สร้าง “วิถี” ปลูกฝังจรรยาบรรณให้ปฏิบัติได้จริง

การปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจของทุกคนในองค์กรเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดองค์กรที่มีจริยธรรม การส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กรสามารถปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งนั้น แต่ละองค์กรมี “วิถี” ในการทำกันอย่างไร CG Voice ฉบับนี้พาทุกท่านมาเรียนรู้จากตัวอย่างดี ๆ ค่ะ

“จรรยาบรรณธุรกิจ” กับการส่งมอบ “ความสุขและทำสิ่งที่ดี” ให้องค์กร

หลายองค์กรอาจจะรู้สึกว่าการให้พนักงานปฏิบัติตาม “จรรยาบรรณธุรกิจ” ขององค์กรโดยไม่ต้องฝืนใจหรือถูกบังคับ เป็นความท้าทาย แต่ที่ “ฟรีวิลล์ โซลูชั่น” กลับคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความท้าทาย แต่เป็นการส่งมอบ “ความสุข” ให้พนักงานได้ทำสิ่งที่ดี ๆ ให้กับองค์กร สังคม และโลกใบนี้

คุณอรฉัตร รักพงษไพโรจน์  ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ฟรีวิลล์ โซลูชั่นส์ จำกัด บอกกับ “CG Voices” ว่า…

การส่งเสริมให้ทุกคนปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ ต้องอาศัยวิธีในการสื่อสารกับพนักงานว่าเป็นการส่งมอบความสุขแบบหนึ่ง เป็นการ “เอาสิ่งดี ๆ ออกไปให้ผู้คนทำความดี  โดยมีเวทีให้พนักงานทุกคนได้ทำ มีช่องทางให้ทำ ชวนมาทำในสิ่งที่ดีให้กับองค์กร ทำให้เราดีขึ้น สังคมดีขึ้น โลกใบนี้ก็จะน่าอยู่ขึ้น” จึงมองว่าการให้พนักงานปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ ไม่ใช่ความท้าทาย แต่เป็นความสุขของทุกคนที่ได้ทำ

การสร้างวัฒนธรรมที่มีจริยธรรมและให้ทุกคนยึดมั่นในจรรยาบรรณธุรกิจจึงเริ่มตั้งแต่การรับพนักงานใหม่ โดยการสัมภาษณ์ในเรื่องกิจกรรมที่ทำและทัศนคติจากการตอบคำถามในมุมต่าง ๆ จนทำให้บริษัทสัมผัสได้ว่า คน ๆ นี้ มีศีลธรรม มีจริยธรรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะปลูกฝังจรรยาบรรณธุรกิจได้ง่าย

“นอกจากการคัดเลือกคนที่มีศีลธรรมแล้ว ฟรีวิลล์ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารจรรยาบรรณธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจและสามารถปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันได้”

การสื่อสารจรรยาบรรณธุรกิจ จำเป็นต้องสื่อให้ชัดเจนว่า องค์กรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เช่น การกำหนดเกณฑ์ให้พนักงานต้องสอบผ่านจรรยาบรรณธุรกิจ 100 % ทั้งองค์กร “สิ่งนี้เป็นการบอกให้พนักงานทุกคนรู้ว่า องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รวมทั้งการฝึกอบรมจรรยาบรรณธุรกิจให้คู่ค้า เพื่อบอกกับคู่ค้าว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รวมทั้งการสื่อสารด้วยกิจกรรม แนวทางอื่น ๆ เช่น การชื่นชม เมื่อพนักงานปฏิบัติดีตามแนวทางเหล่านี้”

แต่ถ้าหากจะต้องมีการลงโทษ กรณีไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ  คุณอรฉัตร ย้ำว่า “เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก การใช้บทลงโทษจำเป็นต้องพิจารณาและตัดสินใจให้ดี  ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ต้องหาข้อเท็จจริง ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า มนุษย์เรามีศักดิ์ศรี มีตัวตน ต้องการการยอมรับ ต้องการการชื่นชม เพราะฉะนั้นหากต้องมีการลงโทษ ก็ต้องระมัดระวัง ต้องคำนึงถึงความรู้สึก”

คุณอรฉัตร มองว่า มนุษย์ทุกคนเป็นคนดี การที่ทำอะไรผิดพลาดไป อาจจะเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีเหตุอันจำเป็นจริง ๆ หรืออยู่ในกลุ่มที่เข้าใจอะไรผิด  ดังนั้นบริษัทต้องค้นหา ค้นให้ลึกที่สุดว่า เพราะอะไร เป็นเพราะบริษัทสื่อสารไม่ดี หรือเป็นเพราะว่า แนวทางของบริษัทยังไม่ชัดเจนเพียงพอ หรือเป็นเพราะว่าแนวทางการควบคุมการกำกับดูแลของแต่ละทีมยังขาดตกบกพร่อง แล้วต้องปรับเปลี่ยนอะไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทสามารถติดตามและปรับปรุงให้ดีขึ้น

“ที่ฟรีวิลล์ กระบวนการกำกับดูแลการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ จะไม่เพ่งเล็งว่าคนนี้ ไม่โอเค คนนี้ทำไม ทำแบบนี้ เพราะในโลกใบนี้ ไม่มีใครดี 100% หรือไม่ดี 100% ถ้าเราไปได้ยินมาว่านาย ก. ดีทุกอย่าง เราต้องมีคำถาม ว่าเป็นไปได้อย่างไร ที่จะดีหมดทุกอย่าง เพราะอะไรที่ดีผิดปกติ ก็ไม่ปกติ อะไรที่ไม่ดีผิดปกติ ก็ไม่ปกติ ที่สำคัญเราคำนึงเสมอว่าทุกคนมีศักดิ์ศรี มีตัวตน ต้องการการยอมรับ ต้องการการชื่นชม เพราะฉะนั้น หากเราปฏิบัติดีต่อพนักงาน เราก็จะได้รับความร่วมมือที่ดี”

ทั้งนี้จากการสุ่มตรวจสอบของเครือฯ สะท้อนชัดเจนว่า พนักงานส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มเจนวายค่อนข้างตระหนักและให้ความสำคัญของจรรยาบรรณธุรกิจ ซึ่งจากผลการสุ่มตรวจประมาณ 20 คน พบว่า เกือบ 100% ตอบว่า เขามีจริยธรรม จรรยาบรรณอยู่ในใจอยู่แล้ว และเขาจะไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณธุรกิจ

นี่คือกรอบกว้าง ๆ ที่ฟรีวิลล์  ใช้ในการดำเนินการขับเคลื่อนและติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจในองค์กร……

“ทรู”  มุ่งปลูกฝังให้เกิดพฤติกรรมที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณธุรกิจ

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า จริยธรรมและจรรยาบรรณธุรกิจนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องของธุรกิจเราเพียงอย่างเดียว แต่ถือเป็นหลักสากล หากไม่ปฏิบัติตาม นอกจากจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงแล้ว อาจไม่ได้รับความไว้วางใจ หรือถูกปฏิเสธที่จะร่วมธุรกิจกับเรา ซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้มากกว่าที่เราคาดคิดไว้”

นั่นเป็นมุมมองของคุณศิริพจน์ คุณากรพันธุ์ (Acting) Group Chief Human Resources กลุ่มทรู

สำหรับ “ทรู” แล้ว การปลูกฝังจรรยาบรรณธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากให้พนักงานปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ (responsibilities) ยังเสริมให้มีแนวคิดของการเป็นเจ้าของร่วม (accountability) ที่มุ่งเน้นให้ คิด พยายาม และทำนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในหน้าที่ รวมถึงกระตุ้นให้ยั้งคิดหรือทบทวนการปฏิบัติแม้สิ่งนั้นไม่ได้ถูกระบุไว้ว่าเป็นข้อห้าม เพื่อรักษาผลประโยชน์หรือป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการสื่อสารที่ต้องคอยเน้นย้ำว่านโยบายของ “ทรู” ให้ความสำคัญกับจรรยาบรรณธุรกิจ สะท้อนได้จากการที่ผู้บริหารของทรูเข้าร่วมในกิจกรรมเรียนรู้และทดสอบประมวลจริยธรรมประจำปีเช่นเดียวกับพนักงานทุกคน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับพนักงาน

“นอกจากการมุ่งเน้นอบรม สื่อสารแล้ว ยังมุ่งให้ความรู้จากกรณีศึกษา ทั้งภายในและ เพื่อเป็นตัวอย่างในการคิดวิเคราะห์ให้กับพนักงาน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เน้นย้ำกระบวนการที่ต้องตระหนักต่อหลักจริยธรรมว่าควรต้องปฏิบัติและตัดสินใจอย่างไร การถอดบทเรียน (lesson-learned) ผ่านการมองย้อนกลับไป (look back) ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นการปลูกฝังให้เกิดมีพฤติกรรม (behavior-based) ที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณธุรกิจ” คุณศิริพจน์กล่าว

“ทรู” จัดให้มี Knowledge Management System เพื่อเป็นที่เผยแพร่ จัดเก็บ และเป็นศูนย์กลางข้อกำหนด แนวปฏิบัติ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา มีข้อมูลเพียงพอในการปฏิบัติงานหรือการตัดสินใจในทุก ๆ สถานการณ์ที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณธุรกิจ รวมทั้งการตรวจสอบเพื่อนำผลมาพัฒนาต่อไป

ทรูยังให้แต่ละหน่วยงานติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของตนเอง โดยมีกระบวนการตรวจสอบอยู่ในทุกขั้นตอนไปจนถึงการสอบทานหลังเสร็จสิ้นงานหรือกิจกรรม และทุกคนมีหน้าที่ที่จะโต้แย้ง หากเห็นว่ามีความผิดปกติหรือมีแนวโน้มที่จะขัดต่อจริยธรรมหรือจรรยาบรรณธุรกิจ สามารถรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือช่องทางรับเรื่องในทันที

คุณศิริพจน์ย้ำว่า การที่พนักงานทุกคนยอมรับในหน้าที่ของการตรวจสอบควบคุมดูแลอยู่เสมอ เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะป้องกันหรือลดความเสียหาย มากกว่ากลไกการตรวจสอบด้วยหน่วยงานตรวจสอบ

นอกจากนี้ในกระบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริงไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแต่การลงโทษทางวินัยกับพนักงานที่กระทำความผิดเท่านั้น แต่สิ่งที่ทรูให้ความสำคัญยิ่งกว่า คือการแก้ไขปัญหาในกระบวนการทำงาน หรือช่องโหว่ที่นำไปสู่การกระทำที่ไม่สอดคล้องกับจรรยาบรรณธุรกิจ ซึ่งจะต้องนำมาวางแผน ป้องกันและปรับปรุง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมและครบถ้วน โดยมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินประสิทธิภาพการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับวงจรบริหารงานคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

กล่าวโดยสรุปคือ ทรูมุ่งเน้น การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเน้นย้ำเพื่อให้ “จรรยาบรรณธุรกิจ” ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นพฤติกรรม การควบคุมตรวจสอบเพื่อระบุปัญหาหรือแนวโน้มที่จะเกิดปัญหา และนำมาสู่การวางแผนและป้องกัน โดยจะต้องมีกระบวนการติดตามและประเมินผล เพื่อให้กิจกรรมเหล่านี้ดำเนินการเป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง