Diversity and Inclusion… ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน อีกประเด็นสำคัญของโลกใบนี้


ทุกการดำเนินธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับ “คน” และการดำเนินงานนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อ “คน” ทั้งในเชิงบวกและลบ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ปัจจุบันมีความพยายามในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

ปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน หรือ Diversity and Inclusion ถือเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญ เหตุผลก็เป็นเพราะในการดำเนินธุรกิจนั้น จำเป็นต้องมีคนจำนวนมากมาปฏิบัติงานอยู่ร่วมกัน และเมื่อมีคนจำนวนมาก สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ ความหลากหลายของแต่ละคน คำถามต่อไป คือ จะอยู่ร่วมกันอย่างไร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมกันทั้งกับองค์กรและตัวพนักงานเอง

สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มีผู้คนกว่า 300,000 คนทั่วโลก เรามีแนวคิดหรือแนวทางในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Diversity and Inclusion อย่างไร CG Voices ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มาเล่าถึงมุมมองและแนวทางการดำเนินการด้าน Diversity and Inclusion ของเครือซีพีไว้อย่างน่าสนใจ

มุมมองของเครือซีพีกับ Diversity and Inclusion

คุณนพปฎล เดชอุดม เกริ่นนำให้ฟังว่า Diversity and Inclusion ถือเป็นเรื่องหลักที่ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า โดยเล่าว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นบุคคลแรกที่จุดประกายให้ผมเห็นความสำคัญของประเด็น Diversity and Inclusion หรือ ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน ท่านเคยถามผมในที่ประชุมว่า ทำไม 100 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาจึงเจริญที่สุดในโลก และเป็นมหาอำนาจของโลกได้ คำตอบ คือ เป็นเพราะสหรัฐอเมริกามีการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย โดยมีคนจากยุโรปที่ยากจน ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในอเมริกา ทำให้มีคนเก่งๆ ที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ ทำให้ได้ไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งสร้าง synergy ให้ประเทศได้มหาศาล

นอกจากนี้ คุณนพปฎล ได้ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ สมัยก่อนก็ไม่ได้เจริญเท่ากรุงเทพฯ แต่สิงคโปร์ใช้วิธีเดียวกับสหรัฐอเมริกา คือ วิธีดึงคนจากหลายประเทศมาอยู่รวมกัน มีการวางกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค คนของเขา 1 ใน 3 มาจากทั่วโลก ทำให้วันนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศอันดับต้น ๆ ในหลายด้านเมื่อเทียบกับทั่วโลก เช่น มีมหาวิทยาลัยที่ติด 50 อันดับแรกของโลก เป็นต้น

สำหรับ “เครือซีพี” ทำไมต้องถึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็เพราะหนึ่งในคุณค่าที่เครือซีพีต้องการจะมีและพยายามส่งเสริมและสนับสนุนมาโดยตลอด คือ “นวัตกรรม” ซึ่งนวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้จากความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางด้านอายุ เชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ หรือด้านอื่น ๆ

“22 ประเทศที่เครือซีพีเข้าไปทำธุรกิจ มีบุคลากรสัญชาติต่าง ๆ จากทั่วโลกประมาณ 50 – 60 ประเทศ เราพยายามปรับกระบวนการทำงานให้บุคลากรเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อดึงเอาไอเดียจากความหลากหลายแตกต่างนี้มาผนึกกำลังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับเครือฯ เราจึงเชื่อว่า Diversity and Inclusion มีส่วนช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ”

นอกจากนี้เครือซีพีตระหนักดีว่าปัจจุบันความกล้าในการแสดงออกถึงตัวตนของแต่ละคนมีมากขึ้น รวมถึงความคาดหวังต่าง ๆ ด้วย ประกอบกับโลกมีความเชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยี ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน จึงเริ่มเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีความคาดหวังในการดำเนินการเรื่องนี้จากภาคธุรกิจในทั่วโลก เครือซีพีจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

เพศสภาพ…หนึ่งในความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน

เครือซีพีดำเนินธุรกิจมายาวนานถึง 100 ปี “คน” ถือเป็นทรัพยากรที่เครือซีพีให้ความสำคัญเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่อง “เพศสภาพ” เนื่องจากไม่ใช่หัวข้อในการพูดคุยตามปกติ เกี่ยวกับประเด็นนี้ คุณนพปฎล เล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครือซีพีได้นำเรื่องนี้มาหารือกัน และได้ให้ความสำคัญจนพัฒนาไปถึงการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีด้านความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันของเครือซีพี

“ช่วงแรก ๆ ที่ได้ยินเรื่อง Diversity and Inclusion อาจรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกใหม่ และ uncomfortable ในการพูดคุย แต่ด้วยวันนี้สภาพสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยนไป และคนมีการแสดงออกอย่างชัดเจนมากขึ้น เครือฯ จึงคิดว่า ทำไมไม่ใช้ความแตกต่างนี้ให้เกิดคุณค่า เครือฯ จึงเริ่มจากการจัดโฟกัสกรุ๊ปกับทุกกลุ่ม นำผลที่ได้ (Feedback) มากำหนดนโยบายของเครือซีพีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงานบุคคลให้มีความเหมาะสมตั้งแต่การเริ่มต้นสรรหา การดูแลระหว่างการเป็นพนักงาน จนกระทั่งพนักงานลาออกจากงาน”

การทำโฟกัสกรุ๊ปเรื่องเพศสภาพ ทำให้ทราบประเด็นที่ไม่เคยรู้มาก่อนหลายประเด็น และทำให้เข้าใจว่า มีประเด็นใดที่ต้องปรับปรุง ทำให้มองเห็นถึงปัญหา สามารถนำมาแก้ไข และเผยแพร่ไปยังบริษัทในเครือได้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ เพื่อสร้างให้เป็นวัฒนธรรม

คุณนพปฎลเน้นย้ำว่า “การออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ต้องปฏิบัติต่อทุกคนตามสิทธิ ตามคุณค่าและความสามารถที่เขาให้กับส่วนรวม ทั้งการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศสภาพใดก็ตาม”

“เปิดใจ” น้อมรับความคิดต่างและเริ่มต้นพัฒนาจากตัวเอง

ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการให้ Diversity and Inclusion เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องทำสองอย่าง คือ “Push และ Pull” เมื่อออกนโยบายแล้ว ต้องมีการติดตามดูแล หากไม่ทำตาม ก็ต้องลงโทษ เมื่อมีการปฏิบัติตาม ควรให้กำลังใจ พร้อมอธิบายเหตุผล วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเริ่มต้นจากตัวเราเอง คุณนพปฎลเชื่อว่า เราอยู่ในโลกใบเดียวกัน หายใจอากาศเดียวกัน ทุกคนในโลกมีความต้องการ 2 อย่างที่เหมือนกัน คือ อยากเป็นคนดี อยากทำในสิ่งที่ถูก เพราะฉะนั้นพื้นฐานของทุกคนไม่มีใครอยากชั่ว ทุกคนมีความดี ความเก่ง และเขาก็มีความไม่ดีและไม่เก่ง นี่คือเรื่องจริง ทำไมเราไม่นำเอาความดี ความเก่งของคนอื่นมาพิจารณาบ้าง ถ้าเราเชื่อตรงนี้ ใจเราจะเปิดกว้าง เราถึงจะยอมรับในความแตกต่างได้

คุณนพปฎลได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า Diversity and Inclusion เป็นนามธรรม ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร แม้จะเข้าใจว่า ต้องทำ แต่ง่ายที่สุด คือ ให้เริ่มจากตัวเอง ถ้าเรายังหาความผิดในใจตัวเองไม่ได้ เราก็ไม่สามารถปรับปรุงตัวเองได้ หากเราคิดว่า เราดี เราถูก เราก็จะอยู่ที่เดิม ไม่มีการปรับตัว ซึ่งจะทำให้องค์กรไม่สามารถปรับตัวได้ตามไปด้วย องค์กรก็จะไม่เจริญ ดังนั้นแทนที่ทุกคนจะคอยหาความผิดจากคนอื่น และบ่นว่า ทำไมคนอื่นไม่เปลี่ยน เราควรจะมานั่งหาความผิดในใจของเรา ควรคิดว่า อะไรเป็นข้อด้อยที่เราพัฒนาได้ ถ้าทุกคนคิดได้แบบนี้ เครือซีพีของเราจะเป็นผู้นำในภาคธุรกิจได้อย่างยั่งยืน”

ที่มา วารสาร CG Voice
อ่านเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.wearecp.com/cg-voice-magazine-02-diversity2020/