สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพี Q2/65 โต 2.5% คาดทั้งปีขยายตัว 2.7-3.2%


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สภาพัฒน์ฯปรับ GDP ปี’65 ขยายตัวในช่วง 2.7-3.2% ลดลงจากเดิมเล็กน้อยที่เคยคาดว่าขยายตัว 2.5-3.5% ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้ พบว่าขยายตัวแค่ 2.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกแค่ 0.7% โดยในปีนี้มีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ อาทิ มูลค่าการส่งออกที่คาดว่าขยายตัว 7.9% – การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.4% – การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1% และภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์ฯ” กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่า จากการที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปี 2565 ขยายตัวอยู่ที่ 2.5% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนขยายตัวร้อยละ 2.3 (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ร้อยละ 0.7 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.4 ส่วนแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 สภาพัฒน์ฯ คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 6.3 – 6.8 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 1.6 ของ GDP โดยการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 มีรายละเอียดดังนี้

1.การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.4 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในปี 2564 และเป็นการปรับขึ้นจากร้อยละ 3.9 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการบริโภคในช่วงครึ่งแรกของปีที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ และยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังตามฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศของภาครัฐ และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2564 และเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการคงสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายงบประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ร้อยละ 98 ของวงเงินงบประมาณ รวมทั้งการเบิกจ่ายภายใต้แผนงานและโครงการที่ได้รับการอนุมัติภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท

2.การลงทุนรวม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เทียบกับร้อยละ 3.4 ในปี 2564 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในประมาณการครั้งก่อน โดย (1) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับร้อยละ 3.3 ในปี 2564 และปรับลดจากร้อยละ 3.5 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการการส่งออก และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา และ (2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับร้อยละ 3.8 ในปี 2564 และปรับลดลงจากร้อยละ 3.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในช่วงสามไตรมาสแรกของปีงบประมาณที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และการปรับลดประมาณการอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.9 เทียบกับร้อยละ 19.2 ในปี 2564 และปรับเพิ่มจากร้อยละ 7.3 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกจากเดิมร้อยละ 3.3 – 4.3 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 4.0 – 5.0 ในการประมาณการครั้งนี้ ในขณะที่ปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 3.4 ตามการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มปริมาณการส่งออกบริการตามการปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 9.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.3 ในการประมาณการครั้งก่อน และร้อยละ 10.4 ในปี 2564

นายดนุชา กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 ควรให้ความสำคัญดังนี้

(1) การติดตามและดูแลกลไกตลาด เพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและภาระดอกเบี้ยแบบมุ่งเป้า

(2) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับ (i) การบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาต้นทุนการผลิต (ii) การเตรียมการและป้องกันปัญหาจากอุทกภัย และ (iii) การเพิ่มส่วนแบ่งของเกษตรกรในรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย

(3) การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ท่ามกลางแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งเตรียมมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ

(4) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ (ii) การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า (iii) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ และ (iv) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน

(5) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดย (i) การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง (ii) การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาประกอบธุรกิจ (iii) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และ (iv) การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

(6) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562 – 2564 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ii) การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต (iii) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก และอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (iv) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค (v) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ และ (vi) การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง

(7) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ

(8) การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ให้ขยายตัวร้อยละ 2.5 และเมื่อรวมกับครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.4 มีรายละเอียดดังนี้

ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น การส่งออกสินค้า การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง ขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงต่อเนื่อง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นและมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวร้อยละ 13.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มนันทนาการและวัฒนธรรมร้อยละ 56.9 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ และการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวร้อยละ 1.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายหมวดเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง และกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้าร้อยละ 1.0 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอลงของการใช้จ่ายกลุ่มไฟฟ้าและก๊าซฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัวร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะร้อยละ 10.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 14.1 ในไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ในไตรมาสนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 34.9 จากระดับ 37.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของภาระค่าครองชีพท่ามกลางความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดขยายตัวร้อยละ 17.0 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 87.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) และค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 1.3 และร้อยละ 0.1 ตามลำดับ

สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 22.9 รวมครึ่งแรกของปี 2565 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.2 และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 4.7 การลงทุนรวม ลดลงร้อยละ 1.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนภาครัฐร้อยละ 9.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนรัฐบาลร้อยละ 15.1 ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 2.9 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 18.0 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 15.1 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 20.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนก่อสร้างลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ร้อยละ 1.3 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 8.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และหมวดการก่อสร้างเอกชนอื่น ๆ ปรับตัวลดลงร้อยละ 40.9 ตามการลดลงของกิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูซึ่งอยู่ในช่วงสุดท้ายของการก่อสร้างก่อนที่จะเริ่มเปิดให้บริการบางส่วนในปีนี้ รวมครึ่งแรกของปี 2565 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 0.1 โดยการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 6.8 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6

ในด้านภาคการค้าต่างประเทศ การส่งออกมีมูลค่า 74,523 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 14.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณและราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และร้อยละ 5.1 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 และร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี (ร้อยละ 4.9) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 7.0) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 9.4) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 3.8) อุปกรณ์และเครื่องมือด้านการแพทย์ (ร้อยละ 8.0) อาหารสัตว์ (ร้อยละ 21.6) ข้าว (ร้อยละ 46.6) ยางพารา (ร้อยละ 3.0) และน้ำตาล (ร้อยละ 113.6) เป็นต้น กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 48.3) รถกระบะฯ (ลดลงร้อยละ 9.6) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลงร้อยละ 10.1) ผลิตภัณฑ์ยาง (ลดลงร้อยละ 13.1) เป็นต้น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดส่งออกหลักขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีน ฮ่องกง และออสเตรเลียลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 9.9 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 20.5

ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 69,353 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 22.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 16.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และร้อยละ 13.9 ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5.2 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐ (178.4 พันล้านบาท) รวมครึ่งแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 147,811 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12.0 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 133,359 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19.4 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 14.5 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐ (485.0 พันล้านบาท)

ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่ง ขายปลีก และการซ่อมแซมฯ และสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น สาขาเกษตรกรรมและสาขาการไฟฟ้าและก๊าซฯ ชะลอตัว ในขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสาขาการก่อสร้างปรับตัวลดลง สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 4.4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวเปลือก (ร้อยละ 35.6) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 26.9) อ้อย (ร้อยละ 7.6) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 6.7) และไก่เนื้อ (ร้อยละ 1.0) เป็นต้น

ส่วนดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น สุกร (ลดลงร้อยละ 9.0) ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 8.9) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 9.6) กุ้งขาวแวนนาไม (ลดลงร้อยละ 10.0) และยางพารา (ลดลงร้อยละ 0.7) เป็นต้น ดัชนีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 โดยสินค้าเกษตรที่ดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น สุกร (ร้อยละ 28.9) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 85.1) ไก่เนื้อ (ร้อยละ 22.9) อ้อย (ร้อยละ 15.4) และยางพารา (ร้อยละ 9.4) เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง เช่น กลุ่มไม้ผล (ลดลงร้อยละ 23.4) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของทั้งดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 16.3 รวมครึ่งแรกของปี 2565 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวร้อยละ 4.6 สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของทุกกลุ่มการผลิต ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและการค้าโลก สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 0.7 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ลดลงร้อยละ 0.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 61.08 ต่ำกว่าร้อยละ 66.53 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 62.65 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ลดลงร้อยละ 29.6) การผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น (ลดลงร้อยละ 11.6) การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ลดลงร้อยละ 10.6) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม (ร้อยละ 14.6) การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 1.6) การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ร้อยละ 12.2) เป็นต้น รวมครึ่งแรกของปี 2565 สาขาการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.7 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.81 สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 44.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 33.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงและการเร่งขึ้นของการท่องเที่ยวในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

โดยในไตรมาสนี้มีรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยรวม 1.55 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 85.5 เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของภาครัฐ ความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน และการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 1,582,257 คน เพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ การเปิดพรมแดนประเทศทุกช่องทาง ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการเดินทางออกนอกประเทศของหลายประเทศ อัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 42.09 สูงกว่าร้อยละ 36.15 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าร้อยละ 8.24 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมครึ่งแรกของปี 2565 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวร้อยละ 39.3 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.08 ล้านคน และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 39.12 สาขาการขายส่งและการขายปลีกการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ร้อยละ 3.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยว รวมครึ่งแรกของปี 2565 การผลิตสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 2.9 สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 5.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของบริการขนส่งทางอากาศและบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง เป็นสำคัญ รวมครึ่งแรกของปี 2565 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวร้อยละ 4.7

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.37 ต่ำกว่าร้อยละ 1.53 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 1.89 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.3

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (29.7 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นการขาดดุลร้อยละ 7.0 ของ GDP ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,204,305.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.1 ของ GDP