นักวิชาการหนุนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แนะพัฒนาฝีมือ-ปรับค่าจ้างตามอายุงาน

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการติดตามการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย การเลือกตั้งรอบนี้มีการเน้นหาเสียงด้วยนโยบายมากกว่าตัวบุคคล ทุกพรรคมุ่งเป้าไปที่การสร้างหลักประกันชีวิตให้คนจน หรือมักใช้คำว่าสร้างรัฐสวัสดิการ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในประเทศตกอยู่ในสภาวะยากจนลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น การปรับรายได้ให้ทันรายจ่ายจึงเป็นการชูนโยบายที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นรูปธรรมมากที่สุด

“เรากังวลกันว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ลองสังเกตดูว่าจนถึงทุกวันนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ทันขึ้นเลย แต่ค่าครองชีพกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่ใช่เหตุ แต่มันเป็นผลของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทุกพรรคเห็นปัญหานี้และได้หยิบยกมาเป็นนโยบายหลัก” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

ภาพสำคัญที่สะท้อนว่าค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราปัจจุบันไม่เพียงพอคือ การทำงานล่วงเวลาของบรรดาลูกจ้างที่ต้องดิ้นรนทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมงตามที่กฎหมายระบุ หลายคนทำงาน 10-12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนล่วงเวลา (โอที) มาเลี้ยงปากท้องคนทั้งบ้าน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยคุณภาพชีวิตที่ถดถอยกลับบ้านดึก มีเวลาให้ครอบครัวน้อยลง

แนวการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดแบบที่นายจ้างและลูกจ้างได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ

ข้อแรก การพัฒนาฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น เมื่อลูกจ้างทำผลงานได้ดีขึ้น นายจ้างก็สามารถจ่ายค่าจ้างได้โดยไม่เดือดร้อนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้น สิ่งที่ภาครัฐและนายจ้างควรทำในระยะยาวคือการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ด้วยการลงทุนวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำไปสู่การสร้างผลิตผลที่มากขึ้น

ข้อสอง การบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามนิยามอย่างแท้จริง โดยนิยามของค่าจ้างขั้นต่ำ คือค่าตอบแทนต่ำสุดที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างแรกเข้าและไร้ฝีมือ แต่มีนายจ้างจำนวนมากยึดตัวเลขนี้ตลอดการจ้างงาน ตราบเท่าที่ทางการไม่ประกาศการเพิ่มค่าจ้างเป็นอัตราใหม่ เช่น ลูกจ้างทำงานมาเป็นสิบปีก็ยังได้กินแค่ค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งๆ ที่มีประสบการณ์และทำผลงานได้มากขึ้น หากไม่มีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่จากรัฐบาล นายจ้างก็ยังจ่ายเท่าเดิม การเอาเปรียบลูกจ้างเช่นนี้ควรแก้ด้วยการออกกฎระเบียบให้นายจ้างขึ้นเงินเดือนลูกจ้างทุกปีเพื่อให้พ้นไปจากนิยามของแรงงานแรกเข้าและไร้ฝีมือ

ข้อสาม การเพิ่มอัตราเงินสมทบ เพราะอัตราเงินสมทบที่คิดจากเพดานเงินเดือนลูกจ้างเพียงแค่ไม่เกิน 15,000 บาทในปัจจุบัน ไม่สามารถให้หลักประกันที่มั่นคงกับชีวิตของแรงงานได้

“ประเทศไทยเราเริ่มจากการไม่มีสวัสดิการใดๆ เลย จนกระทั่งมีค่าจ้างขั้นต่ำ มีประกันสังคม มีเงินชดเชยว่างงาน ถือว่าเรามาไกลพอสมควร แต่เงินจำนวนนี้ต้องเพียงพอให้แรงงานสามารถอยู่เป็นผู้เป็นคนได้ ไม่ใช่เป็นแค่น้ำจิ้มอย่างที่ได้รับกันมา” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

หากพูดถึงตลาดแรงงานไทยในภาพรวมเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก ถือว่าเรามีปัญหาน้อยเพราะอัตราการว่างงานต่ำติดอันดับโลก แต่ประเด็นสำคัญคือ ประสิทธิภาพแรงงานยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จึงทำให้ได้ค่าตอบแทนที่ต่ำไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ลูกจ้างเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงต่ำ ถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และอำนาจต่อรองในการกู้ยืมน้อย เมื่อค่าจ้างขึ้นไม่ทันรายจ่าย การก่อหนี้ย่อมตามมา นำไปสู่การกู้ยืมนอกระบบที่เสียดอกเบี้ยแพงกว่ามาก ทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ยิ่งเป็นการทับถมปัญหาที่เลวร้ายที่สุดของประเทศไทยคือความเหลื่อมล้ำ

“สมัยก่อนความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหา แต่สมัยนี้คนข้างมากยังยากจน หลังจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยกลับติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คนกลุ่มน้อยได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโต ส่วนคนกลุ่มใหญ่โตแต่หนี้ สังคมแบบนี้จะล่มสลายในที่สุด” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

คนส่วนมากในวันนี้จึงหวังว่าการเมืองจะแก้ปัญหาได้ ขณะนี้มีพรรคการเมืองของผู้ใช้แรงงาน พูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เช่น เพิ่มสวัสดิการทางสังคม ลดการผูดขาด ปฏิรูปโครงสร้างภาษี แต่ทำได้จริงอย่างที่สัญญาหรือเปล่าเป็นคำถามที่คนยังสงสัย ซึ่งหวังว่าพลเมืองตื่นรู้หรือ Active Citizen จะช่วยกันจับตาให้นักการเมืองพูดแล้วทำจริง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์