ภาวะเรือนกระจก และก๊าซเรือนกระจกมีความสำคัญอย่างไรกับโลกของเรา 

Cr : ภาพกรุงเทพธุรกิจ

“ทำไมทุกวันนี้บ้าน (โลก) ของพวกเราร้อนขึ้นจังเลย…น้ำแข็งก็ละลายไปเยอะแล้ว”

“ก็เพราะว่ามีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปนะสิ โลกของเราจึงร้อนขึ้นมาก”

“แล้วก๊าซเรือนกระจกคืออะไรกันนะ…ทำไมบนโลกนี้ต้องมีก๊าซเรือนกระจกล่ะ?”

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHGs) เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการกักเก็บและดูดซับคลื่นรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ได้ ดังนั้นก๊าซเหล่านี้จึงมีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกเป็นอย่างมาก

ในภาวะปกติดวงอาทิตย์จะแผ่รังสีเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกในลักษณะของรังสีคลื่นสั้นและสะท้อนกลับขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศในลักษณะของรังสีคลื่นยาวหรือรังสีอินฟาเรด และพลังงานความร้อนบางส่วนจะถูกก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ดูดซับไว้

ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกอยู่ในระดับที่พอเหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งเป็นกลไกในระบบชีวาลัย (Biosphere) ที่สมดุลและสมบูรณ์แบบมาก ๆ แต่ในขณะที่ดาวศุกร์มีก๊าซเรือนกระจกหนามากจนทำให้มีอุณหภูมิร้อนเกินไปสำหรับมนุษย์ ส่วนดาวอังคารก็แทบไม่มีก๊าซเรือนกระจกอยู่เลย จึงมีอุณหภูมิที่เย็นเกินไป

Cr : ภาพ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดังนั้นจึงถือได้ว่า ภาวะเรือนกระจกนี้เองที่ทำให้ดาวเคราะห์โลกได้ชื่อว่าเป็น “ดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อสรรพชีวิต” ซึ่งหากบรรยากาศโลกไม่มีก๊าซเรือนกระจก ดังเช่นดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ แล้วจะทำให้อุณหภูมิในตอนกลางวันนั้นร้อนจัด และในตอนกลางคืนนั้นหนาวจัด

เนื่องจากก๊าซเหล่านี้ดูดคลื่นความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วค่อย ๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จึงทำให้โลกมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ นั่นเอง นี่เองจึงเป็นเหตุผลว่า ภาวะเรือนกระจกมีความสำคัญต่อโลกของเรา

แต่ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกมีปริมาณมากเกินไป จึงทำให้โลกของเราร้อนขึ้น จนเกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) นั่นเอง แล้วก๊าซเรือนกระจกนี้ เกิดมาจากไหนกันนะ มาติดตามกันต่อนะครับ

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) นั้น เกิดขึ้นได้จาก 2 ส่วน คือ (1) เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและ (2) เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินี้ จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวได้อย่างสอดคล้องกันเช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากลมหายใจของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ นั้น ก็จะมีทั้งต้นไม้บนบก พืชในน้ำ หรือมหาสมุทรที่คอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้ไว้ โดยต้นไม้หรือพืชก็จะปล่อยออกซิเจนออกมาให้กับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เป็นวัฎจักรและวงจรที่สมดุล

สาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เกิดจากการกระทำและกิจกรรมของมนุษย์นั่นเอง เช่น การขุดพลังงานฟอสซิล อย่างน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติมาใช้ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว เกินกว่าที่ต้นไม้และพืชต่าง ๆ รวมถึงมหาสมุทรจะดูดซับไว้ได้ อีกทั้งการเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และสร้างที่อยู่อาศัย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งทำให้คาร์บอนที่สะสมอยู่ในเนื้อไม้ ในราก ในดิน ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น

ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มีทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ไอน้ำ โอโซน และ สารซีเอฟซี ซึ่งจากสถานการณ์ที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปนี้เอง จึงได้เกิดข้อตกลงการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในระดับโลก และระดับประเทศไทย

หวังว่าความเข้าใจนี้จะทำให้ทุกคนเกิดความตระหนัก และจิตสำนึก ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อทุกชีวิต รวมถึงไม่ต้องสูญพันธุ์จากโลกนี้ไปนะครับ

ที่มา : https://www.carethebear.com