CPF ร่วมแชร์ประสบการณ์ สู่ Net-Zero เวทีประชุมนานาชาติความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิก

คุณพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง CPF ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Transition with Collaborative Actions) ในการประชุมวิชาการนานาชาติ “16th Asia Pacific Roundtable on Sustainable Consumption and Production” จัดโดย สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ ThaiSCP ร่วมกับ เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งเอเชียแปซิฟิก (APRSCP) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ
คุณพีรพงศ์ กล่าวว่า CPF ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรที่มีการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก และส่งออกสินค้ามากกว่า 40 ประเทศ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี 2050 ซึ่งการเสวนาในวันนี้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในสิ่งที่ CPF ดำเนินการเพื่อมุุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แลกเปลี่ยนวิธีการต่างๆ และทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งล่าสุด CPF แสดงความมุ่งมั่นต่อองค์กร Science Based Target Initiatives (SBTi) กำหนดให้ใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ CPF ทั่วโลกในปี 2020 เป็นปีฐาน เพื่อวางแผนและกำหนดเป้าหมาย CPF ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นเป้าหมายของปี 2030 และ เป้าหมายปี 2050 เพื่อมุ่งสู่ Net-Zero ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่บริษัทฯ ความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้
สำหรับการเสวนา ในหัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Transition with Collaborative Actions) ซีพีเอฟ นำประสบการณ์และเรื่องที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้วด้วยแนวทาง BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular- Green- Economy Model หรือ BCG) มาใช้ อาทิ การใช้พลังงานชีวภาพ (Biogass) ในการผลิตไฟฟ้าในฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ นำมูลสัตว์มาหมักเป็นแก๊ส และนำแก๊สไปผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ในปี 2022 บริษัทฯ ประกาศจุดมุ่งหมายชัดเจนในการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน (Coal Free 2022) สำหรับกิจการในไทย และเปลี่ยนมาใช้พลังงานชีวมวลจากไม้สับแทน
ปัจจุบัน CPF มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์) อยู่ที่ 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 690,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยพยายามขยายการผลิตพลังงานเหล่านี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น การติดตั้งโซลาร์เซล ซึ่งในปี 2566 จะดำเนินการได้ 65 เมกะวัตต์ ติดตั้งในฟาร์มและโรงงานมากกว่า 200 แห่งของ CPF และเป้าหมายในปี 2568 จะดำเนินการให้ได้ 100 เมกะวัตต์
คุณพีรพงศ์ กล่าวว่า CPF ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก ได้ประกาศเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action มุ่งมั่นมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้บรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2050
ส่วนการดำเนินธุรกิจ CPF ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ที่่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหาร ช่วยให้ CPF สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง ได้มาตรฐานปลอดภัยได้อย่างต่อเนื่องในทุกสถานการณ์ ซี่งในช่วงโควิด CEO ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ด้วยการปรับลดระยะเวลาเครดิตเทอม หรือ การชำระเงินค่าสินค้าและบริการภายใน 30 วัน แก่คู่ค้า SME ของบริษัทฯ 6 พันราย ให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีและรักษาธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ปัจจุบัน ได้ขยายโครงการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดย CPF ร่วมกับ ธ.กรุงเทพ เปิดตัวโครงการ “CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า” มอบสินเชื่อหมุนเวียนด้วยดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อช่วยให้คู่ค้าเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
Cr.PR CPF