“CG คือกลไกที่นำไปสู่คำคำเดียวคือ… Trust”

โดย บรรยง พงษ์พานิช
ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

การพัฒนา CG ของไทยตอนนี้ถือว่า CG ของไทย ดีใช้ได้ แต่ต้องพัฒนาอีก ด้วย CG คือ กลไกระบบที่นำไปสู่คำคำเดียวคือ Trust’ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย เป็นคำที่ละเอียดอ่อนมาก ซึ่งต้องทำอย่างคงเส้นคงวาอย่างต่อเนื่องและต้องพัฒนา สังคมไหนที่ไม่มี Trust ต้นทุนจะสูงมาก เพราะกลไกการตรวจสอบ กฎ กติกา จะเยอะไปหมด เหมือนที่ประเทศไทยเจอ ทำให้ทุกอย่างหนืดไปหมด

ประเทศไทย CG พัฒนาจากนักลงทุน และนักลงทุนที่ผมพูดคือ นักลงทุนคุณภาพ คือนักลงทุนต่างประเทศ อย่างกองทุน CalPERS ซึ่งเป็นกองทุนบำนาญของเจ้าหน้าที่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ถ้าประเทศไหนระดับ CG ไม่ผ่าน เขาจะไม่ลงทุน ประเทศไทยผ่านในปี 1990 เขาเข้ามาลงทุน นักลงทุนอื่นก็ดูเป็นมาตรฐาน หลักของ CG จึงเป็นกลไกสำหรับนักลงทุนที่สามารถควบคุมเงินลงทุนของเขาได้ ควบคุมบริษัทให้บรรลุวัตถุประสงค์ มีประสิทธิภาพ มีกำไรและแบ่งปันกำไรอย่างเป็นธรรม ดังนั้น CG จึงไม่เกี่ยวกับคุณธรรมเพียงอย่างเดียว

 

สิ่งต้องทำหากนำ CG มาใช้องค์กร

Governance เป็นองค์ประกอบของทุกระดับ สำหรับองค์กร คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่สำคัญ เพราะเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น ในองค์กรต้องมี Compliant Unit เป็นหน่วยตรวจสอบว่าองคาพยพในองค์กรทำตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ถ้ามีปัญหาต้องหาคำตอบว่าปัญหานี้ถูกต้องหรือไม่ มีความผิดเกิดขึ้นหรือไม่ บางทีมาจากการหลงลืม บกพร่อง การขาดกลไก ก็ต้องแก้กันไป

การทำงาน CG มีหลักว่าอะไรที่เกิดข้อสงสัย ต้องยกขึ้นมาและต้องตัดสินโดยกลุ่ม ไม่มีใครได้รับอำนาจให้ตัดสิน Compliant Unit อำนาจตัดสินใจ ต้องเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นขั้นๆ จนถึงบอร์ด

นี่คือโครงสร้างการจัดการ CG ในองค์กร อย่างเช่น เราพบว่า กฎหมายหลายข้อล้าสมัย ไม่ครอบคลุม ต่อให้เราต้องเจอกฎอย่างนั้น เพราะเลี่ยงไม่ได้ ต้องปฏิบัติตาม แต่พยายามยกขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การแก้กฎ ไม่ใช่ไปเลี่ยงกฎ อย่าเลี่ยงกฎร้องเรียนตามระบบ นี่คือเกณฑ์ที่เราใช้

 

เมื่อ CG เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมองค์กร

สำหรับวัฒนธรรมองค์กร ขอแยกเป็นสองส่วน คือ แก่นกับกระพี้ แก่นคือหลักการ (Principle) ถ้าเรามีหลักการ องค์กรจะมีวัฒนธรรมตามหลักการ แต่กระพี้ คือ บรรยากาศในการทำงาน ความสนุกสนาน ความรักใคร่ ปาร์ตี้ กีฬาสี ซึ่งเรียกว่ากระพี้ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เพราะ “แก่น” ถ้าไม่มีกระพี้หุ้มมันจะเปราะ อย่างดินสอ แก่นดินสอคือ ไส้ดินสอ หากไม่มีเปลือกหุ้ม ก็ใช้งานไม่ได้ กระพี้จึงสำคัญ เพราะทำให้คงรูปร่างทำให้ แก่นอยู่ได้

ในองค์กรของเราต้องมีอิทธิบาท 4 ต่องาน แต่มีพรหมวิหาร 4 ต่อกัน การทำงานของเราในตลาดเงิน ตลาดทุน เราต้องสร้างฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ต้องเอาใจใส่ทุกรายละเอียด ขณะเดียวกันการปฏิบัติต่อกันต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันนี้เป็นแก่น เราทำงานหนัก เราก็มีการฉลอง เวิร์กฮาร์ด เพลย์ฮาร์ด และการทำงานโปร่งใสต่อกันไม่มีเคล็ดลับ เป็นองค์ประกอบที่ทำให้แก่นมันดำรงอยู่ได้…

ที่มา :  วารสารบัวบาน Vol. 6 เดือนมีนาคม 2564