Purpose Governance : A New Role for Boards การกำกับดูแลตามวัตถุประสงค์เพื่อสังคม เข็มทิศการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร

Laurence Douglas Fink ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Blackrock บริษัทจัดการการลงทุนข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน เคยส่งสารผ่านจดหมายถึงบรรดาผู้บริหารพอร์ตการลงทุนของบริษัทเมื่อ พ.ศ. 2562 ว่าไม่มีองค์กรใดสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดได้โดยปราศจากวัตถุประสงค์ และบริษัทที่ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับผลตอบแทนในระยะยาว

 “วัตถุประสงค์ขององค์กรไม่ใช่การแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นพลังที่สร้างสังคมความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น”

คำจำกัดความของผลการดำเนินงานกำลังขยายวงกว้างเพื่อพิจารณากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เน้นการปฏิบัติงานอย่างยั่งยืนผ่านโครงการและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม (E-Environmental) สังคม (S-Social) และการกำกับดูแล (G-Governance) อย่างรอบคอบ

การเป็นผู้ดูแลองค์กรจำเป็นต้องมีความชัดเจนในจุดมุ่งหมาย และการกำกับดูแลวัตถุประสงค์ขององค์กรก็เป็นบทบาทอันโดดเด่นซึ่งคณะกรรมการบริหารจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนด ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสังคมโลกเรียกร้องให้นำ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นครั้งแรก จากนั้นจึงมี ESG อันหมายถึงการเปิดเผยข้อมูลจากการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม และตามมาด้วย Purpose Governance หรือการกำกับดูแลวัตถุประสงค์ขององค์กร เป็นลำดับ

Purpose Governance กำลังเป็นจุดสนใจท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ขับเคลื่อนโดยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคมในประเด็นต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการจากแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่จัดการกับความเสี่ยง ไปจนถึงแนวทางการมีจุดประสงค์ทางสังคมตามเหตุผลที่บริษัทพึงมี ทั้งนี้ การดำเนินการขององค์กรตามวัตถุประสงค์ทางสังคม จะทำให้บริษัทมุ่งมั่นรังสรรค์ผลประโยชน์แก่ลูกค้าอย่างจริงใจจะนำไปสู่ประสบการณ์ของพนักงานที่ดีขึ้น การมีส่วนร่วมกับสังคมจะสูงขึ้นจนสามารถเห็นความแตกต่างของแบรนด์ที่แข็งแกร่งขึ้นได้อย่างชัดเจน และท้ายที่สุดคือการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร

หลักปฏิบัติสำหรับการกำกับดูแลตามวัตถุประสงค์

  • ตั้งใจฟังและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างรวดเร็ว

การมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางคือ ขั้นตอนแรกที่จำเป็นในการกำหนดเป้าหมาย ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถสื่อสารกับแบรนด์ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง การตอบแชทอัตโนมัติทำให้องค์กรมีมาตรฐานในการสื่อสารกับลูกค้า

ทว่าหลายครั้งคำตอบอาจมีรูปแบบตายตัวเกินไปจนดูเหมือนไร้ความจริงใจ เพราะเพียงแค่ความรวดเร็วฉับไวนั้นไม่เพียงพอ แบรนด์ควรหาคำตอบต่อคำถาม รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของลูกค้าอย่างจริงจังด้วย ทั้งนี้พนักงานควรได้รับการพัฒนามุมมองของคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์นี้ผ่านการพูดคุยกันในทีม และพัฒนาความเข้าใจอย่างชัดเจน

  • เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมเป็นรากฐานที่กำหนดทัศนคติและพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม องค์กรซึ่งจัดว่าเป็นสังคมย่อยย่อมมีวัฒนธรรมเป็นแบบแผนสำหรับพฤติกรรมในการทำงาน วัฒนธรรมในองค์กรจึงเป็นวิถีการดำรงชีวิตซึ่งทำให้หน่วยงานมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

ทั้งนี้ องค์กรจะไม่มีทางสร้างวัฒนธรรมได้หากปราศจากกิจกรรมที่เกื้อหนุนอุดมการณ์นั้นๆ อาทิ การแข่งกีฬาภายในเพื่อความเป็นเอกภาพ โครงการสัมมนาผู้บริหารสมัยใหม่เพื่อความมีประสิทธิภาพ หรือโครงการขวัญใจองค์กร

เพื่อความมีจิตใจให้บริการ เป็นต้น

  • กระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงาน

แนวคิดความมีส่วนร่วมของพนักงาน แต่เดิมมักมีความเข้าใจว่าเป็นการให้พนักงานร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงาน และเป็นบทบาทของพนักงานที่มีตำแหน่งระดับสูงเท่านั้น แต่ต่อมาแนวคิดนี้ได้ขยายขอบเขตกว้างขึ้น โดยหมายรวมถึงการให้พนักงานทุกระดับมีบทบาทในกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ได้แก่ การตั้งเป้าหมาย การแก้ไขปัญหา การตัดสินใจ และการให้ข้อมูล ซึ่งองค์กรต้องเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การสร้างความมีส่วนร่วมของพนักงานนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและต้องทำให้เกิดขึ้นในองค์กรเป็นอันดับแรกคือ การสื่อสารภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างความไว้ใจระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร โดยผู้บริหารต้องเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความคิดเห็นตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและยอมรับฟังเหตุผล

ทั้งนี้ พนักงานจะมีความไว้ใจในหัวหน้างานเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และคำปรึกษาเกี่ยวกับสายอาชีพที่เป็นประโยชน์อย่างเพียงพอ เช่นเดียวกับเมื่อพนักงานทราบว่าผู้บริหารได้พิจารณาข้อคิดเห็นหรือข้อมูลต่างๆ ที่พนักงานนำเสนอ

ตลอดจนพนักงานได้รับโอกาสให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานและองค์กร ย่อมทำให้พนักงานมีความไว้ใจหัวหน้างานเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุด ระดับความไว้ใจของพนักงานที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและระดับการมีส่วนร่วมของพนักงานด้วย

  • Tone at the Top : คณะบริหารต้องเป็นผู้ริเริ่ม

การปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กร (Tone at the Top) ต่อการนำนโยบายต่างๆ มาดำเนินการอย่างจริงจัง จะเป็นแรงส่งให้บุคลากรในองค์กรดำเนินรอยตาม ซึ่งภาวะผู้นำในการดำเนินการอันเป็นแบบอย่าง ไม่ได้หมายถึงเพียงการสื่อสารอย่างแข็งขันจากเบื้องบน แต่รวมถึงการปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างด้วย

ผู้นำทุกคนล้วนรู้ดีว่าไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จเพียงลำพังได้ ความเป็นผู้นำคือ ความพยายามของทีม ผู้นำต้องมีความสามารถที่จะช่วยให้ผู้อื่นปฏิบัติตามโดยส่งเสริมการทำงานร่วมกันอันเป็นทักษะหลักที่ช่วยให้ทีมและพันธมิตรอื่นๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้นำจึงต้องมีส่วนร่วมกับทุกคนเพื่อทำให้โครงการสำเร็จ

หัวใจสำคัญของความร่วมมือคือ การสร้างบรรยากาศที่น่าไว้วางใจ ความเคารพซึ่งกันและกันคือสิ่งที่ค้ำจุนความพยายาม หากปราศจากความไว้วางใจและความเชื่อมั่น พนักงานจะไม่เสี่ยง เมื่อไม่มีความเสี่ยงก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง การสร้างบรรยากาศที่พนักงานมีส่วนร่วมและรู้สึกว่าตนเองสำคัญคือ หัวใจสำคัญขององค์กรเท่ากับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้บริษัท ผู้นำควรเปิดโอกาสให้พนักงานดำเนินการตามความคิดริเริ่มของตนเองซึ่งพวกเขาจะแสดงศักยภาพได้ดีที่สุดเมื่อรู้สึกถึงอำนาจที่มอบให้

 

  • พัฒนาความรู้แก่พนักงาน เสริมทักษะความรับผิดชอบต่อสังคม

ขั้นตอนแรกในการพัฒนาพนักงานคือ การสร้างแผนเฉพาะสำหรับแต่ละคนโดยนั่งคุยกับพนักงานเกี่ยวกับความสนใจและเป้าหมายในอาชีพ เพราะทุกคนไม่ได้มีเป้าหมายเดียวหรือมีมุมมองเดียวกันเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการบรรลุในหน้าที่การงาน บางคนอาจไม่แน่ใจว่าพวกเขาต้องการอะไรด้วยซ้ำ แผนพัฒนาจึงควรวัดผลได้ภายใต้กรอบเวลาที่เป็นจริงสำหรับการบรรลุแต่ละเป้าหมาย

องค์กรในปัจจุบันมีการแบ่งสัดส่วนมากจนพนักงานเชื่อว่าสามารถทำงานได้เฉพาะในแผนกหรือหน้าที่ของตนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาพนักงานให้มีบทบาทสำคัญและเป็นประโยชน์กับบริษัทอย่างแท้จริง พวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจว่าทุกด้านขององค์กรทำงานอย่างไร การฝึกอบรมข้ามสายงานจะช่วยเพิ่มความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับองค์กร รวมถึงส่งเสริมให้พวกเขาทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

นอกจากนี้ องค์กรต้องเสริมทักษะความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่พนักงานในทุกแง่มุม ทั้งในด้านการประกอบกิจการด้วยความโปร่งใส ต่อต้านการทุจริต เคารพสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การร่วมพัฒนาชุมชนหรือสังคม ไปจนถึงการมีนวัตกรรมอันมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

ที่มา :  วารสารบัวบาน Vol. 6 เดือนมีนาคม 2564