เงินเฟ้อไทย 2565 สูงขึ้นรอบ 24 ปี เงินเฟ้อปี 2566 จับตาจีนเปิดประเทศ

สนค. เผยเงินเฟ้อปี 2565 สูงขึ้น 6.08% ในรอบ 24 ปีนับตั้งแต่ปี 2541 จากราคาพลังงาน ค่าแรง ค่าไฟฟ้า โรคระบาด ขณะที่เงินเฟ้อไทย ปี 2566 คาดอยู่ที่ 2.5% พร้อมติดตามการเปิดประเทศของจีนมีผลต่อความต้องการในประเทศ กดดันเงินเฟ้อปีหน้า

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ของไทยเดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ 107.86 โดยสูงขึ้น 5.89% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหารที่ยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือนธันวาคม 2564 ไม่สูงมากนัก และอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อเทียบเงินเฟ้อกับเดือนที่ผ่านมาลดลง 0.06% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และผลไม้สด

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2565 สูงขึ้น 6.08% เมื่อเทียบเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา และเป็นการสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 เงินเฟ้ออยู่ที่ 8.1%

ปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มในประเทศ การปรับขึ้นค่าจ้าง อัตราดอกเบี้ย และเงินบาทที่อ่อนค่า นอกจากนี้ โรคระบาดในสุกร ปัญหาอุทกภัย อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงฐานราคาในปี 2564 ที่อยู่ในระดับต่ำ มีผลต่อเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั้งปี 2565 ยังใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ อยู่ที่ระหว่าง 5.5-6.5% ค่ากลาง 6.0% โดยมีสมมติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจของไทย หรือจีดีพี ขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.7-3.2% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อต่างประเทศ เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 7.1% สหราชอาณาจักร อยู่ที่ 10.7% อิตาลี อยู่ที่ 11.8% และอินเดีย อยู่ที่ 5.88% สปป.ลาว อยู่ที่ 38.46% ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 8.0% และสิงคโปร์ อยู่ที่ 6.7%”

ขณะที่เงินเฟ้อในปี 2566 สนค.คาดการณ์ว่าอยู่ที่ระหว่าง 3.0-2.0% ค่ากลาง 2.5% โดยมีสมมติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจของไทย หรือจีดีพี ขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.0-4.0% น้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และมองว่าเงินเฟ้อปี 2566 จะไม่กดดันและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และมองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะลดลงจากปี 2565

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการเปิดประเทศของจีนจะมีผลให้นักท่องเที่ยวจีนเขามาประเทศไทยมากขึ้น รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมีการประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยประมาณ 25 ล้านคนทั้งปี ซึ่งจะมีผลต่อความต้องการบริโภคสินค้า ที่พัก ค่าบริการ ค่าขนส่ง ร้านอาหารภายในประเทศ และอาจจะส่งผลต่อเงินเฟ้อภายในประเทศได้ ส่วนราคาพลังงาน

นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า สำหรับเงินเฟ้อ เดือนธันวาคม 2565 ที่สูงขึ้น 5.89% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุสำคัญมาจากสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 3.87% (YOY) ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่สูงขึ้น 14.62% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม

ตลอดจนค่าโดยสารสาธารณะที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก) ยาสีฟัน แชมพูสระผม และค่าแต่งผมชาย-สตรี ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ โฟมล้างหน้า แป้งผัดหน้า ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 8.87% (YOY) โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้น 9.66% อาทิ

ข้าวราดแกง อาหารเช้า ก๋วยเตี๋ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต รวมทั้ง เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และข้าวสาร ราคายังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

ขณะที่ผักและผลไม้บางประเภทราคาลดลง อาทิ มะเขือเทศ กะหล่ำปลี พริกสด ผักกาดขาว มะขามเปียก มะพร้าวแห้ง/ขูด กล้วยน้ำว้า และทุเรียน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 3.23% (YOY) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 3.22% (YOY) ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากปี 2565 อย่างชัดเจน เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่เริ่มทรงตัวและบางรายการปรับลดลงหลังจากที่ทยอยปรับขึ้นตามต้นทุนแล้วในปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มชะลอตัวตามอุปสงค์โลกที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ

นอกจากนี้ ฐานราคาในปี 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 2566 ขยายตัวไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า การปรับขึ้นค่าจ้างทั้งระบบ และเงินบาทที่ยังผันผวน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิต รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้น

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อปี 2566 ได้แก่ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก จากความเสี่ยงของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สภาพอากาศที่แปรปรวน การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคระบาดในสัตว์ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา ประชาชาติ