‘GCNT-UNFCCC’ ระดมผู้เชี่ยวชาญระดับโลกร่วมแบ่งปันประสบการณ์แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก บนเวทีเสวนาออนไลน์ “Race to Zero: Meet the World’s Race to Zero Heroes for Climate Action”

 ‘GCNT-UNFCCC’ ระดมผู้เชี่ยวชาญระดับโลกร่วมแบ่งปันประสบการณ์แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก บนเวทีเสวนาออนไลน์ “Race to Zero: Meet the World’s Race to Zero Heroes for Climate Action”พร้อมกระตุ้นภาคธุรกิจไทยมุ่งมั่นสู่เป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับ United Nations Thailand และ UNFCCC จัดการประชุมเสวนาออนไลน์ หัวข้อ  “Race to Zero: Meet the World’s Race to Zero Heroes for Climate Action” เพื่อร่วมแบ่งปันความรู้ข้อมูล และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก

รวมทั้งนำเสนอให้เห็นบทบาทที่สำคัญของภาคธุรกิจเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในแคมเปญ Race to Zero เพื่อวางแนวทางและลงมืออย่างเป็นรูปธรรมให้บรรลุสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีตัวแทนจากภาคีต่างๆทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และประชาสังคม ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมรับฟังกว่า 300 คน

ในงานเดียวกันนี้ มีบุคคลชั้นแนวหน้าที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในระดับโลกมาร่วมเสวนาให้ความรู้ทั้งในมิติวิชาการ วิทยาศาสตร์ การทำความเข้าใจถึงกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อรับมือปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับเกียรติจากคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และคุณเยนส์ ราดชินสกี ผู้นำระดับภูมิภาคจาก United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) กล่าวนำเสวนา พร้อมเชิญบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในระดับนานาชาติเข้าร่วมเสวนา อาทิ คุณแดนเยล์ มากาลฮัส จาก UNFCCC คุณฟิโอนา แมคลิน ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ Race to Zero คุณเอ็มมา วัทสัน จากโครงการริเริ่มเพื่อเป้าหมายที่อิงวิทยาศาตร์ (Science Based Targets Initiative) คุณทอม ดาวดัล จาก องค์กร Carbon Disclosure Project (CDP) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบแคมเปญ Business Ambition for 1.5 ร่วมเสวนา

คุณนพปฏล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการนำเสนอพัฒนาการล่าสุดถึงการจัดการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ร้ายแรงขึ้นทุกขณะ โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ IPCC ได้เผยแพร่รายงานประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลกล่าสุดที่เลขาธิการสหประชาชาติเรียกรายงานฉบับนี้ว่า Code Red ที่สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์โลกร้อนเข้าสู่ภาวะที่รุนแรงมาก

รายงานสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อการเกิดสภาวะอากาศแปรปรวนอย่างสุดขั้วในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยขณะนี้กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในภาคพื้นดินร้อนขึ้น 1.59 องศาเซลเซียส ส่วนในมหาสมุทรอุณหภูมิสูงขึ้น 0.88 องศาเซลเซียส ดังนั้นสภาพอากาศที่แปรปรวนสุดขั้วกำลังอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น

นอกจากนี้ยังน่าห่วงถึงความล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลเกิดปรากฏการณ์ความเป็นกรดในน้ำทะเล ปัญหาปะการังฟอกขาว สัตว์ทะเลได้รับผลกระทบจนสูญเสียแหล่งขยายพันธุ์ ซึ่งเหล่านี้เชื่อมโยงถึงแหล่งโปรตีนสำหรับประชากรโลกด้วย

“วันนี้ทั่วโลกเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันและทำงานให้หนักขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ ซึ่ง GCNT ทำงานร่วมกับองค์กรธุรกิจที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำในการจัดการกับความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นการขับเคลื่อนในรูปแบบความร่วมมือที่มุ่งมั่นและแบ่งปันความรู้ในการจัดการปัญหานี้ร่วมกัน และทำให้ภาคเอกชนต่าง ๆ เข้าใจในเนื้อแท้เพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง เห็นเป้าหมายที่ชัดเจน และเข้าใจถึงการขับเคลื่อนต่าง ๆ ผ่านคำที่มีชื่อเรียกในทางเทคนิคทั้ง Race to Zero, Net Zero,  Carbon Neutral, Science-based targets เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามของภาคธุรกิจเอกชนไทยและทุกภาคส่วนในสังคมในการรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเชื่อมั่นว่าในเรื่องการจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องต้องใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นที่มากขึ้นเช่นกัน”คุณนพปฎลกล่าว

สำหรับวงเสวนาได้นำเสนอให้เข้าถึงใจความสำคัญของภาคธุรกิจเอกชนทั่วโลกที่ต้องร่วมมือเป็นแนวหน้ากับภาครัฐในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้บรรลุตามเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่พยายามจำกัดให้อุณภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมได้ผ่านโครงการริเริ่มเพื่อเป้าหมายที่อิงวิทยาศาตร์ (Science Based Targets Initiative) ที่มีการกำหนดแนวนโยบายและตัวชี้วัดของภาคเอกชนต่าง ๆ ต่อนโยบายด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือและวัดผลได้ทางวิทยาศาสตร์

ปัจจุบันมีภาคธุรกิจเอกชนนับพันแห่งเข้าร่วมปฏิบัติการณ์ที่จะนำไปสู่การช่วยลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์อย่างเป็นรูปธรรม และยังได้นำเสนอแคมเปญ Race to Zero ที่มีหน่วยงานและภาคธุรกิจจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 4,500 ราย มาร่วมปฏิญาณและให้พันธสัญญาร่วมกันที่จะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์

พร้อมยังเชิญชวนให้ภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ในประเทศได้มาเข้าร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน รวมทั้งยังได้หารือถึงความคาดหวังและประเด็นที่จะเกิดขึ้นในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ซึ่งเป็นเวทีประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศในปลายปีนี้ที่จะมีความก้าวหน้าในเรื่องการสร้างกฎระเบียบต่างๆในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนนำเสนอให้เห็นพัฒนาการเชิงบวกในเรื่องการจัดการโลกร้อนต่อไป

ที่มา : http://www.cp-enews.com/