CPF เดินหน้าตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน พร้อมบูรณาการมูลนิธิ LPN ขับเคลื่อนองค์กรสู่สากล

CPF ตระหนักถึงความเสี่ยงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ดำเนินงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในองค์กรต่อเนื่อง ร่วมมือกับ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network Foundation : LPN) องค์กรประชาสังคมพันธมิตร สานต่อโครงการจัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนแก่พนักงาน และการดำเนินงานศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voices Hotline by LPN” เป็นปีที่ 5 พร้อมทั้งตรวจสอบกระบวนการจ้างงานอย่างมีจริยธรรม เพื่อให้มั่นใจการสรรหาแรงงานข้ามชาติของซีพีเอฟอยู่ภายใต้กฎหมาย โปร่งใส มีความเป็นธรรม และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล CP-CPF กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายจ้างงานอย่างมีจริยธรรม ปฏิบัติต่อแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย เท่าเทียมและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติโดยสิ้นเชิง (Zero-Tolerance Approach) ส่งเสริมความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง โดยมีการจ้างพนักงานต่างชาติจากประเทศต้นทางเป็นพนักงานโดยตรงของบริษัทฯ ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกับพนักงานชาวไทย ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานที่ส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีภายใต้กระบวนการตรวจประเมินสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence : HRDD) CPF เริ่มตรวจประเมินสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตั้งแต่ปี 2559 และจัดทำทุก 3 ปี รวมถึงทบทวนความเสี่ยงและมาตรการการจัดการเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนภายใต้กลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action
ในปีนี้ CPF ตรวจประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Risk Assessment : HRRA) เพื่อระบุความเสี่ยงสำคัญและลดโอกาสเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าของกิจการในและต่างประเทศ รวม 17 ประเทศ ครอบคลุมพนักงานของบริษัทและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย กลุ่มความหลากหลายเรื่องเพศ (LGBTQI+) เชื้อชาติ ศาสนา กลุ่มผู้บกพร่องทางร่างกาย และผู้เปราะบาง นอกจากนี้ กระบวนการตรวจประเมินดังกล่าวยังรวมถึงบริษัทร่วมทุนและกิจการควบรวมด้วย
นอกจากนี้ CPF ได้เลือกประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Impact Assessment : HRIA) ใน “กลุ่มพนักงาน” (Employees) ในไทย ว่าได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงแท้จริง (Actual Risks) อย่างไร และการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้มากที่สุด
ความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของ CPF ที่จะให้พนักงานต่างชาติได้รับการปฏิบัติที่ดี และเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม จึงพัฒนาหลักสูตรจัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนเฉพาะสำหรับพนักงานกลุ่มเปราะบาง รวมถึงพนักงานต่างชาติ ซึ่งในปีที่ผ่านมา การวัดผลความเข้าใจหลังอบรม แสดงให้เห็นว่าพนักงานเข้าใจมากขึ้นในเรื่องสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน ยังให้ความสะดวกแก่พนักงานต่างชาติ เช่น มีล่ามประจำโรงงาน ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพนักงานต่างชาติขณะทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยอย่างมั่นใจ เปิดโอกาสให้พนักงานต่างชาติร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะแก่บริษัทได้นำไปพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานและสวัสดิการที่เหมาะสมกับพนักงานทุกกลุ่ม สร้างความมั่นใจว่าพนักงาน CPF ทุกคนได้รับการปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานสากล
คุณสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ LPN กล่าวว่า มูลนิธิ LPN และ CPF บูรณาการทำงานขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายในองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างความมั่นใจว่าพนักงาน CPF ทุกคน ทุกระดับ ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติได้รับการปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานสากล โดยในปีนี้ มูลนิธิฯ จัดกิจกรรมอบรมด้านสิทธิมนุษยชนแก่พนักงานของ CPF ในสถานประกอบการทั่วประเทศ โดยยังเน้นให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน กฎหมายแรงงาน ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน ส่งเสริมการใช้ช่องทางศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voices Hotline by LPN” เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความเห็น ข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อร้องเรียนต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ
ในปีนี้ มูลนิธิ LPN ได้ร่วมตรวจประเมินสถานะการจัดจ้างพนักงานต่างชาติตามหลักการการจ้างงานอย่างมีจริยธรรม (Ethical Recruitment) ในรูปแบบ social audit โดยการสอบถามและพูดคุยกับพนักงานต่างชาติ เพื่อให้ซีพีเอฟมั่นใจว่าการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปด้วยความรับผิดชอบ ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ มีความโปร่งใส และเพื่อพัฒนาขั้นตอนการจัดจ้างพนักงานต่างชาติให้รัดกุมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และลดโอกาสเกิดการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย แรงงานขัดหนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์
Cr.PR CPF