ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล เล่าถึงธุรกิจร้านกาแฟกาแฟมวลชนและการทำงานสังคม

ใครว่าธุรกิจร้านกาแฟอิ่มตัวไปแล้ว วันนี้ยอดขายมากกว่า 11 ล้านแก้ว/ปี คือสิ่งที่บอกได้เลยว่าธุรกิจร้านกาแฟยังไม่อิ่มตัว..“ใครว่าธุรกิจร้านกาแฟอิ่มตัวไปแล้ว วันนี้ยอดขายมากกว่า 11 ล้านแก้ว/ปี คือสิ่งที่บอกได้เลยว่าธุรกิจร้านกาแฟยังไม่อิ่มตัว แค่หาความต้องการของผู้บริโภคให้ได้”

ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ เล่าถึงธุรกิจร้านกาแฟกาแฟมวลชนที่ประสบความสำเร็จ แม้ใครๆ จะกล่าวว่าเป็นธุรกิจที่อิ่มตัวไปแล้ว
ทำสิ่งที่ยั่งยืนเท่านั้น

ดร.นริศ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจร้านกาแฟมวลชนว่าเกิดขึ้นจากแนวคิดในการทำซีเอสอาร์ตอนเรียนปริญญาเอก “ช่วงเวลานั้นกระแสการช่วยเหลือสังคมมาแรงมาก คือ เรื่องการทำซีเอสอาร์ CSR – Corporate Social Responsibility หรือการช่วยเหลือสังคม การทำธุรกิจซีเอสอาร์ในช่วงนั้นเป็นเหมือนกับการให้เปล่า บางคนเข้าไปปลูกป่าบางคนก็เข้าไปสร้างโน่นนี่ให้ชาวบ้าน เราเองก็คิดว่าอาจจะทำแบบนั้น แต่ทำแล้วไม่ได้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราอยากจะทำสิ่งที่ได้กระจายประโยชน์สู่สังคมให้กับภาพใหญ่มากกว่า

เลยคิดว่าน่าจะสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนจะดีกว่า เพราะว่าถ้าคนมีอาชีพแล้วปัญหาสังคมก็จะหายไป ประเทศชาติก็จะมีเศรษฐกิจที่ดี ปัญหาโจรขโมย ปัญหาคนยากจน ก็จะไม่มีเพราะพวกเขามีรายได้ที่ดี เราก็คิดว่าธุรกิจร้านกาแฟน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีและเกี่ยวข้องกับเครื่องชงกาแฟที่เราเคยทำ

ดังนั้น ถ้าเรามาปลูกกาแฟมารับซื้อผลผลิตกาแฟจากป่าต้นน้ำ ชาวบ้านจะมีรายได้อย่างยั่งยืน กาแฟต้นหนึ่งใช้เวลาปลูก 3 ปีครึ่งก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว และต้นหนึ่งอายุ 30 ปีเก็บผลได้ตลอด และยังได้ผลผลิตจากไม้ใหญ่ที่ปลูกคู่กับกาแฟอย่างแมกคาเดเมียก็สามารถเก็บผลมาขายได้อีก

พอเราเข้าไปส่งเสริมแล้ว ก็จะมีปัญหาเรื่องผลผลิตไม่มีตลาดรองรับ เหมือนหลายๆ โครงการที่เข้าไปส่งเสริมให้ปลูก แต่พอปลูกแล้วไม่มีตลาดรองรับก็ต้องตัดทิ้ง แล้วก็คิดว่าผลผลิตออกมาแล้วเราจะทำอย่างไร เราก็เลยคิดว่านอกจากส่งเสริมให้ปลูกแล้ว

เราควรจะสร้างร้านเพื่อรองรับผลผลิต ปีแรกเราก็คิดว่าจะเปิดไม่กี่ร้านเอาแค่รองรับผลผลิต ไม่ได้คิดว่าจะมีร้านสาขาเยอะเหมือนทุกๆ วันนี้ แต่พอเราส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก สิ่งที่ได้รับจากการส่งเสริมก็คือป่าต้นน้ำเกิดขึ้น พื้นที่ปลูกกลับมีต้นไม้เขียวขจี

ประกอบกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการบอกว่ากาแฟรสชาติดี แล้วก็ช่วยลดค่าครองชีพได้ในระดับหนึ่ง จากที่เคยกินกาแฟแก้วละ 180 บาทพอมาเจอกาแฟของเราเมื่อ 8 ปีที่แล้วขายแก้วละ 25 บาท ตอนนี้เราเพิ่งขึ้นมา 29 บาทตามสภาพเศรษฐกิจ ลูกค้าบอกชอบ แต่แถวบ้านเขาไม่มีร้านนี้มาเปิดขาย เราก็เลยจำเป็นต้องขยายสาขาไปเรื่อยๆ เพื่อจะรองรับผลผลิตเกษตรกรที่จะออกมา และเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการลูกค้า

ยิ่งช่วงเวลานั้นเรารู้ว่าเด็กจบใหม่ไม่ค่อยมีงานทำ มีหุ่นยนต์มาแทนที่ มีระบบเอไอเข้ามาลดคนงาน การเปิดร้านของเราก็ได้ช่วยสร้างงานให้เด็กเรียนจบใหม่ ที่ยังไม่มีอาชีพเข้ามาเป็นพนักงานร้านละ5-6คนก็ถือว่าสร้างอาชีพให้คนในชุมชนทางอ้อม

นอกเหนือจากเกษตรกรที่ปลูกกาแฟ ธุรกิจในชุมชนที่มีสินค้าอยากลองขายก็มาวางขายกับเรา แม้กระทั่งพืชผลการเกษตรบางอย่าง เช่น กระเทียมที่แม่ฮ่องสอนก็ฝากร้านเราขาย 3ล้านตัน ล่าสุดเราไปร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ รับซื้อผักจากเกษตรกร ที่ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม มาจำหน่าย

เลยกลายเป็นว่าจากแนวคิดเล็กๆ ที่อยากจะเปิดแค่ร้านเดียว รับผลผลิตจากเกษตรกรมาจำหน่าย กลายเป็นร้านที่ส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้อย่างยั่งยืนและธุรกิจอื่นๆ ทั้งระบบ โครงการ 1 บาท 1 แก้วในสมัยก่อนแล้วเราก็ไม่คิดว่าจะได้เงินเยอะปีแรกๆได้มา 2 แสนกว่าบาท แล้วก็นำไปสร้างอุโบสถ จนถึงวันนี้เรามียอดขาย 11 ล้านแก้ว/ปี เราก็มีเงินบริจาคทั้งหมด 11 ล้านบาท ได้มีส่วนร่วมบริจาคกับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ หรือที่เรียกว่าโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อฝึกนักเรียนแพทย์เพื่อพวกเขาเรียนจบก็จะกระจายไปทั่วประเทศ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในอนาคต ผมรู้สึกว่ายิ่งทำก็ยิ่งสนุกแล้วก็มีคนเข้ามาร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ กระจายหลายๆ สิ่งให้สังคมอย่างที่ตั้งใจ”

หาความต้องการของลูกค้าให้พบ
ดร.นริศ ย้อนเล่าถึงช่วงแรกๆ ที่คิดจะเริ่มทำธุรกิจร้านกาแฟใหม่ๆ มีแต่คนห้าม เพราะว่าธุรกิจกาแฟกำลังเริ่มอิ่มตัว “แต่ว่าจากการที่ผมเข้าไปสำรวจตลาดกับลูกค้า พบว่าจริงๆ แล้วตลาดกาแฟนั้นไม่ได้อิ่มตัว “แต่ว่าจากการที่ผมเข้าไปสำรวจตลาดกับลูกค้า พบว่าจริงๆ แล้วตลาดกาแฟนั้นไม่ได้อิ่มตัว เพียงแต่ว่าผู้ประกอบการตอนนั้นตั้งใจอยากได้กำไรมาก ก็เลยไปตั้งราคาขายแก้วหนึ่ง 80-100 กว่าบาท เลียนแบบกาแฟต่างประเทศ

หากยังจำกันได้ในปั๊มน้ำมันสมัยก่อนก็ขายกาแฟแก้วละ 100 กว่าบาท ด้วยหวังจะกำไรต่อแก้วสูง แต่ขายได้น้อยแก้วก็ไม่รอดอยู่ดี ผมจึงทำวิจัยสำรวจลูกค้าในช่วงนั้น ลูกค้าบอกว่าอยากกินนะแต่จ่ายไม่ไหว ผมถามว่าถ้าจ่ายได้แบบไม่คิดอะไรมากต้องเท่าไรลูกค้าบอกว่าอยากให้กาแฟอย่าแพงกว่าราคาอาหาร ราคาอาหารเมื่อ 8 ปีที่แล้วประมาณ 30-35 บาท ผมก็เลยตั้งราคากาแฟไว้ที่ 25 บาท

ผลปรากฏว่าและใครว่าอิ่มตัวเมื่อ 8 ปีที่แล้ว คนไทยบริโภคกาแฟ 20 แก้ว/ปี ตอนนี้บริโภคกาแฟ 200แก้ว/คน/ปี เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า เพราะราคากาแฟที่ตั้งไว้เป็นราคาที่เราอยู่ได้ลูกค้าก็อยู่ได้ทุกคนอยู่ได้สบายๆ กับธุรกิจนี้.

คิดดี ทำดี ไม่ต้องกลัวใคร
ในโลกการทำงาน ดร.นริศ กังวลอยู่เรื่องเดียวก็คืออุปสรรคในการทำความดี “บางทีเราก็คิดอยากจะทำความดีทำสิ่งดีๆ โดยไม่ได้คิดหวังสิ่งตอบแทนอะไร แต่ก็จะมีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าทำดีเอาหน้าเหรอ แล้วก็คอยต่อว่าเรา แต่สิ่งที่ผ่านมานั้นก็ต้องขอขอบคุณประชาชนพี่น้องส่วนใหญ่ที่เชื่อมั่นให้การสนับสนุน แล้วอาจจะต้องขอความกรุณาคนกลุ่มน้อยที่รู้สึกว่าเวลาใครทำอะไรที่ดีแล้วจะรู้สึกหมั่นไส้ เป็นนักเลงคีย์บอร์ดผมอยากให้เลิกเขียนต่อว่าคนโดยที่ไม่ได้สืบเสาะข้อเท็จจริง และหันมาช่วยคนช่วยสังคมจะดีกว่า คีย์บอร์ดของท่านมีประโยชน์และมีโทษ…. ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช่ด้านไหน อย่าไปมุ่งโจมตีคนที่เขาอยากจะช่วยเหลือสังคมเลยไม่มีอะไรทำให้ดีขึ้น…

ผมมีแนวทางในการพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จ เป็นคำสั้นๆ 4 คำ ก็คือ “ทำไม่ได้ อย่าพูด” คำที่สอง คือ “ยาก อย่าพูด” คำที่สาม “ท้อแท้ อย่าพูด” และสุดท้ายคำที่สี่ “เหนื่อย อย่าพูด”.เราทำงานให้คิดเสมอว่าวันนี้เราทำเพื่อใคร ให้ท่องไว้เลยว่าวันนี้เราทำเพื่อคนอื่น ถ้าเราทำเพื่อตัวเองงานจะออกไปอีกแบบหนึ่งมีคนพบเราน้อย มีประโยชน์แค่ตัวเราเอง แต่ถ้าเกิดเราคิดทำงานเพื่อคนอื่นงานจะออกมาอีกแบบหนึ่ง..มีคนรักเราเยอะ และคนคบเราเยอะ และเราเองคนเดียวพลังเราไม่พอหรอกครับ เราต้องการพลังจากสังคมชุมชน ซึ่งมีพลังใหญ่ๆ มากให้ทุกคนมีส่วนร่วมและความสำเร็จจะเป็นของเราทุกคน”

ที่มา โพสต์ทูเดย์