ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดฯ รับทราบแผนจัดทำกม. – กรอบสาระสำคัญ

รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว

วันนี้ (28พ.ย.) นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (28 พฤศจิกายน 2566) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ได้มีมติ (31 ต.ค. 66) เห็นชอบตามที่ นรม. เสนอว่า รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดการบูรณาการอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรมและเท่าทันต่อเหตุการณ์ จึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) เร่งรัดเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดต่อ ครม. โดยเร็ว

ทั้งนี้ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตลอดจนการมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. คณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด
กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และ
การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ดังนี้
1.1 คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด ซึ่งมี นรม. เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
1.2 คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมี รมว.ทส. เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงวิชาการ
1.3 คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และ คกก. อากาศสะอาดพื้นที่เฉพาะ ซึ่งจะแต่งตั้งเมื่อพบว่ามีสถานการณ์และระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

2. ระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ กำหนดให้ คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระบบเฝ้าระวังเพื่อคุณภาพอากาศสะอาด ระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ กรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ

3. มาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด จำแนกได้ 4 ประเภท แหล่งกำเนิดประเภทสถานที่ถาวร แหล่งกำเนิดประเภทเผาในที่โล่ง แหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ และแหล่งกำเนิดประเภทมลพิษข้ามแดน

4. เขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ โดยกำหนดการประกาศเขตพื้นที่ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

5. เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ดังนี้ ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง และมาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาด

6. ความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษ