4 ปี “ดอยสบขุ่น” เครือซีพีร่วมกับชุมชนแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นสู่ถั่วมะแฮะ-ลดข้าวโพดหนุนปลูกกาแฟ

4 ปี แห่งการทุ่มเท อดทนและเพียรพยายามของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในจังหวัดน่านเริ่มเห็นผล และได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นความตั้งใจของเครือฯที่จะพลิกฟื้นผืนป่ากลับคืนมาพร้อมทั้งมีส่วนช่วยแก้ปัญหาด้านอาชีพทำกินของเกษตรกรอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการแสดงจุดมุ่งมั่นของเครือฯต่อการร่วมพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดน่านให้กลับสู่ความยั่งยืน

เมื่อเร็วๆนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงได้ทำพิธีก่อตั้ง “สำนักงานด้านความยั่งยืน” ขึ้นเป็นแห่งแรกที่จังหวัดน่าน

คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ ได้ถือฤกษ์ดีทำพิธีลงเสาเอก เสาโท วางศิลาฤกษ์สำนักงานด้านความยั่งยืนเครือเจริญโภคภัณฑ์แห่งแรกที่จังหวัดน่าน ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเจ้าฟ้า ตรงข้ามกับวัดศรีพันต้น เขตเทศบาลเมืองน่าน เพื่อปักหมุดขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือ และวางแผนตั้งเป็นศูนย์รวมความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนความยั่งยืนร่วมกับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

มี พระเดชพระคุณพระชยานันทมุนี ผศ.ดร.เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ คุณวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมทั้งมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่านมาร่วมแสดงความยินดีและผนึกความร่วมมือที่จะทำงานร่วมกันต่อไป

คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรฯ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมหลากหลายโครงการในพื้นที่ภาคเหนือ ในเขตลุ่มน้ำปิง-วัง-ยม-น่าน ที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา และถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชาชนชาวไทยในพื้นที่เกษตรกรรม และเป็นความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

“สำนักงานด้านความยั่งยืน” ที่จังหวัดน่าน เพื่อที่จะให้สำนักงานฯ แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดน่าน

ด้าน คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าและภูเขา เป็นต้นเหตุของหมอกควัน ไฟป่า และภูเขาหัวโล้น ซึ่งตนเองก็เป็นลูกหลานชาวน่านที่เติบโตมาจากการครอบครัวทำไร่ข้าวโพด และเมื่อมีโอกาสจึงอยากทำงานที่จะเปลี่ยนให้เกษตรกรน่านมีทางเลือกที่ดีกว่าเดิม

ทั้งนี้ มีหลายโครงการที่ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น โครงการสบขุ่นโมเดล, โครงการสานพลังประชารัฐพัฒนาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน บ้านนาบง, โครงการสวมหมวกให้ภูเขา สวมรองเท้าให้ตีนดอย, โครงการค่ายเยาวชน รักษ์พงไพร จ.น่าน, โครงการน้ำพางโมเดล ฯลฯ โดยแต่ละโครงการเครือเจริญโภคภัณฑ์มีความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาร่วมพัฒนางานด้านความยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านการศึกษาที่ได้นำโครงการ CONNEXT ED. โดยมีการจ้างเด็กที่จบการศึกษาด้านไอทีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำมาทำงานตำแหน่งครูไอซีที และเป็น ICT Talent เพื่อนำเทคโนโลยีไปสร้างศักยภาพการศึกษาในโรงเรียน โดยที่จังหวัดน่านมี 24 โรงเรียนในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ อ.เฉลิมพระเกียรติ และที่บ้านสบขุ่น อ.ท่าวังผา

โดยเฉพาะสบขุ่นโมเดล ที่ในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ชาวบ้านสบขุ่น 67 ครอบครัว จาก 350 ครอบครัว ที่เข้าร่วมโครงการ และร่วมลงแรงลงใจปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาปลูกถั่วมะแฮะและปลูกกาแฟจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟเป็นล็อตแรก ซึ่งเป็นล็อตที่ทางเครือซีพีก็คาดหวังว่าจะเป็นกาแฟจากดอยสูงอีกแห่ง ที่จะมีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆ ของจังหวัดน่านและของประเทศให้ได้

โดย คุณศศิเพ็ญ ไตรโสภณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานด้านสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และคุณณฐ เตชะวรรณเวคิน ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชนิดกาแฟของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมวางแผนและพัฒนากาแฟดอยสบขุ่นให้เป็นกาแฟน่านเบลนด์ที่มีเรื่องราว มีสตอรีผูกพันคน น้ำ ป่าไว้ด้วยกันในถ้วยกาแฟ ขยายการตลาดในเครือฯ มากกว่า 100 สาขา และในอนาคตจะส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับดอยสบขุ่นเป็นดอยกาแฟที่นักท่องเที่ยวและคนเมืองกรุงต้องไปสัมผัสอีกด้วย

บัดนี้ บ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน จากเดิมเป็นหมู่บ้านและชุมชนในหุบเขาที่มีแต่ความแห้งแล้ง และป่าข้าวโพดบนดอยสูงชัน เห็นภูเขาเป็นม่อนดอยหัวโล้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยปี 2558 บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมกับส่วนราชการเพื่อพัฒนาพื้นที่บ้านสบขุ่น โดยร่วมกันพัฒนาที่ดินจังหวัดน่าน ส่งเสริมชาวบ้านปลูกถั่วมะแฮะเพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มีคุณภาพและเป็นรายได้ระยะสั้นๆ ที่จะทำให้เกษตรกรพอมีเงินหมุนเวียนระหว่างที่รอการส่งเสริมปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิกา ความร่วมมือจากภาคีหลายภาคส่วนนานกว่า 4 ปี เพื่อปั้นสบขุ่นโมเดลให้เห็นผลเป็นรูปธรรมจับต้องได้