ไฮสปีดเทรนอีอีซี บทเรียนความลงตัวของความร่วมมือ

ดูเหมือนว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะลงตัวด้วยดี เพราะทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และคุณวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ออกมาพูดอย่างสอดคล้องต้องกันว่า จะมีการเซ็นสัญญาแน่นอนในวันที่ 25 ต.ค. นี้

สำหรับแผนส่งมอบพื้นที่ที่มีปัญหานั้น สามารถแก้ไขด้วยการแบ่งการส่งมอบออกเป็น 3 เฟส ตามความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีและเป็นผลดีต่อเอกชน เนื่องจากสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่กู้เงินมาลงทุนได้ เพราะไม่ต้องกู้เงินมาลงทุนทั้งโครงการ แต่สามารถกู้เฉพาะส่วนที่จะก่อสร้างจริง ๆ เท่านั้น ทำให้สถาบันการเงินเองก็วางใจได้ เพราะไม่ต้องปล่อยกู้ทั้งก้อนกว่า 2 แสนล้านบาท เป็นแนวทางที่แฮ้ปปี้ทั้งฝ่ายผู้กู้และผู้ให้กู้

ตามแผนการส่งมอบ 3 ส่วนนั้น ฝ่ายรัฐสามารถส่งมอบทันทีได้ 1 ส่วนคือ

ช่วงสถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 ก.ม. หรือช่วงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เดิม

ส่วนที่ 2 ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 ก.ม. รัฐขอเวลาส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน

ส่วนที่ 3 ช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 ก.ม. ขอเวลาส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน ซึ่งส่วนนี้นับว่าเป็นส่วนที่หินที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับรื้อถอนเสาโฮปเวลล์ รื้อย้ายสาธารณูปโภคและจุดต่อจุดตัดอีกมากมาย จะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าหรือเท่ากับการก่อสร้างสองส่วนแรก

นอกจากนี้ การแบ่งการส่งมอบพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ จะทำให้การเปิดบริการทำได้เป็นส่วน ๆ ด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าจะทยอยเปิดบริการ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ในปี 2566-2567 และช่วงพญาไท-ดอนเมือง ในปี 2567-2568

นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะเมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว มีปัญหาก็ต้องร่วมกันแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลอยตัวหรือต้องแบกรับอยู่ฝ่ายเดียว ถือว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำโครงการนี้ทุกฝ่าย ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมเหตุสมผล ตั้งแต่ซีพีที่เป็นเอกชนผู้กล้าเข้ามาลงทุน ที่ต้องมาเจอกับภาระหนักอึ้ง กลายเป็นว่าต้องมาแบกความเสี่ยงมหาศาลเกินกว่าที่คาดหมายไว้แต่แรก, ร.ฟ.ท.ที่พยายามเต็มที่ในการส่งมอบพื้นที่ แม้ในตอนต้นจะมีทีท่ายึกยักก็ตาม, รัฐมนตรีทั้งสองที่เกี่ยวข้องที่ลงมาลุยงาน ด้วยความไม่เข้าใจหรือจะเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ในช่วงแรก ๆ จนเกือบจะสร้างปัญหาใหม่ แต่ในที่สุดก็ยอมอ่อนข้อ เปิดโอกาสให้พูดคุยปรับความเข้าใจกันได้ และที่สำคัญคือ อีอีซี เจ้าของโครงการ ที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการในเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก มีคุณอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธาน ลงมาช่วยเคลียร์ปัญหาการส่งมอบพื้นที่ จนที่สุดทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ทั้งหมด ทำให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้

อย่างนี้จึงน่าจะเรียกได้เต็มปากว่า เป็นโครงการ PPP ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ต้องเสี่ยงด้วยกัน รับผลดีผลชอบร่วมกัน ที่สำคัญสามารถดึงความเชื่อมั่นจากต่างชาติที่มาลงทุนกลับมาได้ว่า ภาครัฐของไทยจะไม่ทอดทิ้งเอกชนที่มาร่วมลงทุน และกล้าที่จะหอบเงินหอบทองมาลงทุนในบ้านเราอีกในอนาคต

 

ที่มา : https://pantip.com/topic/39320032?fbclid=IwAR1DkdX1kzEhDwNB7DojZTxKreiAXcEe26W7QqYM57g_o5xU8NBvCRm05C4