EU เผยแผนลดการปล่อยก๊าซ ตั้งเป้า Carbon Neutral ภายในปี 2050

Cr: ภาพ www.cnbc.com

สหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ได้เปิดเผยรายละเอียดแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีต่อๆ ไป โดยแผนการดังกล่าวจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายภาคธุรกิจตั้งแต่การเดินทางทางอากาศไปจนถึงการขนส่งทางเรือ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

กลุ่มสมาชิกทั้ง 27 ประเทศได้ให้คำมั่นที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 55% จากปี 1990 ภายในปี 2030

จากข้อเสนอมากมาย คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปจึงได้สรุปแนวทางที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้

“ระบบเชื้อเพลิงฟอสซิลได้มาถึงขีดจำกัดของมันแล้ว เราต้องให้คนรุ่นต่อไปได้มีโลกที่แข็งแรง มีงานที่ดี และเติบโตในแบบที่ไม่ทำลายธรรมชาติของเรา” อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวในแถลงการณ์

 นโยบายหลัก

โดยการปรับเปลี่ยนนโยบายหลักๆ คือ ขยายตลาดซื้อขายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอุตสาหกรรมการผลิต (Emission Trading Scheme หรือ ETS) ของสหภาพยุโรป ภายใต้แผนดังกล่าว ธุรกิจต่างๆ สามารถซื้อขายโควตาในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งจะทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจการบินโดยรวมอยู่ในขอบเขตที่กำหนด

คณะกรรมาธิการต้องการที่จะยกเลิกโควตาการปล่อยมลพิษแบบไม่ขอบเขตของอุตสาหกรรมการบินและนับการปล่อยก๊าซคาร์บอนการขนส่งทางเรือรวมเข้ามาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังต้องการระบบซื้อขายคาร์บอนใหม่ สำหรับการจ่ายเชื้อเพลิงในการขนส่งทางถนนและในอาคาร

โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากกฎระเบียบใหม่นี้ เนื่องจากข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเป็นการห้ามรถยนต์เบนซินและดีเซลโดยปริยายภายในปี 2035

เจ้าหน้าที่อาวุโสที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่า รถยนต์และรถตู้ใหม่ๆ ทั้งหมดจะต้องเป็นรถที่ไม่มีการปล่อยมลพิษภายในปี 2035

หมายความว่าจะต้องมีสถานีชาร์จให้บริการตลอดทางหลวงสายหลัก โดยจะต้องมีสถานีชาร์จไฟฟ้าทุกๆ 60 กิโลเมตร และมีจุดเติมไฮโดรเจนทุกๆ 150 กิโลเมตร อีกทั้งสิทธิประโยชน์จูงใจที่ใช้อยู่นั้นจะสิ้นสุดในปี 2030 และจะติดตามภาคธุรกิจนี้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ แผนล่าสุดมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 40% ของความต้องการพลังงาน ภายในปี 2030

ภาษีสิ่งแวดล้อม

คณะกรรมาธิการต้องการที่จะเพิ่มร่างกฎหมายว่าด้วยมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ที่อาจจะเรียกว่าเป็นภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้สินค้าที่ผลิตจากประเทศอื่นที่มีกฎเกณฑ์การปล่อยมลพิษเข้มงวดน้อยกว่าสหภาพยุโรปถูกนำเข้ามาในสหภาพยุโรป

โดยจะบังคับให้ธุรกิจในสหภาพยุโรปจ่ายค่าปรับคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าจากนอกสหภาพยุโรป โดยอัตราภาษีจะเหมือนกับอัตราภาษีที่ธุรกิจในสหภาพยุโรปต้องจ่ายหากสินค้านั้นผลิตภายใต้กฎเกณฑ์การกำหนดราคาคาร์บอนของสหภาพยุโรป

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลต่อแผนภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของยุโรป นายจอห์น เคอร์รี ทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนมีนาคมว่า ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าอย่างมาก และภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนควรเป็น “ทางเลือกสุดท้าย”

เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหภาพยุโรปคนเดียวกันกล่าวว่า ภาษีจะมุ่งเป้าไปที่ธุรกิจไม่ใช่แต่ละประเทศ

แผนการของคณะกรรมาธิการคือค่อยๆ เริ่มเก็บภาษีนี้ โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า จากนั้นอุตสาหกรรมอื่นๆ จะตามมา

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยังกล่าวอีกว่า จะต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการเก็บภาษีสำหรับไฟฟ้า เชื้อเพลิงการบินและเครื่องยนต์ และระบบทำความร้อน หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าข้อกำหนดการจัดเก็บภาษีพลังงาน(Energy Taxation Directive หรือ ETD) ซึ่งได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2003 แต่คณะกรรมาธิการเห็นว่าไม่สอดคล้องกับแผนการด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

ในเอกสารที่ให้กับผู้สื่อข่าว คณะกรรมาธิการระบุว่าอัตราขั้นต่ำในปัจจุบันนั้นล้าสมัยแล้ว ไม่มีแรงจูงใจให้ใช้เชื้อเพลิงสะอาด และไม่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างระดับการเก็บภาษีกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ซึ่งมีผลให้สายการบินมีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายค่าน้ำมันมากขึ้นและอาจจะส่งต่อค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไปยังผู้บริโภค เช่นเดียวกันกับระบบทำความร้อนในครัวเรือน

การสนับสนุนทางการเงิน

คณะกรรมาธิการตระหนักดีว่าข้อเสนอเหล่านี้มีค่าใช้จ่าย ครัวเรือนที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนพลังงานจะได้รับการยกเว้นจากภาษีของเชื้อเพลิงระบบทำความร้อน และประเทศสมาชิกจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อนำไปลงทุนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

หนึ่งในแผนการนี้คือการใช้ประโยชน์จากรายได้ที่ได้จากระบบ ETS ไปชดเชยค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนนโยบายให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาส

การทำให้บรรลุผล

ข้อเสนอนี้จะเริ่มต้นด้วยการหารือภายในสถาบันของสหภาพยุโรป ซึ่งการที่จะทำให้ทุกประเทศในสหภาพยุโรปและรัฐสภายุโรป (European Parliament) เข้าใจตรงกันนั้นจะต้องใช้เวลาและการเจรจาที่ยากลำบาก

เนื่องจากแผนการของคณะกรรมาธิการจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในรูปแบบที่แตกต่างกัน ในบางประเทศ เช่น โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และฮังการีนั้นมีความกังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเขาจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง

นอกจากนี้ ทางการยังคงตระหนักถึงเหตุการณ์ประท้วงในฝรั่งเศส ที่ทำให้ประเทศหยุดชะงักในช่วงปลายปี 2018 และต้นปี 2019 หลังจากที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แอมานุแอล มาครง เสนอภาษีสิ่งแวดล้อมสำหรับเชื้อเพลิง

ที่มา : https://thaipublica.org