CPF แบ่งปันประสบการณ์ เดินหน้า “สู่เป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ”

คุณจีระณี จันทร์รุ่งอุทัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักพัฒนาความยั่งยืน CPF ร่วมเสวนาในรูปแบบออนไลน์ หัวข้อ “การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนผ่านแนวทางการเปิดเผยข้อมูลการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ” จัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
คุณจีระณี กล่าวว่า CPF ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์เป็น “ครัวของโลก” กำหนดกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ พร้อมทั้งได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ ตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ การแปรรูปอาหารและการผลิตอาหารสำเร็จรูปให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งมั่นมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิต
ปัจจุบัน CPF เดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 สู่องค์กรคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Organization) โดยกำหนดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ไว้ 3 ด้าน คือ 1.Zero Waste จากกระบวนการผลิตของบริษัทฯ 2.Zero Deforestation จากกระบวนการจัดซื้อ
จัดหาจากแหล่งถูกต้องตามกฏหมายไม่ทำลายป่าไม้ และ 3.Zero Food Waste ด้วยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการลดขยะอาหาร รวมถึงเดินหน้าวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารสัตว์รักษ์โลก (climate-friendly feed product) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนจากมูลของสัตว์ และยังถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับเกษตรกรในโครงส่งเสริมอาชีพให้ดำเนินกิจการไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ CPF ให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนผลิต (Production Efficiency) อาทิ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) การขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากลดคาร์บอน (Responsible Product Labelling) เพื่อร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ปัจจุบันสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนคิดเป็นสัดส่วน 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมด     ของบริษัทฯ ขณะเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจสุกรของซี CPF ดำเนินงานตามแนวทางฟาร์มสีเขียว 100% คือ มีการหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การนำมูลสัตว์ไปหมักได้ก๊าซชีวภาพ ที่สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในฟาร์ม (Biogas) ส่วนน้ำเสียในฟาร์มผ่านการบำบัดจนได้ค่ามาตรฐานและแบ่งปันให้กับเกษตรกรรอบฟาร์มสุกร เป็นต้น
สำหรับการเสวนาในวันนี้ มีบริษัทชั้นนำร่วมแบ่งปันประสบการณ์ อาทิ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล และ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านก๊าซเรือนกระจกจาก อบก. และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศจาก PricewaterhouseCooper (PwC)
Cr.PR CPF