วันแม่แห่งชาติ ม.หอการค้าโพล ชี้จับจ่ายสะพัด 1 หมื่นล้าน โต 9%

หอการค้าไทย เผยโพลวันแม่คาดมีเงินสะพัด 10,883 ล้านบาท ขยายตัว 9% นับเป็นการขยายตัวครั้งแรก ตั้งแต่มีโควิด-19 ชี้เกิดจากคลายความกังวลการแพร่ระบาดของโควิดลดลง

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจ “ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันแม่” สำรวจระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2565 จำนวน 1,288 ตัวอย่างทั่วประเทศ

พบว่า 80.1% ลูกมีความเป็นห่วงและกังวลต่อสุขภาพร่างกายของแม่มากที่สุดรองลงมาการเกิดอุบัติเหตุ 66.9% และสุขภาพจิตใจและความเครียด 53.6% และสิ่งที่ลูกต้องการให้แม่คืออยากให้แม่รักษาสุขภาพมากที่สุด

ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุพการีในปี 2563 พบว่า 73.7% ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ปี 2565 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุพการี 73.4% ไม่เปลี่ยนแปลง รองลงมา 14.9% ลดลง 11

สำหรับพฤติกรรมและการวางแผนการใช้จ่ายในช่วงวันแม่ ส่วนใหญ่พบว่า จะพาแม่ไปทานข้าว 60.6% พาแม่ไปทำบุญ 47.9% ทำอาหารทานที่บ้านกับแม่ 14.6% และทำกิจกรรมร่วมกัน 14.2%

ส่วนของขวัญวันแม่ที่นิยมซื้อให้มากที่สุด คือ ให้เงินสดทอง 37.1% พวงมาลัยดอกไม้ 34.2% เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย 17.6% และพบว่าจะมีการวางแผนพาแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น

อุมากมล สุนทรสุรัติ
อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

ส่วนงบประมาณการใช้จ่ายในช่วงวันแม่คาดว่าเพิ่มขึ้น 40.2% เนื่องจากส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และเป็นวันพิเศษ โดยมองว่าจะมีเงินสะพัด 10,883 ล้านบาท ขยายตัว 9% ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับฐานในปี 2563 ต่ำ หดตัว 28.0% และปี 2564 ไม่ได้มีการสำรวจ

อย่างไรก็ดี แม้ภาพของค่าใช้จ่ายจะมีเงินสะพัดในช่วงวันแม่จะเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนก็ยังมีความกังวลโดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่าย ความมั่นคงในอาชีพ ภาระหนี้สินเนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย สูงถึง 62.2%

ส่วนสิ่งที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ คือ การลดค่าครองชีพ พักชำระหนี้ สร้างรายได้ เพิ่มค่าแรง ส่วนความกังวลเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดพบว่าประชาชนมีความกังวลโดยเฉพาะนโยบายการถอดแมสในที่สาธารณะ 54.4% การแพร่ระบาดรอบใหม่ 53.2% การเข้าถึงการรักษา 48.6%

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ