ประธานอาวุโส เปิดเผยมุมมองของ “โควิด กับความมั่นคงทางอาหารโลก” ซีพีมองโลกในแง่ดี โดยมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระยะสั้นแต่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

ในการให้สัมภาษณ์พิเศษของประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กับสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563ที่ผ่านมาเกี่ยวกับมุมมองของ “โควิด กับความมั่นคงทางอาหารโลก” ประธานอาวุโสกล่าวว่าแม้โควิด-19 จะทำให้หลายประเทศต้องหยุดชะงัก หลายประเทศประสบปัญหาต้องปิดโรงงาน ทำให้อาหารขาดแคลนมาก แต่ซีพีมองโลกในแง่ดี โดยมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระยะสั้น สิ่งที่สำคัญคือการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในกระบวนการผลิตอาหาร เพราะเมื่อปัญหาคลี่คลาย ยุคต่อไปอาหารมีแต่จะเกิน เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยี และมีการผลิตอาหารที่ทันสมัย

ยิ่งประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ การขาดแคลนอาหารคงไม่เกิด แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ สินค้าเกษตรบางตัวล้นตลาด ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ดังนั้น การบริหารกลไกตลาดจึงมีความสำคัญ และ หากแก้ปัญหาชลประทานได้ด้วย เกษตรกรจะมีตัวเลือกในการเพาะปลูก เลือกพืชราคาสูงเพิ่มมากขึ้น และจะมีรายได้ดีขึ้น แต่ต้องสมดุลกับความต้องการตลาดด้วย

ประธานอาวุโส กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิด – 19 มีผลกับซีพี เพราะซีพีทำธุรกิจเกษตรและอาหาร ทำให้ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ หากบริหารไม่ดีแล้วปิดโรงงานก็จะกระทบหนัก แต่จนถึงวันนี้ยังถือว่าเตรียมความพร้อมได้ดี ทุกประเทศที่ซีพีไปทำธุรกิจยังดำเนินงานได้ต่อเนื่องไม่ถูกปิดโรงงาน ยกตัวอย่างที่ประเทศจีน ถือว่ากระทบไม่มากและปรับตัวได้ดี ไม่มีการขาดแคลนอาหาร การดูแลพนักงานมีรถรับส่ง มีที่พักในโรงงาน ดูแลเรื่องความปลอดภัยรอบด้าน ทั้งหมดนี้เพราะมีการเรียนรู้และมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ

หลายครั้งที่คนบอกว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยครั้งใหญ่ สร้างผลกระทบรุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง แต่ผมว่า ต้องมองโลกในแง่ดี ยามฟ้ามืด ต้องคิดถึงเมื่อยามสว่าง ผมมีนโยบายชัดว่า เราจะไม่ปลดคนงานจากปัญหาโควิด -19 ผมเชื่อว่าเป็นแค่อัมพาตชั่วคราว แต่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังอยู่ รัฐต้องประคองบริษัทรายเล็ก รายน้อยให้อยู่รอดเมื่อพ้นวิกฤตต้องลุกมาวิ่งได้”

ประธานอาวุโส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในยามที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประเทศไทยต้องคิดว่า จะต้องเตรียมความพร้อม อยู่รอดอย่างเดียวไม่พอ ต้องช่วยปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคหลังโควิด(new normal) ซึ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ถึงแม้ว่าธุรกิจอาหารจะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป ทำให้ซีพีในทุกประเทศต้องปรับตัว และต้องรวดเร็ว

ที่มา:ฐานเศรษฐกิจ