จีดีพีเกษตรไตรมาส 3 ขยายตัว 0.5% สาขาปศุสัตว์-ประมง-ป่าไม้โตสวนทางสาขาพืช-บริการทางการเกษตร หดตัวลง คาดภาพรวมปี 2566 ยังขยายตัว 1.5-2.5%

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2566 (กรกฎาคม-กันยายน 2566) พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและความต้องการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่สาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรหดตัวลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ภาวะฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชสำคัญหลายชนิด นอกจากนี้ราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญทั้งปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ทำการเพาะปลูก ชะลอหรือลดปริมาณการผลิต ส่งผลให้ภาพรวมของภาคเกษตรขยายตัวได้ไม่มากนัก

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคเกษตรในภาพรวมขยายตัวได้ คือ การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิต สนับสนุนการรวมกลุ่มทำการผลิต การแปรรูป และพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค การเฝ้าระวัง เตือนภัย และบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ รวมทั้งการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อการวางแผนและตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคในประเทศ ภาคบริการ และการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง ทั้งจากอิทธิพลของลมมรสุมที่ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในบางพื้นที่ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรค และแมลง อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรบางส่วน

รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการลงทุนและกำลังซื้อของเกษตรกร ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการสู้รบในตะวันออกกลาง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร

ทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอนาคตภายใต้ข้อจำกัดและโอกาสหลายด้าน ซึ่งมีการดำเนินการหลายด้าน อาทิ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต การรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด การยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ต่อยอดสู่เกษตรมูลค่าสูงและอุตสาหกรรมอนาคต

นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมถึงรายละเอียดในแต่ละสาขาของไตรมาส 3 ว่า สาขาพืช ไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ 0.5 สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ผลผลิตลดลงในทุกภูมิภาค เนื่องจากในช่วงเพาะปลูกเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและปริมาณฝนในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนลดเนื้อที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงไตรมาส 2 จากต้นทุนการผลิตที่สูงทั้งค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลง

เนื่องจากเนื้อที่เก็บเกี่ยวบางส่วนในภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงจากฝนที่ตกหนักและอุทกภัยตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2565 ทำให้เนื้อที่ปลูกมันสำปะหลังในขณะนั้นได้รับความเสียหาย ประกอบกับ ช่วงเพาะปลูกประสบภาวะแล้ง ทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ สับปะรดโรงงาน ผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ทำให้ต้นสับปะรดไม่สมบูรณ์และผลมีขนาดเล็กลง ยางพารา ผลผลิตลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตที่สำคัญทางภาคใต้ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนจัด ฝนทิ้งช่วง

ประกอบกับมีการระบาดของโรคใบร่วง ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน และปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ทำให้ทะลายปาล์มไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ลำไย ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรในภาคเหนือโค่นต้นลำไยอายุมากที่ให้ผลผลิตต่ำและปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพาราและทุเรียน ประกอบกับในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงมกราคม 2566 อากาศหนาวเย็นไม่เพียงพอ ทำให้ลำไยออกดอกน้อย และในช่วงติดผลเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ผลหลุดร่วง

สำหรับสินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงเพาะปลูกมีน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพียงพอ ประกอบกับราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นาที่ปล่อยว่าง ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรภาคใต้ขยายเนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นแทนยางพาราและผลไม้อื่น ๆ และต้นทุเรียนที่ปลูกในปี 2561 ให้ผลผลิตในปีนี้เป็นปีแรก มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตในภาคใต้มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผลของมังคุด

ประกอบกับต้นมังคุดมีการพักต้นสะสมอาหารและให้ผลน้อยในปีที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และเงาะ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นเงาะดี ทำให้ผลผลิตเงาะในภาคใต้ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง

สาขาปศุสัตว์ ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4.8 สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเฝ้าระวังโรคระบาดของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวด ประกอบกับการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายย่อย ทำให้เกษตรกรมีการปรับตัวและยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ รวมถึงราคาพันธุ์สุกรลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นในการเลี้ยงสุกรใหม่เพิ่มขึ้น ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยว สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ ผลผลิตลดลง เนื่องจากการปลดแม่ไก่ยืนกรงในช่วงที่ผ่านมาตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับเกษตรกรบางรายเลิกเลี้ยงไก่ไข่จากต้นทุนการผลิตที่สูง โดยเฉพาะต้นทุนอาหารสัตว์ น้ำนมดิบ ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบางส่วนเลิกเลี้ยงหรือปรับลดจำนวนโคในฝูงลง รวมทั้งลดปริมาณการให้อาหารเพื่อลดภาระต้นทุนที่สูง

สาขาประมง ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 1.5 สินค้าประมงที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ กุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากมีการจัดการฟาร์มที่ดี กุ้งมีอัตราการรอดเพิ่มขึ้น ประกอบกับเกษตรกรเร่งจับกุ้งเพื่อลดความเสียหายจากอากาศร้อนสลับฝนตก ซึ่งกุ้งอาจเกิดการน็อกน้ำได้ ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการทำประมงทะเลยังคงอยู่ในระดับสูง

ส่งผลให้ผู้ประกอบการประมงออกเรือจับสัตว์น้ำลดลง ส่วนปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำมีน้อย สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยง ต้นทุนอาหารสัตว์อยู่ในระดับสูง เกษตรกรชะลอการปล่อยลูกพันธุ์ปลาและลดรอบการเลี้ยง

สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ 1.0 เนื่องจากปริมาณฝนและน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ น้อยกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช เกษตรกรบางส่วนจึงงด เลื่อน หรือปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการเพาะปลูก ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปี มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

สาขาป่าไม้ ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากผลผลิตไม้ยางพารา ถ่านไม้ และรังนก เพิ่มขึ้น โดยไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่น รวมถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดจีน ถ่านไม้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจบริการภายในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจโรงแรม

รวมทั้งความต้องการของตลาดจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เพิ่มขึ้น สำหรับรังนกเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดจีนที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไม้ยูคาลิปตัสลดลงตามความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ รวมถึงการส่งออกไปยังจีนและญี่ปุ่นที่ลดลง ส่วนครั่งลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ