ศก.โลกทรุดฉุดส่งออก พ.ย.หดตัว 6% ติดลบ 2 เดือนติด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศ–การค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนพฤศจิกายน 2565 และ 11 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งการส่งออกเดือน พ.ย.65 มูลค่า 846,191 ล้านบาท -6% และ 11 เดือนแรกปี 65 (ม.ค.-พ.ย.65) +7.6% มูลค่า 9,167,993 ล้านบาท ทำให้การส่งออก 11 เดือนแรกปีนี้เกินเป้าหมายส่งออกที่กำหนดไว้แล้วทั้งปี ที่กำหนดไว้ 9 ล้านล้านบาท แต่ 11 เดือนแรกทำได้แล้ว 9.168 ล้านล้านบาทแล้ว สินค้าสำคัญ 3 หมวด ประกอบด้วยสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม

โดยการส่งออกที่ติดลบในช่วงเดือนพ.ย.65 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างชัดเจน ทำให้การส่งออกลดลง แต่ยังคงมีสินค้าหลายรายการขยายตัวได้จึงทำให้ตัวเลขการส่งออกในช่วง 11 เดือนยังเป็นบวก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร เช่นไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะน้ำตาลทราย ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูป และการขาดแคลนชิปดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงส่งออกได้ดี ในขณะที่การผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid ของประเทศจีนในเดือนม.ค.66 เชื่อว่ามีผลต่อการส่งออกของประเทศไทยที่จะทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้

สำหรับตลาดที่ขยายตัว 10 อันดับแรกในเดือน พ.ย. 65 ได้แก่ 1. อิรัก (+215.6%) 2. บาห์เรน (+153.1%) 3. ซาอุดิอาระเบีย (+40.1%) 4. สหราชอาณาจักร (+22.2%) 5. ลาว (+21.3%) 6. เบลเยียม (+11.4%) 7.เม็กซิโก(+10.5%) 8.เมียนมา (+3.7%) 9.สหรฐัฯ(+1.2%) และ 10.อินเดีย(+0.7%)

ทั้งนี้ปัจจัยหนุนการส่งออกสำคัญ 1.การดำเนินงานอย่างเข้มข้นของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับเอกชน เช่น การลงนามขยายความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซกับจีน ซึ่งเป็นช่องทางนวัตกรรมทางการตลาดที่มีผลให้ตัวเลขในจีนยังไปได้ และการเร่งรัดการเปิดด่านรอบประเทศจาก 97 ด่านเปิดแล้ว 72 ด่าน 2.ข้อมูลองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่าปี 2565 โลกจะนำเข้าอาหารมากขึ้นประมาณ 10% ส่งผลต่อการขยายตัวด้านอาหารและการส่งออกของไทยไปด้วย 3.การเติบโตของ 5G รวมทั้ง Digital Economy ช่วยให้ความต้องการสินค้าเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟนมีมากขึ้นและประการที่สี่ สถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มคลี่คลาย ทำให้ยานพาหนะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กลับมาดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบที่จากกระทบการส่งออกที่อาจกระทบถึงช่วงปีหน้าคือ 1.ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวปี 2564 บวก 6% ปีนี้แนวโน้มจะบวก 3.2% และปีหน้าคาดการณ์เบื้องต้นจะบวก 2.7% จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย 2.เงินเฟ้อที่ยังสูง และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารต่างประเทศจะมีผลไปถึงปี 2566 ทำให้ความต้องการบริโภคอาจได้รับผลกระทบ 3.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์สงครามรัสเซีย-ยูเครนและอื่นๆยังไม่มีแนวโน้มยุติ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงจากพลังงาน อาหารสัตว์และความต้องการบริโภคลดลงไปด้วย

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนเฉพาะการส่งออกเดือน พ.ย.65 การส่งออกผ่านการค้าชายแดน 4 ประเทศ มาเลเซีย ลาว กัมพูชาและเมียนมา +7.04% สร้างเงินให้ประเทศ 55,001 ล้านบาท 11 เดือนแรกปีนี้ ยอดส่งออกสินค้าข้ามแดน +16.32% สร้างเงินให้ประเทศ 598,483 ล้านบาท สำหรับเมียนมา เดือน พ.ย.65 ทำเงินให้ประเทศ 12,498 ล้านบาท +11.04% 11 เดือนแรกปีนี้ ส่งออก 133,920 ล้านบาท +25.2% ,กัมพูชา เดือน พ.ย. +8.54% ทำเงินให้ประเทศ 13,609 ล้านบาท 11 เดือนแรก +16.64% สร้างเงินให้ประเทศ 151,587 ล้านบาท ,ลาว เดือน พ.ย. +34.3% สร้างเงิน 13,781 ล้านบาท 11 เดือนแรกปีนี้ +27.39% สร้างเงินให้ประเทศ 143,206 ล้านบาท ,มาเลเซีย เดือน พ.ย. -12.77% ทำเงินให้ประเทศ 15,113 ล้านบาท 11 เดือนแรกปีนี้ +2.78% สร้างเงิน 169,770 ล้านบาท

ส่วนการค้าผ่านแดน 3 ประเทศ จีน เวียดนามและสิงคโปร์ การค้าผ่านแดนเดือน พ.ย.65 -4.64% มูลค่า 34,347 ล้านบาท เพราะเราไปใช้การขนส่งทางเรือมากขึ้น การส่งออก 11 เดือนแรก -20.44% ทำเงินให้ประเทศ 345,622 ล้านบาท โดย จีน เดือน พ.ย. 65 +26.35% ทำเงินให้ประเทศ 16,100 ล้านบาท 11 เดือนแรก -23.67% สร้างเงินให้ประเทศ 141,610 ล้านบาท เวียดนาม เดือน พ.ย.65 +4.26% สร้างเงินให้ประเทศ 4,396 ล้านบาท 11 เดือน +6.64% สร้างเงิน 44,896 ล้านบาท สิงคโปร์ เดือน พ.ย. -35.44% ทำเงินให้ประเทศ 3,916 ล้านบาท 11 เดือนแรกปีนี้ -11.01% ทำเงิน 45,739 ล้านบาท ภาพรวมทั้งการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน พ.ย.มูลค่าการค้าชายแดนส่งออก +2.23% ทำเงินให้ประเทศ 89,349 ล้านบาท รวม 11 เดือนทั้งการค้าชายแดนและผ่านแดน -0.51% ทำเงินให้ประเทศ 944,105 ล้านบาท

ที่มา สยามรัฐ