UN คาด ศก. เอเชียตะวันออกปีนี้โต 4.4% ฟื้นตัวเปราะบางท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกประจำปี 2566 (World Economic Situation and Prospects 2023) โดยระบุว่า เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว 4.4% ซึ่งปรับตัวขึ้นจากปี 2565 ที่ประมาณการไว้ว่าอาจจะขยายตัว 3.2% แต่ยังต่ำกว่าการขยายตัว 7% ในปี 2564 ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะขยายตัว 4.3% ในปี 2567

รายงานระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้นยังคงมีความเปราะบาง ท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอนทั่วโลกและการเปิดประเทศที่ไม่ค่อยราบรื่นนักของจีน โดยประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยความระมัดระวัง เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อสูง หนี้สินที่พอกพูน และสภาพการณ์ในต่างประเทศที่อ่อนแอลง ในขณะที่ต้องกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกควรเดินหน้ายกระดับความยืดหยุ่นระยะยาวผ่านการเพิ่มการลงทุนในทุนมนุษย์และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะคาร์บอนต่ำ

เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้นไม่คงเส้นคงวาในปี 2565 โดยหลายประเทศผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดกระเตื้องขึ้น ส่งผลให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ มีการเปิดพรมแดนอีกครั้ง การเดินทางระหว่างประเทศฟื้นตัวและพลิกฟื้นภาคบริการ ซึ่งรวมถึงการค้าปลีกและการบริการ

ประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์จากการเดินทางระหว่างประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ฟื้นตัวขึ้น เช่น กัมพูชา ฟิจิ และไทย โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด ซึ่งตรงกับปี 2558 – 2562 แต่การที่จีนและฮ่องกงยึดมั่นต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ได้ฉุดให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกชะลอตัวเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ดี UN ระบุว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2566 จะขยายตัว 4.8% เทียบกับการคาดการณ์ที่ 3.0% ในปี 2565 และ 8.1% ในปี 2564 โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในช่วงปลายปี 2565 รวมทั้งการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง

ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นหนุนการเติบโตของตัวเลข GDP ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับแรงหนุนด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวด้านการลงทุนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

นอกจากนี้ UN เตือนว่า ประเทศต่าง ๆ ไม่ควรปล่อยให้อุปสรรคด้านการเติบโตมาหยุดยั้งความพยายามในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยบางประเทศ เช่นสิงคโปร์ ไทย ติมอร์เลสเต และเวียดนามได้แสดงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศด้วยการปรับปรุงข้อเสนอในการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2564 – 2565

 

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์