สรุปต้นจนจบ โลกเปลี่ยน เทเลคอมปรับ แปลงร่างทรูและดีแทค สู่ Tech Company พร้อมแข่งขันระดับโลก

 

CP + Telenor = Equal Partnership

True + Dtac = Tech Company

 

ถือเป็นดีลสุดฮอตส่งท้ายปี 2564 เมื่อกลุ่มซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ประกาศความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) หนีกระแส disrupt ปรับโครงสร้างองค์กร (Transformation) ของทรู หรือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และดีแทค หรือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) จากธุรกิจ Telco สู่ Tech Company โดยตั้งเป้าผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

สรุปข้อมูลจากการแถลงข่าว

  • การรวมธุรกิจยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่อยู่ในช่วงของการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้าง ซึ่งโดยปกติใช้เวลาประมาณ 5-9 เดือน

ช่วงเวลาการพิจารณา

– ทั้งสองฝ่ายจะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้มีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยซีพีและเทเลนอร์ถือหุ้นเท่าเทียมกัน

– ธุรกิจของทรูและดีแทค จะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท

– ทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งให้แล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence), ขออนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท, ดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

ทำไมต้องร่วมมือกัน :
– ธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom Landscape) กำลังจะตันจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีใหม่และตลาดที่มีการแข่งขันที่กว้างขึ้นสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล จึงต้องปรับตัวสู่รูปแบบบริการที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น
– ใช้ศักยภาพความแข็งแกร่งของแต่ละฝ่ายร่วมกัน ผ่านการปรับโครงสร้าง (Transformation) ซึ่งจะทำให้บริษัทไทยก้าวไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้
– การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค

จะมีอะไรใหม่

โทรคมนาคมจะกลายเป็นเพียงธุรกิจหนึ่งของโครงสร้างใหม่เท่านั้น โดยมีการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี IoT อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup)

โดยการจัดตั้ง Venture Capital (กองทุนมูลค่าประมาณ 100 – 200 ล้านเหรียญสหรัฐ) ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงมีแผนการศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจในอนาคต

สรุปข้อมูลจากการวิเคราะห์

  • ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคดิจิทัล ธุรกิจ Telecom จึงต้องปรับตัว ยกระดับสู่แพลตฟอร์มใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันกับต่างประเทศ ไม่ใช่แข่งกันอยู่สามรายในประเทศเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าเอไอเอสได้เห็นช่องทางนี้อยู่ก่อนแล้ว จึงได้รีบจับมือกับกัลฟ์ เพื่อจะได้มีโอกาสขยายแพลตฟอร์มไปสู่ธุรกิจด้านพลังงาน ที่กัลฟ์มีทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้า ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน พลังงานน้ำ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ที่ช่วยให้เอไอเอสใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้มากขึ้น
  • ความร่วมมือของทรูและดีแทคครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้มีอำนาจเหนือตลาด เพราะการจะดูว่าใครเป็นรายใหญ่ในตลาดต้องดูที่ revenue share หรือ value share (ไม่ใช่ดูที่ subscribers เพราะมีความซ้ำซ้อนได้) ซึ่งเมื่อทรูและดีแทครวมกัน ทำให้มีความใกล้เคียงกับเอไอเอส ที่เป็นเจ้าตลาดที่ครองมาร์เก็ตแชร์มากกว่าใครอยู่ก่อนมานาน ถือว่าขยับขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สูสีสมน้ำสมเนื้อกันมากขึ้น

True = 26.9%

Dtac = 18.4%

รวม 45.3%

AIS = 41.4%

         NT = 13.3%

 

  • ในตลาด Telecom ยังมีผู้เล่นอีกหนึ่งราย คือ NT ซึ่งมีรัฐบาลเป็นแบ็คอัพ โดย NT มีทรัพยากรทุกอย่างในมือครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นคลื่น เครือข่าย ศักยภาพทางการแข่งขัน รวมถึงพนักงานอีกนับแสนคน หาก NT จะนำศักยภาพที่มีออกมาใช้มากขึ้น ก็จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอีกหนึ่งราย และคงไม่นับว่าเป็นผู้เล่นรายเล็ก
  • ความร่วมมือของทรูและดีแทคไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ อาจจะเรียกว่ามาช้าแต่ดีกว่าไม่มาด้วยซ้ำ เนื่องจากเดินตามรอยรุ่นพี่ที่ออกตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว ทั้ง NT ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ CAT และ TOT, กับ AIS ที่จับมือกับ Gulf
  • นอกจากนั้น ความร่วมมือของทรูและดีแทคไม่ใช่สูตรสำเร็จเช่นในอดีตแบบ 1+1=1 แต่เป็น A+B=C โดยจะมีบริษัทใหม่เกิดขึ้นมา และธุรกิจ Telecom จะกลายเป็นเพียงหนึ่งในธุรกิจของบริษัทใหม่เท่านั้น
  • จากข่าวความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ราคาหุ้นดีดขึ้นทั้งสามบริษัท คือ ทรู ดีแทค และแม้แต่เอไอเอส ก็ได้อานิสงส์ไปด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดตอบรับต่อการขยับตัวเช่นนี้ จึงเป็นผลดีกับทุกฝ่าย และอาจมองได้ว่าทุกรายจะอยู่รอดปลอดภัยดี ซึ่งนั่นหมายถึงการแข่งขันจะเข้มข้น ผู้ได้รับประโยชน์คือผู้บริโภค

ทุกธุรกิจต่างต้องปรับตัวไปตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าธุรกิจรายเล็กหรือรายใหญ่ต่างต้องดิ้นรนหาทางรอด การที่ธุรกิจของไทยสามารถปรับตัวเชิงรุก จึงไม่เพียงจะอยู่รอด แต่ยังก้าวข้ามสภาพการแข่งขันฟาดฟันกันเองในประเทศ ไปสู่โอกาสที่จะก้าวกระโดดเป็นผู้เล่นระดับโลกได้ จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและควรสนับสนุน เพราะจะช่วยเปิดโอกาสให้กับประเทศได้อีกหลายทางในอนาคตที่ไม่ไกลจากนี้

 

ที่มา : https://mgronline.com