ความท้าทายของซีพี ในรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โดย วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.wordpress.com

เรื่องนี้ใหญ่มากๆ อาจจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้กับกรณีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว

กรณีเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีสร้างสายสัมพันธ์ด้วยพันธสัญญากับรัฐ เพื่อบุกเบิกเส้นทางสู่ธุรกิจใหม่ครั้งใหญ่ 2 ครั้ง จากเครือข่ายสื่อสาร สู่กิจการรถไฟความเร็วสูง

ดูจะเป็นเรื่องราวที่มีร่องรอยเชื่อมโยงกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะว่ากันว่าเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ จะเป็นจุดพลิกโฉมหน้าใหม่ 2 ช่วง ในประวัติศาสตร์กลุ่มธุรกิจอิทธิพลในสังคมไทย

เรื่องราวทั้งสองกรณีสัมพันธ์กับภูมิหลัง ควรย้อนกลับไปมองเมื่อราว 6 ทศวรรษที่แล้ว ณ จุดตั้งต้นซีพียุคคุณธนินท์ เจียรวนนท์

จากมุมมองและประสบการณ์ว่าด้วยโอกาสทางการธุรกิจ ตามแบบฉบับชาวจีนโพ้นทะเลในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สู่ความรู้ใหม่ๆ จากโลกตะวันตกในยุคสงครามเวียดนาม จากธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และอาหารสัตว์ ก้าวสู่การบุกเบิกอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศไทย เป็นตั้งต้นสำคัญ สู่โมเดลธุรกิจเกษตรกรรมครบวงจร จากระบบฟาร์มพันธสัญญา (Contract Farming) สู่การผนวกประสานแนวตั้ง (Vertical Integration) ซึ่งสร้างผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง กลายเป็นแนวทางสำคัญทางธุรกิจของซีพีตั้งแต่นั้นมา

ถือเป็นโมเดลความสำเร็จทางธุรกิจไม่เพียงประเทศไทย หากสู่ระดับภูมิภาคด้วย เป็นเวลาอันน่าทึ่งต่อเนื่องราว 2 ทศวรรษ

ซีพีได้สะสมความมั่งคั่งดูมั่นคง พร้อมๆ กับบทบาทผู้นำโดดเด่นของคุณธนินท์ เจียรวนนท์

เมื่อภาวการณ์เชิงบวกมาถึง สถานการณ์ทั้งภูมิภาคดูมั่นคง แรงกระเพื่อมยุคสงครามเย็น สงครามประเทศข้างเคียงสิ้นสุดลง ยุคโลกาภิวัตน์เปิดฉากขึ้น ทุนและเทคโนโลยีระดับโลกเคลื่อนสู่ตะวันออก พร้อมๆ กับธุรกิจโลกตะวันตกขยายตัวเข้ามาอย่างลงลึกและหลากหลาย โอกาสทางธุรกิจได้เปิดกว้างมากๆ ในสังคมไทยด้วย

ไม่ว่ามาจากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (โดยบริษัทอเมริกัน) และสัมปทานสื่อสารแบบใหม่ ตามกระแสโลกว่าด้วยทางด่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ

ซีพีในยุคทศวรรษ 2530 มีความพร้อม มีความสามารถตอบสนองโอกาสใหม่ๆ ในบริบทใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่ เฉกเช่นเดียวกับทศวรรษ 2560 ในปัจจุบัน

คุณ ธนินท์ เจียรวนนท์ ขณะนั้นอายุ 50 ปี (ปี2532) เป็นทั้งจังหวะการฉลองตำแหน่งใหม่ ดูคล้ายๆ กิจการระดับโลกที่เรียกว่า Chief Executive Officer (CEO) ขณะสื่อระดับโลกโดยเฉพาะจากตะวันตกให้ความสนใจเขาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ Far Eastern Economic Review (2533), Forbes (2534) Fortune, Financial Times (2535) ที่สำคัญ ในปีเดียวกันนั้น Harvard Business School ได้ทำกรณีศึกษาซีพีด้วย

ผ่านมาอีกยุคในปัจจุบัน เมื่อธนินท์ เจียรวนนท์ ประกาศวางมือจากประธานกรรมการเครือซีพี เปิดทางเปิดโอกาสให้ทายาทขึ้นมารับช่วงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เรื่องราวของเขายังมีการกล่าวถึงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องราวเรื่องเล่าฉบับพิสดาร ความยาว 30 ตอน ได้นำเสนอโดยสื่อยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น-Nikkei (ปี 2559) ทั้งภาษาญี่ปุ่น และจีน (กรกฎาคม) ก่อนมาเป็นฉบับภาษาอังกฤษ (กันยายนปีเดียวกัน) หัวข้อเรื่อง My Personal History : Dhanin Chearavanont ใน Nikkei Asian Review (http://asia.nikkei.com/ ) ดูเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นของซีพีเองไม่น้อย ได้แปลและเรียงเป็นภาษาไทยด้วย

และในที่สุด คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ในวัย 80 ได้นำเสนอเรื่องราวของเขาอย่างละเอียดด้วยตนเองประหนึ่งทิ้งทวน ในหนังสือเล่ม “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” (สำนักพิมพ์มติชน 2562, 304 หน้า) เปิดตัวเป็นทางการอย่างตื่นเต้นและครึกโครมในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งล่าสุด (6 ตุลาคม 2562)

ซีพีเดินหน้าสู่ธุรกิจใหม่ จากธุรกิจสื่อสารเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว กับกิจการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกำลังเริ่มต้น มีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายๆ กัน

เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้วเป็นจังหวะครั้งสำคัญ ซีพีได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อตอบสนองแผนการขยายตัวครั้งใหญ่ ธนินท์ เจียรวนนท์ ก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เป็นช่วงเวลาเดียวกับซีพีทุ่มทุนครั้งใหญ่สู่ธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศไทย ด้วยแผนการสร้างสายสัมพันธ์กับธุรกิจระดับโลก

กรณีสำคัญๆ เปิดขึ้นในปีเดียวกัน (2531) เข้าสู่อุตสาหกรรมเคมี (ปี 2531 ร่วมทุน Solvay แห่งเบลเยียม) ในยุค “โชติช่วงชัชวาล” ด้วยเชื่อว่าเป็นโมเดลความมั่งคั่งใหม่ บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ ครั้งแรกในประเทศไทย ตามแรงกระตุ้นจากกระแสโลกตะวันตก (ร่วมทุนกับ SHV Holdings แห่งเนเธอร์แลนด์ เจ้าของเครือข่าย Makro เครือข่าย Hypermarket และซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven จากสหรัฐอเมริกา)

ที่ตั้งใจเป็นพิเศษคือธุรกิจสื่อสาร (ร่วมทุนกับ Bell Atlantic ธุรกิจยักษ์ใหญ่จากสหรัฐ) ซึ่งเป็นธุรกิจภายใต้ระบบสัมปทานครั้งแรกของซีพี

จนถึงปัจจุบัน ธุรกิจใหม่ซึ่งเริ่มต้นในครั้งนั้น ทั้งค้าปลีกและสื่อสารได้กลายเป็นธุรกิจสำคัญไปแล้ว ขณะเครือข่ายธุรกิจซีพีขยายยิ่งใหญ่ไปมากกว่าเดิมมากมายนัก ทั้งในประเทศและทั่วโลก

ในช่วงนั้นสังคมธุรกิจไทยมองสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในกรุงเทพฯเป็นเรื่องใหญ่มาก ว่าไปแล้วเป็นการตื่นตัวมาจากแรงกระตุ้นธุรกิจสื่อสารไร้สายเติบโตก่อนหน้านั้นเล็กน้อย

รัฐเปิดประมูลสัมปทานระบบสื่อสารครั้งใหญ่ (ปี 2533) ใครๆ ก็มองว่ากิจการโทรศัพท์พื้นฐานมีโอกาสทางธุรกิจกว้างขวางกว่าโทรศัพท์ไร้สายมากนัก ที่แน่ๆ มี “เค้าหน้าตัก” มากกว่า

แผนการใหญ่เปิดฉากเมื่อต้นปี 2533 เพียงไม่กี่เดือนจากนั้น โครงการสัมปทานสื่อสารใหญ่ที่สุดได้บทสรุปอย่างรวดเร็ว รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ตัดสินใจเลือกซีพีเข้าร่วมลงทุนขยายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย (กันยายน 2533) เป็นเรื่องราวฮือฮาทีเดียว

ทั้งนี้ ต้องลุ้นระทึกพอสมควร ขัดจังหวะด้วยการรัฐประหาร กับบางแนวความคิดเกี่ยวข้อง “การผูกขาด” ภายใต้รัฐบาลใหม่ (รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน)

มหากาพย์การเจรจาต่อรองดำเนินไปนานเป็นปี โดยธนินท์ เจียรวนนท์ มีบทบาทอย่างมากๆ (ฉากและเรื่องราวบางตอนให้เรื่องราวสีสันที่ว่านั้น อ่านได้จากหนังสือ “ชีวิตที่คุ้มค่า” โดยนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในช่วงนั้น)

ในที่สุด สัมปทานได้ถูกตัดทอน “เป็นผู้ดำเนินการลงทุน จัดหา และติดตั้งควบคุม ตลอดจนซ่อมบำรุงและรักษาอุปกรณ์ในระบบสำหรับการขยายบริการโทรศัพท์จำนวน 2.6 ล้านเลขหมายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นระยะเวลา 25 ปี โดยจะสิ้นสุดสัญญาในเดือนตุลาคม 2560” (ปี 2535) ผมเองเคยวิเคราะห์ไว้ในขณะนั้นว่าเป็นการตัดทอนที่มีผลดีต่อซีพี ในการโฟกัสในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจมากกว่า

เป็นเรื่องที่น่ายินดีทีเดียวสำหรับซีพีในเวลานั้น ดูจะแตกต่างไปบ้างกับกรณีล่าสุด

กรณีเพิ่งลงนามสัญญา (24 ตุลาคม 2562) การร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร)

มีความผกผันจากกรณีแรกอยู่บ้าง จากโครงการซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร (พฤษภาคม 2562) เมื่อข้ามสู่รัฐบาลใหม่ ซึ่งมีความต่อเนื่องจากรัฐบาลเก่า แม้ว่ามีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ความพยายามเร่งรัดให้มีการลงนามสัญญาโดยเร็วเป็นไปอย่างน่าตื่นเต้น

ขณะซีพีกลับพยายามใช้เวลาให้มากขึ้นในการเจรจาต่อรองเงื่อนไขในสัญญา

บางคนถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า อาจไม่ค่อยจะมั่นใจนักกับผลตอบแทนการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งใหม่

ผู้ลงนามสัญญาครั้งใหม่ฝ่ายซีพีคือศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้เพิ่งดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2560

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ก้าวสู่บทบาทผู้นำทั้งเครือซีพีอย่างเต็มตัวในวัย 50 ปี ช่างบังเอิญเป็นช่วงเดียวกับคุณธนินท์ เจียรวนนท์ กำลังขยายอาณาจักรธุรกิจซีพีครั้งใหญ่ที่ว่านั้น ขณะที่เวลานั้นคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซึ่งเพิ่งจบการศึกษาแล้วเข้าสู่การทำงานในเครือซีพีทันที ได้เป็นตัวละครซึ่งสะท้อนภาพเมื่อ 3 ทศวรรษนั้นด้วย

เขามีโอกาสทำงาน สะสมประสบการณ์ ตั้งแต่ระดับพนักงานฝึกงานในบริษัทร่วมทุนธุรกิจค้าปลีกในยุคก่อตั้ง (สยามแม็คโคร ปี 2532) ไปจนถึงเจ้าหน้าที่การเงินในบริษัทร่วมทุนอุตสาหกรรมเคมี (วีนิไทย ปี 2533) ก่อนจะมาปักหลักอย่างแท้จริง ณ จุดยุทธศาสตร์สำคัญในธุรกิจสื่อสารตั้งแต่ก่อตั้งเลยก็ว่าได้ (ปี 2535)

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นทายาทซึ่งถูกวางตัว วางบทบาทไว้ค่อนข้างเร่งรัด เข้าดูแลแผนการเชิงยุทธศาสตร์ (เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่) ขณะเป็นกรรมการบริษัทอายุน้อยที่สุด เขาใช้เวลาเพียง 7 ปี ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารธุรกิจสื่อสารอย่างเต็มตัว (ปี 2542 กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น)
ที่สำคัญ ช่วงเวลานั้นเขาได้รับบทเรียนอันอุดม ว่าด้วยการบุกเบิกธุรกิจใหม่ ธุรกิจซึ่งอยู่ภายใต้ระบบสัมปทานของรัฐ บทเรียนที่ว่านั้นมีคุณค่า พอจะเทียบเคียง ส่งต่อให้กับธุรกิจใหม่ซึ่งกำลังเริ่มขึ้น อย่างไร หรือไม่

โปรดติดตามตอนต่อไป

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์