รู้จักผู้บริหารใหม่ป้ายแดง “คุณวรพงษ์ สุธานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักบริหารความเสี่ยง เครือเจริญโภคภัณฑ์

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ปัจจัยทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และรูปแบบธุรกิจที่ไร้พรมแดน การบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าองค์กรจะสามารถขับเคลื่อนและเติบโตสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

ผ่านมาสองเดือนกับการเข้ามารับตำแหน่งใหม่ของ “คุณวรพงษ์ สุธานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักบริหารความเสี่ยง เครือเจริญโภคภัณฑ์ วันนี้ We are CP ได้มีโอกาสสนทนากับผู้บริหารรุ่นใหม่ คุณวรพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยง ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานอันยาวนานกับบริษัทที่ปรึกษาที่มีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือสูงอย่าง PwC (PricewaterhouseCoopers) และได้เข้ามาช่วยดูแลสำนักบริหารความเสี่ยง หน่วยงานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมาเสริมทัพการบริหารธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถจัดการกับความท้าทายและวิกฤติต่าง ๆ รวมทั้งตอบสนองต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วขององค์กรได้อย่างทันท่วงที

คุณวรพงษ์เล่าให้ฟังว่าได้มีโอกาสทำงานในสายงานด้าน Risk Consulting มาโดยตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสายงานที่ปรึกษาที่ให้บริการด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยการนำองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารธุรกิจ ซึ่งคุณวรพงษ์ทำงานในสายอาชีพนี้ที่ PwC อเมริกามาก่อนประมาณ 10 ปี ก่อนย้ายกลับมาสร้างธุรกิจด้านเดียวกันนี้ในฐานะ Partner ที่ PwC ประเทศไทย ส่วนรายละเอียดเส้นทางการทำงานของคุณวรพงษ์จะเป็นอย่างไร มาติดตามอ่านไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

ไปทำงานที่อเมริกาได้อย่างไร
หลังจากจบการศึกษาก็ได้ทำงานที่ประเทศอเมริกาเลย ในช่วงนั้น PwC ที่อเมริกาต้องการที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic Platform) เพื่อใช้ในการระบุรายการทางการเงินและการบัญชีที่มีความเสี่ยงสูง โดยเนื้อหางานที่ทำเป็นการพัฒนาโปรแกรมเพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถประมวลผลข้อมูลที่มีความซับซ้อนและมีปริมาณมากได้ ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก จึงตัดสินใจเข้าร่วมงานกับ PwC

ผมมีโอกาสได้ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Data Analytics ที่เก่งมาก หลายคน จากหลากหลายประเทศ ที่ Center for Advanced Research ของ PwC ที่ San Jose / Silicon Valley ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า Data Scientist เลย ผมมีโอกาสได้ร่วมพัฒนาระบบ Artificial Intelligence (AI) เพื่อนำมาใช้ระบุความเป็นไปได้ของการนำเสนองบการเงินที่ไม่ถูกต้องของบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้บริการ PwC ในการรับรองงบการเงิน โดยการนำงบการเงินของบริษัทที่มีปัญหามาเป็นข้อมูลตัวอย่างในการพัฒนา Model ของเรา

นอกจากงานด้าน Research & Development ลูกค้าที่ผมมีโอกาสได้ให้คำปรึกษาที่อเมริกา ส่วนใหญ่เป็นบริษัทไซส์ขนาดใหญ่ ติดอันดับฟอร์จูนโกลบอล 500 ในหลากหลายธุรกิจ เช่น Amazon Starbucks Boeing เป็นต้น นอกจากการทำงานที่เป็นโปรเจคเพื่อช่วยเหลือลูกค้าแล้ว ผมยังเป็น Product Manager ของ solutions sets ที่เราได้พัฒนาขึ้นมา คือพอทำงานโปรเจคจบเราก็ต่อยอดพัฒนา solutions sets ไปใช้กับลูกค้ารายอื่นต่อไป ซึ่งทำให้สามารถช่วยลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น

ประสบการณ์ที่ดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ การมีโอกาสได้แก้ไขปัญหาที่หลากหลาย ได้เดินทางไปทำงานในบริษัทหลาย ๆ ที่ทั้งในรัฐ นิวยอร์ก เท็กซัส เมืองซานฟรานซิสโก ซีแอตเติล พักโรงแรมอาทิตย์ละ 5 วัน โปรเจคละ 3-6 เดือน อาทิตย์สุดท้ายก่อนจะกลับมาเมืองไทย ผมยังบินจากชิคาโกไปทำงานที่ซานฟรานอยู่เลย พอสัปดาห์แรกที่เริ่มงานที่ PwC ประเทศไทยก็บินจากกรุงเทพฯ ไปทำงานที่กัวลาลัมเปอร์ ยังจำได้ว่าบอกตัวเองตอนอยู่บนเครื่องบินว่าน่าท้าทายดี

ทำไมถึงตัดสินใจย้ายกลับมาเมืองไทย
ตอนทำงานที่อเมริกาได้ 10 ปี ผมเป็น Director ซึ่งการที่จะได้เลื่อนตำแหน่งเป็น Partner ควรจะต้องมีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศมาก่อน และตอนนั้นก็มี Partner ท่านหนึ่งแนะนำว่า ผมน่าจะลองไปหาประสบการณ์ทำงานที่ประเทศไหนก็ได้ในอาเซียน

พอดีกับในช่วงนั้น ผมได้รับการทาบทามให้มาเปิดธุรกิจใหม่โดยการนำ Science ทางด้าน Forensic Accounting และ Forensic Technology มาใช้ในงานที่ปรึกษา ที่ PwC ประเทศไทย และ South East Asia ซึ่งรู้สึกว่าเป็นความท้าทายใหม่หลังจากที่ได้ครบรอบการทำงาน 10 ปีในอเมริกา จากจุดนี้จึงตัดสินใจย้ายมาเริ่มทำงานในเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2009 มาตอนแรกก็มีความท้าทายอยู่พอสมควร ผมย้ายมาเมืองไทยในช่วงแรกผมไม่รู้จักใครเลย เพราะไม่ได้อยู่เมืองไทยมาเกือบ 21 ปี ทุกอย่างเหมือนเริ่มต้นใหม่ ผมไม่มี Network ที่เมืองไทยมาก่อน ซึ่งทำให้ยากมากในการเปิดธุรกิจใหม่ ก็ต้องพยามทำหลายอย่างเพื่อที่จะรู้จักและให้เป็นที่รู้จัก เริ่มจากการไปงานสัมมนา ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ อย่างเช่น งาน Wine Testing งานประชุมต่าง ๆ ของแต่ละสมาคม พอมาช่วงระยะหลัง ถึงได้รับเชิญให้ไปพูดตามงานสัมมนาต่าง ๆ และได้จัดงานสัมมนาขึ้นเอง โดยเชิญลูกค้าเข้ามาฟังงานสัมมนาของเรา เพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักว่า Services เรา และ Risk Consulting ให้บริการอะไร

โดยในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 ปีในเมืองไทย ผมมีโอกาสได้สร้างทีมงานใหม่ พัฒนาบุคลากร ใช้เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ วิธีการใหม่ เพราะเป็นสายอาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อนในบ้านเรา ผมได้ทำงานเกี่ยวกับการรับมือ เยียวยา ให้คำปรึกษา และแก้ปัญหา ให้กับบริษัททั้งใหญ่และเล็ก สถาบันการเงินหลายบริษัท ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย รวมทั้งธุรกิจครอบครัว และยังมีโอกาสได้ทำงานกับองค์กรและบริษัทต่าง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านเราทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จะว่าไปแล้วก็เกือบทุกประเทศในอาเซียน

เหตุผลที่ตัดสินใจมาทำงานกับเครือเจริญโภคภัณฑ์
ผมรู้สึกว่าการที่ผมได้มีโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ในการให้บริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับงานด้านการบริหารความเสี่ยงที่ PwC ประเทศไทย ซึ่งถือว่ามีความท้าทายมาก เพราะเป็นตลาดเฉพาะที่ต้องทำความเข้าใจและต้องปรับวิธีการทำงานและเนื้อหางานให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche) ผมพอเป็นที่รู้จักและมี Network มากขึ้น เทียบจากที่ไม่เคยรู้จักใครเลย มีโอกาสได้ทำงานที่หลากหลายมาก ๆ ปีละ 60-70 โครงการ ทำงานให้ลูกค้ามามากกว่า 500 บริษัทในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงสร้างธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านการบริหารความเสี่ยงที่มีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับ PwC จนสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดในด้านนี้ ตรงนี้ผมก็รู้สึกว่า ผมได้ตอบโจทย์ตัวเองที่กลับมาเมืองไทยในตอนแรกแล้ว

อีกเหตุผลหนึ่งคือการทำงานในสายงานที่ปรึกษา ส่วนใหญ่เราจะทำในส่วนของ Design และ Implement แต่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปช่วยในส่วนงาน Operation มากนัก จึงเป็นเรื่องท้าทายว่างานที่เราสร้างและวางแผนขึ้นมา เมื่อนำไปใช้จริงจะมีผลอย่างไรในองค์กร อยากที่จะออกจาก Comfort Zone ของงานที่ปรึกษา และเป็น Personal Goal ในการพัฒนาและเรียนรู้ในเรื่องใหม่ ๆ เลยมองว่าเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากในสายอาชีพ ที่จะได้เรียนรู้ธุรกิจขององค์กรใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ และมีประสบการณ์มายาวนานอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์

ความประทับใจแรกที่มีต่อเครือเจริญโภคภัณฑ์
“เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี มีประวัติศาสตร์ที่น่าประทับใจมาอย่างยาวนาน และกำลังจะครบรอบ 100 ปี ซึ่งผมเองรู้สึกเป็นเกียรติที่มีโอกาสได้เข้ามาร่วมงานกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายกับการได้ร่วมทำงานกับผู้บริหารหลายท่านที่มีประสบการณ์มามากว่า 40-50 ปี” คุณวรพงษ์ฉายภาพความประทับใจแรกที่มีต่อเครือฯ ให้กับทีม We are CP

วิเคราะห์ “ความเสี่ยง” เพื่อจัดการกับ “ความไม่แน่นอน”
โดยทั่วไปคนจะมองกันว่า ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่เหมือนกัน แต่ที่จริงแล้วสองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ส่วนความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สามารถนำมาคิดคำนวณ และแปลงออกมาเป็นข้อมูลเชิงตัวเลขที่ชี้วัดได้ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยง จำเป็นต้องใช้ “องค์ความรู้จากประสบการณ์” ซึ่งได้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมา นำมาผสมผสานกับ “เทคโนโลยี” เพื่อให้สามารถประมาณและประเมินความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ และลดโอกาสที่จะเกิดความไม่แน่นอนให้ได้มากที่สุด ซึ่งสำคัญมากในการดำเนินธุรกิจในยุค 4.0

“ผมมองว่า องค์กรที่มีมานานจะครบ 100 ปี ต้องมีประสบการณ์และผ่านการลองผิดลองถูกกันมาเยอะมาก ซึ่งแน่นอนว่าในการบริหารความเสี่ยง เราไม่สามารถประเมินความเสี่ยง ผลกระทบ โอกาสในการเกิดและทางเลือกต่าง ๆ ว่ามีมากน้อยขนาดไหนจากการประเมินตามทฤษฎีเพียงอย่างเดียว เราต้องใช้สัญชาตญาณและประสบการณ์ของผู้บริหารหลายๆ ท่านที่สะสมมา 40-50 ปีมาใช้ร่วมด้วย ซึ่งผมอยากที่จะนำประสบการณ์ดังกล่าวมาผสมผสานกับแนวคิดและวิธีการสมัยใหม่ในด้านการวิเคราะห์ธุรกิจเชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) โดยคำนึงถึงทั้งเรื่องของ ทรัพยากร ข้อจำกัดต่าง ๆ และ Risk vs. Optimization มาพัฒนากระบวนการบริหารความเสี่ยงแบบใหม่ขององค์กรเรา” คุณวรพงษ์อธิบายถึงแนวคิดในการบริหารความเสี่ยงที่มีเป้าประสงค์ที่จะนำองค์ความรู้จากหลากหลายมิติมาผสมผสานกัน

แนวทางจากท่านประธานอาวุโส
“ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ เคยกล่าวถึงเรื่องซอฟต์แวร์อัจฉริยะ AI machine learning ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยให้กระบวนการในการตัดสินใจทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราอยากนำเรื่องของ Data Analytic เข้ามาช่วยในกระบวนการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพในการตัดสินใจ การวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยงให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากยิ่งขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ที่มีการแข่งขันสูง ในด้านต้นทุน คุณภาพ ความเร็ว และนวัตกรรม
นอกจากนี้ที่ผ่านมาเครือฯได้พยายามผลักดันเรื่องของกระบวนการทำงานที่มีระบบมากขึ้น ซึ่งการที่องค์กรนำ Risk Management เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงานอย่างจริงจังก็จะส่งผลให้สามารถรับมือกับความท้าทายและการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน แก้ปัญหา และเยียวยาได้ดีขึ้น

ฝากถึงพี่ๆ น้อง ๆ ในเครือฯ
คุณวรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งในสำนักบริหารความเสี่ยงที่จัดตั้งขึ้นใหม่อยากฝากบอกถึงพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ว่าเราเป็น Business Partner สำหรับทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ โดยการทำงานจะเป็นรูปแบบของการเดินหน้าไปด้วยกัน นำความคิดใหม่ๆ อย่าง 4.0 รวมไปถึงเครื่องมือเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วย ให้ผู้บริหารได้นำประสบการณ์และสัญชาตญาณที่สะสมมาช่วยในการตัดสินใจและการบริหารจัดการให้ทุกกลุ่มธุรกิจบรรลุถึงเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน สอดคล้องกับความยั่งยืนที่เครือฯให้ความสำคัญ

“ผมให้ความสำคัญกับเรื่องของประสบการณ์ เพราะสำคัญมาก ทุกวันนี้เราหาข้อมูล หาความรู้ได้ง่ายมากในอินเทอร์เน็ต แต่ประสบการณ์และสัญชาตญาณ (Heuristic) ของแต่ละท่าน ที่สะสมกันมาอย่างยาวนานเป็นสิ่งมีค่าที่หาอีกไม่ได้ จะนำมาผสมผสานโดยการใช้ Technology และ Analytics แบบใหม่ ๆ และปรับใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมั่นใจว่าองค์ความรู้ต่าง ๆ จะถูกนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาได้อย่างยั่งยืนในกระบวนการทำงานจริง เป็นสิ่งที่ผมอยากที่จะฝากไว้กับผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน ฉะนั้นผมจึงต้องการที่จะมาเป็น Business Partner เพื่อขับเคลื่อนวิธีการและความคิดไปด้วยกันครับ” คุณวรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายกับ We are CP

โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล /เยาวน์ปภัส รังสิกรรพุม Pr CPG

+++++++++