เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ​ นครนิวยอร์ก

เมื่อวันที่ 23-24 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้าร่วมการประชุม Sustainable Development Impact Summit จัดโดย World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ 3 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีผู้แทนกว่า 800 คนจากทั่วโลกเข้าร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม โดยการหารือเน้น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) การปรับกลไกตลาดที่คำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Transforming Markets) (2) ระดมพลังเพื่อป้องกันปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการร่วมกันทุกวิถีทางเพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส (Accelerating Climate Action) (3) ระดมทุนเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Financing Sustainable Development) (4) ระดมกำลังเพื่อสร้างสังคมที่เสมอภาค (Mobilizing Actions for Inclusive Societies) โดยการประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่สหประชาชาติจัดการหารือสุดยอดระดับผู้นำสามเรื่อง ได้แก่ เรื่องสภาพภูมิอากาศ เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทั้งนี้ในวันแรก 23 กันยายน คุณนพปฎล ได้รับฟังและร่วมการหารือที่สำคัญของ WEF อาทิเช่นถ้อยแถลงโดยศาสตราจารย์ Klaus Schwab ประธานและผู้ก่อตั้ง WEF ถ้อยแถลงโดยนาย Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย และการเสวนา เรื่อง Building a Sustainable World

(1) ภาคการเงินจะมีบทบาทมากขึ้นทั้งในการตีมูลค่าของโครงการลงทุนต่าง ๆ ที่คำนวณผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการระดมทุนสำหรับโครงการที่สนับสนุนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (climate resilience)

(2) รัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังผ่านกระบวนลดการใช้คาร์บอนในกระบวนการผลิต และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ไปพร้อมกัน เพราะขณะนี้ แคลิฟอร์เนียมีงบประมาณเกินดุล

(3) การพัฒนาทักษะแรงงานสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เป็นสิ่งจำเป็น ควรเน้นฝีมือแรงงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อแต่ละท้องถิ่นมากกว่าการพัฒนาแผนชาติเพียงแผนเดียว นอกจากนั้น Artificial Intelligence ในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญเชิงการทหารมากเกินไป และควรนำมาใช้พัฒนาการศึกษาและการจ้างงานมากขึ้น

(4)ควรสร้างจิตสำนึกก่อนว่า นวัตกรรมมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่หรือสังคมอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมอย่างแท้จริง

การร่วมฟังถ้อยแถลงโดยประธานาธิบดีชิลี กล่าวถึงความสำคัญของการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ในฐานะที่ปีนี้ ชิลีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีว่าด้วยอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 25 (COP25) มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ (1) การทำลายป่าเขตร้อน รวมถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในเขตอเมซอนที่ผ่านมา สะท้อนว่าเราให้ความสำคัญกับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพไม่เพียงพอ (2) ภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อระดมทุน อาทิ พันธบัตรคาร์บอน (Carbon bonds) (3) ควรจะต้องช่วยกันเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันกำกับดูแลการค้าเสรี อาทิ องค์การการค้าโลก ให้ดีกว่าปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าสถาบันเหล่านี้อ่อนแอ แต่ละประเทศสามารถทำอะไรตามอำเภอใจและสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบการค้าเสรีของโลก ทั้งนี้ สงครามการค้าระหว่างสองประเทศอำนาจเป็นเรื่องไร้สาระ และควรจะเอาเวลามาช่วยกันแก้ปัญหาสำคัญอื่น ๆ ของโลกมากกว่า เช่น การแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คุณนพปฎล ยังได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการหลายรายการ โดยเฉพาะเรื่อง Circular Economy ซึ่งได้รับความสนใจมากในปีนี้ กล่าวคือ ความพยายามที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ให้ได้คุ้มค่ามากที่สุด ก่อนที่จะถูกทำลาย โดยอาจเป็นการแปรสภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า (upcycle) การแปรสภาพเพื่อนำมากลับมาใช้ใหม่ (recycle) การใช้ซ้ำ (reuse) หัวข้อการหารือสำคัญที่คุณนพปฎลเข้าร่วมมีอาทิ

(1) “Raising the Ambition on Circular Economy” ซึ่งเรียกร้องให้ทั่วโลกตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการสร้าง Circular Economy ใหม่ รวมทั้งต้องหาทางร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อขยายผล เพราะปัจจุบันเพียงร้อยละ 9 ของวัสดุทั่วโลกเท่านั้นที่กลับเขัาสู่ระบบ Circular Economy

(2) “Ending dependence on disposability” ซึ่งระบุว่าปัจจุบันเพียงร้อยละ 10 ของขยะพลาสติกทั่วโลกถูกนำกลับมาแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ (recycled) ธุรกิจจึงต้องสร้างความตระหนักแก่ผู้บริโภคมากขึ้นเพื่อลดการบริโภคที่เกินความต้องการในชีวิตประจำวัน (overconsumption) และอุปนิสัยที่พึ่งพาผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานสั้นหรือวัสดุใช้ครั้งเดียวทิ้งมากเกินไป (disposability culture) อาทิ ช้อน หลอด จาน ชาม ที่ทำจากพลาสติก หรือของใช้ในบ้านที่ไม่ทนทาน ซ่อมแซมยาก จึงกลายเป็นขยะได้ง่าย

(3) “Fast-Tracking Innovation for Circularity” เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจหันมาส่งเสริมนวัตกรรมในการสร้าง Circular Economy ในแง่ต่าง ๆ มากขึ้น เพราะหากสามารถส่งเสริมให้วัสดุต่าง ๆ หมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจได้มากขึ้นแทนการถูกใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง อาจเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจทั่วโลกได้อีกถึง 4,500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

(4) “Scaling Sustainable Battery Value Chains” เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหันมาร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะ WEF ประเมินว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่สามารถพัฒนาให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมพลังงานได้ถึงร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 อันจะช่วยให้สามารถควบคุมมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ตามที่ระบุในข้อตกลงปารีส นอกจากนั้น หากการปฏิวัติการผลิตแบตเตอรี่แบบทันสมัยเกิดขึ้นได้จริงแล้ว อาจจะช่วยสร้างงานใหม่แก่ประชากรกว่า 10 ล้านคน เพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจโลกอีก 1,500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วยให้ประชากรทั่วโลกกว่า 600 ล้านคนมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรก

นอกจากนี้คุณนพปฎลได้หารือกับผู้แทน Grow Asia และ WEF เพื่อหาลู่ทางในการส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน และการส่งเสริมผลิตผลทางการเกษตรที่จะช่วยลดผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การผลิตเนื้อสัตว์จากแหล่งอื่น เช่น พืชหรือการเพาะเนื้อเยื่อ (Alternative meat) แทนการเลี้ยงปศุสัตว์

ต่อมาวันที่ 24 กันยายน คุณนพปฎล ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่สำคัญระหว่างการประชุม Sustainable Development Impact Summit จัดโดย World Economic Forum (WEF) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีการหารือกับศาสตราจารย์ Klaus Schwab ประธานและผู้ก่อตั้ง WEF ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า กิจการครอบครัว (Family Business) ที่มีผู้บริหารมืออาชีพ จำเป็นต้องสร้างความตระหนักแก่ผู้บริหารในเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนด้วย นอกเหนือจากการรักษาให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไป

การประชุมหัวข้อ “Champions for Nature” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งธุรกิจมีส่วนสำคัญในการทำลายความหลากหลายดังกล่าว ขณะเดียวกันความเสื่อมโทรมในความหลากหลายทางชีวภาพก็นับเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจด้วย ทั้งนี้ WEF ได้นำเสนอร่างรายงานเรื่อง New Nature Economy ซึ่งเป็นผลงานของคณะทำงานเพื่อปกป้องธรรมชาติหรือ Nature Action Agenda นอกจากนั้น ประเด็นที่สำคัญในการหารือ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าและการท่องเที่ยวของบอตสวานาชี้ให้เห็นว่า ความหลากหลายทางชีวภาพไม่ได้มีผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะประชากรในประเทศตนยังยากจนถึงแม้ว่าบอตสวานาจะมีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสมบูรณ์ก็ตาม ดังนั้น จำเป็นต้องมีนโยบายทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่ต่อยอดเพื่อช่วยแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแต่พิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเดียว อาทิ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวในอัตราที่เหมาะสมกับค่าเสื่อมและการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ

การหารือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (Accelerating Action on Sustainable Oceans) จัดโดย Friends of Ocean Action โดยคุณนพปฎล ได้เป็นผู้จุดประกายการหารือ (Firestarter) ในหัวข้อ “การตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทะเล” (Bait to Plate: traceability in seafood) และได้กล่าวถึง

(1) ความท้าทายของเครือฯ ในการแก้ปัญหาการใช้แรงงานทาสในสายการผลิตปลาป่น ถึงแม้ว่าเครือฯ จะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมประมงและไม่เป็นเจ้าของเรือแม้แต่ลำเดียว แต่เครือฯ ได้แสดงความรับผิดชอบเนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่ค้าในห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่มูลค่าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงเป็นจำนวนมาก

(2) เครือฯ ได้ส่งเสริมให้ติดตั้งเครื่อง VMS เพื่อตรวจสอบการเดินทางและตำแหน่งของเรือ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการใช้แรงงานทาสและการทำประมงผิดกฎหมายด้วย อีกทั้งยังร่วมเป็นผู้ก่อตั้งทั้ง Seafood Taskforce ซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งที่เป็นผู้ซื้อและขายสินค้า ตลอดจนภาคประชาสังคมเพื่อร่วมกันส่งเสริมความยั่งยืนของทั้งการทำประมงและการเลี้ยงอาหารทะเล รวมถึง SeaBOS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของบริษัทประมงหรือเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่สิบบริษัททั่วโลก ควบคุมกว่าร้อยละ 80 ของอาหารทะเลยโลก

(3) ความท้าทายในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในห่วงโซ่อุปทานยังต้องคำนึงถึงความสามารถในการปรับตัวของคู่ค้า การแบ่งภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างคู่ค้ากับ การส่งเสริมความร่วมมือที่จะช่วยกันแก้ปัญหามากกว่า นโยบายของรัฐ รวมทั้งมาตรการทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ส่งเสริมการตรวจสอบย้อนกลับ การส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคถึงแหล่งที่มาของอาหารทะเล ทั้งนี้ การหารือได้มีผู้แทนระดับสูงเข้าร่วม อาทิ รองนายกรัฐมนตรีสวีเดน และสมเด็จพระราชินีนัวร์ แห่งราชอาณาจักรจอร์แดน ซึ่งต่างเรียกร้องให้นำผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมมาคำนวณเป็นต้นทุนของการผลิตด้วย

การเสวนาเกี่ยวกับการระดมกำลังเพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Mobilizing Action for Inclusive Societies) การเสวนานี้มีทั้ง CEO ของ IKEA และ Unilever ร่วมด้วย พร้อมกับ น.ส. Melati Wijsen ผู้ก่อตั้งองค์กร Bye Bye Plastic Bags จากอินโดนีเซีย อายุ 18 ปี ที่ได้รณรงค์ให้ยกเลิกการใช้พลาสติกบนเกาะบาหลีได้สำเร็จ โดยการเสวนามีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

(1) ความท้าทายของบริษัทใหญ่ คือ การลงทุนที่จะสร้างประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป และไม่จำกัดเฉพาะพนักงานของบริษัทเท่านั้น

(2) ขาดคำนิยามของศัพท์ที่ใช้ในการส่งเสริมความยั่งยืนที่เข้าใจร่วมกันได้ อาทิ ทุกคนเข้าใจความหมายของ “ความยั่งยืน” หรือ “ทางเลือก” ตรงกันหรือไม่

(3) บทบาทของเทคโนโลยีในการลดความเหลื่อมล้ำทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม อาทิ พนักงาน Call Center ของยูนิลีเวอร์ที่อียิปต์เป็นคนตาบอด

(4) หลักธรรมาภิบาลเพื่อกำกับดูแลบทบาทของเทคโนโลยี คืออะไร ในขณะที่มนุษย์เองยังไม่มีระบบธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพ การสร้างให้เทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์รู้จักหรือเข้าใจความสำคัญของคุณธรรม (values) เป็นไปได้หรือไม่ หากเรายังไม่สามารถตกลงกันได้ว่า ขอบเขตของเรื่องเหล่านี้ คืออะไร

(5) การปฏิรูปการศึกษาควรเน้นให้นักเรียนเข้าใจความท้าทายและปัญหาของโลกภายนอก รวมทั้งความสำคัญของเทคโนโลยีอย่างถ่องแท้ตั้งแต่อายุยังน้อย

(6) จีนพยายามจำกัดการเติบโตของมหานครทั่วประเทศเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(7) การสร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของในชุมชนเพื่อกระตุ้นให้คนในชุมชนนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

และในวันที่ 25 กันยายน คุณนพปฎล ได้เข้าร่วมการประชุม SDG Business Forum ที่สำนักงานสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมกันจัดโดย International Chamber of Commerce, United Nations และ United Nations Global Compact มีผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ภาคประชาสังคม และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมประมาณ 400 คน การประชุมนี้เปิดโอกาสให้ผู้แทนภาคธุรกิจเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ตลอดจนความท้าทายจากการนำ SDGs ไปปฏิบัติในการประกอบกิจการ หัวข้อการหารือที่สำคัญในปีนี้ ได้แก่

1.การเงินที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Financing) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อบริษัทนำ SDGs ไปผนวกกับยุทธศาสตร์ (corporate strategies) และรูปแบบการทำธุรกิจ (business model) แล้ว จะช่วยเสริมการประกอบกิจการของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจขนาดกลางทั่วโลกยังประสบปัญหาเพราะยังไม่ได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานการเงิน หน่วยปฏิบัติงาน (operations) และผู้นำของบริษัทของตนเองเท่าที่ควร ขณะเดียวกัน ภาคการเงินและนักลงทุน รวมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ประกอบกิจการในหลายประเทศ (Multi-national companies) จำเป็นต้องเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการบรรลุ SDGs ด้วย เพื่อที่จะกล้าสนับสนุนข้อริเริ่มหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์เกี่ยวกับ SDGs และสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้นให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถนำ SDGs ไปผนวกกับยุทธศาสตร์การทำธุรกิจได้ด้วย

2.การกระตุ้นให้ภาคเอกชนขยายผลและต่อยอดการทำธุรกิจที่ยั่งยืนให้มีขอบเขตกว้างขวางมากยิ่งขึ้น (Scaling Ambition) ขณะที่แต่ละรัฐบาลต่างผลักดันการบรรลุ SDGs ภายในประเทศและ UN Global Compact พยายามส่งเสริมให้ภาคธุรกิจทั่วโลกยึดมั่นในหลักการสากลทั้ง 10 ข้อว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อมและการต่อต้านการทุจริต ภาคธุรกิจควรจะคิด “ไปไกล” ได้มากกว่านั้น กล่าวคือ ช่วยคิดว่า เมื่อสามารถผนวก SDGs และหลักการสากลของ UN Global Compact เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของตนได้แล้ว ธุรกิจของตนจะสามารถต่อยอดจากการทำธุรกิจที่รับผิดชอบดัวกล่าวไปสู่การแก้ปัญหาที่สำคัญของโลกทั้งในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และห่วงโซ่มูลค่า (value chain) ของตนเองและทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมด้วยได้อย่างไร อาทิ การร่วมกำจัดการใช้แรงงานทาส (modern day slavery) ให้หมดไปจากสายการผลิต การเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อนำเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้และต่อยอดเทคโนโลยีเหล่านั้น การให้หลักประกันและส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศในสถานที่ทำงาน และแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้รับรู้ด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่อไป

Cr:ดร.เนติธร ประดิษฐสาร