UNGCNT เปิด 5 SDGs Mega Trends 2023 ปลดล็อคความท้าทาย สู่เป้าหมายยั่งยืนหลากมิติ

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact) เปิดรายงาน “SDGs Mega Trends 2023” เผย 5 แนวโน้มสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2023” เพื่อปลดล็อคจากความท้าทาย สู่การฟื้นตัวหลัง COVID-19 เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และตอบโจทย์ SDGs ในหลากหลายมิติ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ UNGCNT ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของ UN Global Compact ได้จัดทำข้อมูล SDGs Mega Trends 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ด้วยความมุ่งหวังจะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมความรู้และแนวปฎิบัติด้านความยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจ โดยปีนี้ได้คัดเลือก 5 แนวโน้มสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจนำไปพิจารณาและประยุกต์ใช้ ท่ามกลางความท้าทายมากมายที่โลกกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากภัยคุกคาม

อย่างไรก็ตาม ยังชี้ว่าการขับเคลื่อนความยั่งยืนในช่วงปีที่ผ่านมา มีความร่วมมือที่เด่นชัดและความก้าวหน้าเป็นลำดับจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ได้เร่งระดมสรรพกำลัง อาทิ สมาชิก (UNGCNT) ได้ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในเวที GCNT Forum 2022 สมาชิกสมาคมฯ ยังได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและทางทะเล ร้อยละ 30 ของพื้นที่

“แม้ประเทศไทยจะมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่สหประชาชาติยังชี้ว่าประเทศของเรายังจำเป็นต้องเร่งการดำเนินงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำ รวมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ร่วมกับประชาคมโลก ภาคธุรกิจจึงต้องลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดล็อคทุกความท้าทายและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน” นายศุภชัย กล่าว

สำหรับ5 แนวโน้มสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2566 หรือ “SDGs Mega Trend 2023” ปีนี้ มุ่งเน้นไปที่แนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก บนความท้าทายและการปรับตัวขององค์กรธุรกิจในช่วงเวลาของการฟื้นตัวจาก COVID-19 เพื่อสร้างการเติบโต ซึ่งธุรกิจสามารถนำแนวทางเหล่านี้ไปพิจารณาและปรับการดำเนินงาน เพื่อเดินหน้าสู่องค์กรยั่งยืน รวมทั้งตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในมิติต่างๆ ดังนี้

1.ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ความอุดมสมบูรณ์ของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ เป็นต้นทุนที่มีคุณค่าและมูลค่า เพราะเป็นปัจจัยตั้งต้นของการมีวัตถุดิบที่หลากหลาย สำหรับการผลิตและต่อยอดเป็นสินค้าและบริการมากมาย จึงถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องการสรรพกำลังในการปกป้อง ดูแล และฟื้นฟู

2.การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ภาคการเงิน คือตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบ จึงเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนการลงทุน ที่มอบคุณค่า ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลและมูลค่าจากการประกอบการ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ ควบคู่ไปกับสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก

3.การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) การทำธุรกิจวันนี้ เปลี่ยนจากรูปแบบเดิมที่เน้นการแข่งขันเชิงปริมาณไปสู่การร่วมมือกันและแบ่งปันความรู้เชิงคุณค่า โดยอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนและออกแบบธุรกิจยั่งยืน ให้อยู่ในรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน

4.แรงงานและงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Workforce & Green Job) งานที่มีส่วนช่วยอนุรักษ์หรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการที่รัฐบาลไทยพยายามสนับสนุนให้เกิดตำแหน่งงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านนโยบายต่างๆ

5.การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและนวัตกรรม (Energy Transition & Innovation) ทิศทางของโลกที่เปลี่ยนไป คือโอกาสใหม่ๆของการลงทุน หนึ่งในนั้น คือ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในระดับองค์กร ที่ต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนให้เก็บเกี่ยวต่อไปในระยะยาว

SDGs Mega Trends 2023 ยังเปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจทั่วโลก ที่จัดทำโดย UN Global Compact ร่วมกับ Accenture ซึ่งนับเป็นการสำรวจมุมมองด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดและต่อเนื่องที่สุดครั้งหนึ่งของโลก จากซีอีโอ มากกว่า 2,600 คน จาก 18 อุตสาหกรรม ใน 128 ประเทศ เกี่ยวกับความท้าทายที่กำลังเผชิญ และการปลดล็อคธุรกิจ สู่เส้นทางของการฟื้นตัวและเติบโต พร้อมตัวอย่างการดำเนินงานของ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำ ซึ่งเป็นสมาชิกของ UNGCNT ในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ประกอบด้วย บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กับการปกป้องฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะที่เป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยว การเงินที่ยั่งยืนที่ต้องจับมือและเดินไปด้วยกัน โดยธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อสร้างระบบอาหารที่มั่นคงและยั่งยืน ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ วิสัยทัศน์ผู้นำกำหนดทิศทางงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการใช้นวัตกรรมนำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

ที่มา ไทยพับลิก้า