ธุรกิจตั้งใหม่ใน ‘อีอีซี’ ฝ่าโควิด 9 เดือนจดทะเบียนโต 4.1%  

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่การลงทุนสำคัญของประเทศครอบคลุม จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง โดยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีการขยายธุรกิจทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการและภาคค้าส่งค้าปลีก หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ชะลอตัวจะเป็นอีกปัจจัยที่จะสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในระยะต่อจากนี้

กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า มีการตั้งธุรกิจใหม่ 5,081 ราย ทุนจดทะเบียน 14,837 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2563 ที่มี 4,879 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.14% ในขณะที่จำนวนทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 14,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.38%

คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การเพิ่มของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่และนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ใน 3 ไตรมาส ปี 2564 ในอีอีซีสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการจดทะเบียนนิติบุคคลทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม นโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศที่เพียงพอจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นที่ดีในไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบธุรกิจควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องเพราะจะมีผลต่อปัจจัยการดำเนินธุรกิจ

จากข้อมูลพบว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

    ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 645 ราย เพิ่มขึ้น 12.69% ทุนจดทะเบียน 2,647 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.84%

    ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 465 ราย เพิ่มขึ้น 9.15% ทุนจดทะเบียน 1,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.36%

    ธุรกิจขนส่ง ขนถ่ายสินค้ารวมถึง ผู้โดยสาร 214 ราย เพิ่มขึ้น 4.21% ทุนจดทะเบียน 270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.82%

ในขณะที่จำนวนนิติบุคคลคงอยู่ในอีอีซี ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 มีจำนวน 75,155 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1.50 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

ชลบุรี 54,394 ราย คิดเป็นสัดส่วน 72.38%

     ระยอง 14,492 ราย คิดเป็นสัดส่วน 19.28%

     ฉะเชิงเทรา 6,269 ราย คิดเป็น 8.34%

สัดส่วนของประเภทธุรกิจการลงทุน

    ธุรกิจบริการ สัดส่วน 60.36%

   การขายส่งขายปลีก สัดส่วน 24.57%

    การผลิต สัดส่วน 15.07%

ส่วนการลงทุนของต่างชาติใน นิติบุคคลไทยที่จัดตั้งในไทยสะสม มีมูลค่าทั้งสิ้น 822,634 ล้านบาท คิดเป็น 54.49% ของทุนทั้งหมด แบ่งเป็น

“ญี่ปุ่น” มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 46.61% มูลค่าการลงทุน 383,438 ล้านบาท โดย นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจ ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นสำหรับ ยานยนต์ รองลงมาเป็นธุรกิจผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และธุรกิจ ผลิตยางล้อและยางในมูลค่าการลงทุน

รองลงมา คือ จีน สัดส่วน 12.41% มูลค่าการลงทุน 102,108 ล้านบาท สิงคโปร์ มีสัดส่วนคิดเป็น 5.53% มูลค่าการลงทุน 45,506 ล้านบาท ฮ่องกง สัดส่วน 3.98% มูลค่าการลงทุน 32,708 ล้านบาท ไต้หวัน สัดส่วน 3.04% มูลค่าการลงทุน 25,046 ล้านบาท และกลุ่มประเทศอื่น ๆ สัดส่วน 28.43% มูลค่าการลงทุน 233,826 ล้านบาท

ส่วนพื้นที่การลงทุนพบว่า ระยอง เป็นจังหวัดที่มีการลงทุนจากต่างชาติสูงสุดคิดเป็นสัดส่วน 52.55% มูลค่า 432,314 ล้านบาท รองลงมา คือ ชลบุรี สัดส่วน 37.62% มูลค่าการลงทุน 309,459 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา สัดส่วน 9.83% มูลค่า การลงทุน 80,861 ล้านบาท

คุณฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า   เชื่อว่า ไทยจะยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 จะเห็นการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนที่มีปัญหาด้านโลจิสติกส์จากการกระจุกตัวของฐานการผลิต บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีนได้ย้ายฐานการผลิตและมองประเทศไทยเป็นอีกที่ที่น่ามาลงทุน ซึ่งถือเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้มีการขยายตัวการลงทุน

คุณสุรัช พัฒนวงศ์ยืนยง ประธาน เจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมยังมีปัจจัยบวก จากโอกาสที่นักลงทุนจีนกำลัง ขยายฐานการผลิตและพุ่งเป้ามาที่อาเซียนตามนโยบายผลักดันของรัฐบาล เพราะการใช้พลังงานของโรงงานเริ่มไม่เพียงพอ ในขณะที่ประเทศไทยพบว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ยังมีไฟฟ้าสำรองเหลือใช้ 40% ซึ่งไทยได้เปรียบเวียดนามเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีมาโดยตลอด อีกทั้งการลงทุนในอีอีซี นักลงทุนชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ 100% และยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่บีโอไอกำหนดไว้ ในขณะที่การลงทุนในประเทศอื่นให้สิทธิ์เช่าระยะยาวเท่านั้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ