้มีการนำแนวปฏิบัติหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในองค์กรไปใช้ ขณะเดียวกันในอดีตยังเคยดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษา ศูนย์พัฒนาการกำกับดูเเลกิจการที่ดี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือที่รู้จักในชื่อย่อ IOD องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของกรรมการ และส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในประเทศไทย

ขณะที่วันนี้ศาสตราจารย์พิเศษหิรัญ หรืออาจารย์หิรัญ ในวัย 92 ปี ก็ยังคงปฏิบัติภารกิจด้วยความแข็งแรง กระฉับกระเฉง ในตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะกรรมการทดสอบผู้สอบบัญชีภาษีอากร กรมสรรพากร พร้อมด้วยตำแหน่งประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ. ดุสิตธานี และบมจ. นวกิจประกันภัย

ที่มา :  วารสารบัวบาน Vol. 6 เดือนมีนาคม 2564