แบงก์ชาติทั่วโลกแห่ซื้อทองคำในปี 65 มากที่สุดในรอบ 55 ปี

สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเป็นทุนสำรองในปี 2565 รวมกันมากถึง 1,136 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510

ข้อมูลดังกล่าวของ WGC ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันอังคาร (31 ม.ค.) เป็นการเน้นย้ำว่า ธนาคารกลางทั่วโลกมีมุมมองเกี่ยวกับทองคำที่เปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990-2000 ซึ่งในเวลานั้น ธนาคารกลางต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางในยุโรปตะวันตกได้เทขายทองคำแท่งออกมาจำนวนหลายร้อยตันต่อปี

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552 ธนาคารในยุโรปได้หยุดขายทองคำในคลังสำรอง และพบว่ามีประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จำนวนมากขึ้นที่พากันซื้อทอง ซึ่งรวมถึงรัสเซีย ตุรกี และอินเดีย

คริสชัน โกพอล นักวิเคราะห์ของ WGC กล่าวว่า ธนาคารทั่วโลกต่างก็หันมาสำรองทองคำ เพราะเชื่อว่าทองคำจะยังคงมีมูลค่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก นอกจากนี้ ทองคำยังช่วยให้ธนาคารกลางสามารถกระจายความเสี่ยงที่นอกเหนือไปจากสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและดอลลาร์

“เป็นแนวโน้มที่ต่อเนื่อง คุณสามารถเห็นแรงขับเคลื่อนเหล่านั้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งเราเผชิญกับปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งมีความไม่แน่นอนและความผันผวนอย่างมาก” นายโกพอลกล่าว

ข้อมูลของ WGC ระบุว่า ธนาคารกลางตุรกี จีน อียิปต์ และกาตาร์ ต่างก็เข้าซื้อทองคำในปีที่แล้ว แต่ก็มีทองคำอีกราว 2 ใน 3 ที่ถูกซื้อโดยธนาคารกลางที่ไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งโดยปกติแล้วธนาคารกลางของประเทศที่ไม่เปิดเผยว่าได้เข้าซื้อทองคำสู่ระบบทุนสำรองนั้น ได้แก่ธนาคารกลางของจีนและรัสเซีย

ทั้งนี้ การเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางต่าง ๆ นั้น ส่งผลให้อุปสงค์ทองคำทั่วโลกในปี 2565 พุ่งขึ้น 18% จากปี 2564 สู่ระดับ 4,741 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554

อย่างไรก็ดี WGC คาดการณ์ว่า ปริมาณการซื้อทองคำโดยธนาคารกลางทั่วโลกในปี 2566 อาจจะไม่เท่ากับระดับในปี 2565

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์