สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยและเครือซีพี เปิดประสบการณ์สู่เวทีความยั่งยืนระดับโลก เข้าร่วมการประชุมทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน 2019 หรือ HLPF 2019

เมื่อไม่นานมานี้ คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2019 หรือ High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF 2019 ซึ่งสหประชาชาติจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีเป้าหมายเพื่อติดตามความก้าวหน้าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals: SDGs ในระดับโลกและระดับประเทศ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ในการนี้ คุณนพปฎล เปิดเผยว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และเครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะผู้แทนภาคเอกชนไทยในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเสริมสร้างความร่วมมือระดับโลก เพื่อร่วมขับเคลื่อน การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายหลักของเครือฯ

สำหรับปีนี้การประชุม HLPF 2019 มุ่งเน้นไปที่ประเด็น การเสริมสร้างพลังมวลชนทุกกลุ่ม ผ่านการพัฒนาที่ทั่วถึงและเสมอภาค หรือ Empowering people and ensuring inclusiveness and equality ซึ่งมองว่าเป็นกลไกที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ตามที่กำหนด

โดยปีนี้ ให้ความสำคัญกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 6 ด้านจาก 17 ด้าน ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา (SDG4) เป้าหมายที่ 8 ด้านการจ้างงาน (SDG8) เป้าหมายที่ 10 ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10) เป้าหมายที่ 13 ด้านสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDG13) เป้าหมายที่ 16 การส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม (SDG16)และเป้าหมายที่ 17 ด้านความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG17)
ในการนี้ นายนพปฎล ได้มีโอกาสเข้าร่วมหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบรรลุ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่หลายหน่วยงานจัดขึ้นเพื่อระดม ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์

ได้แก่ “Empowering Educators and Enhancing Inclusivity and Equality on Education in Community Classrooms” การเพิ่มขีดความสามารถด้านการศึกษา และส่งเสริมการผนวกรวมและความเท่าเทียมกัน ด้านการศึกษาในห้องเรียนชุมชน และหัวข้อ “Localizing SDGs in Malaysia”

ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจที่ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังประสบปัญหาเรื่องการเก็บข้อมูลเพื่อติดตามผลการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ขณะเดียวกัน ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (transformative) รวมทั้งดูแลความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคต่าง ๆ ของประเทศ และความเหลื่อมล้ำระหว่างเชื้อชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อีกด้วย

อีกประเด็นสำคัญที่ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือฯ ในฐานะเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมคือ “Global Citizenship Education – Why is it important? Insights and cross cutting practices” จัดโดย ฟินแลนด์ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาชั้นนำของโลก และการหารือหัวข้อนี้ยังเป็นการส่งเสริมเป้าหมายที่ 4.7 ของ SDGs คือ การสอนนักเรียนให้เข้าใจหลักการและคุณค่าที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะความสำคัญของสันติภาพและความมั่นคง การสอนให้เป็นประชากรโลกที่มีบทบาทแข็งขันในการแก้ปัญหาสังคม และพร้อมจะมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้นักเรียนสามารถเติบโตและเป็นผู้ออกไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกได้

ในการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ คุณนพปฎล ในฐานะรองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัททรูคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ยังได้รับเกียรติจากองค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในการร่วมประชุมหัวข้อ “การออกแบบที่ทำงานใหม่สำหรับอนาคตด้วยการวางนโยบายที่แบ่งความรับผิดชอบเพื่อให้เอื้อต่อการสร้างครอบครัว ” หรือ “Redesigning the Workplace of the Future: Sharing Responsibility for Family-Friendly Policies” ณ สำนักงานใหญ่ของ UNICEF ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “From ‘maternal’ to ‘parental’ leave: How can governments and businesses provide sufficient paid leave to all parents and guardians, in both the formal and informal economy, to meet the needs of their young children?” เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ด้านการจัดทำนโยบายสวัสดิการสำหรับพ่อแม่และทารกแรกเกิด ของทรูฯ

เนื่องจาก UNICEF เห็นว่าทรูฯ เป็นบริษัทไทยที่มีความก้าวหน้าในนโยบายนี้ อาทิ การให้พนักงานที่เป็นมารดาลาคลอดได้ 4 เดือน และบิดาสามารถลาหยุดได้ 15 วัน รวมถึงมีการจัดสถานที่ให้นมของมารดา มีศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่มากกว่ากฎหมายไทยกำหนด

คุณนพปฎล กับ คุณ Henrietta H. Fore, UNICEF Executive Director
และ คุณสุภาค โปร่งธุระ เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

ดร. Akihiko Morita ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิและการศึกษาของเด็ก กับ คุณนพปฎล

โดย คุณนพปฎลกล่าวว่า นโยบายเหล่านี้มาจากข้อเสนอแนะของบุตรสาวคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะ CEO ของทรูฯ ขณะนั้น ที่เห็นตัวอย่างจากบริษัทชั้นนำของโลก ที่ไม่เพียงแค่ให้เวลาแม่ได้ดูแลเด็ก และได้พักฟื้น แต่ได้รวมถึงการส่งเสริมการสร้างสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่และเด็กทารก ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญ ของสังคมต่อไป ทั้งนี้ ทรูฯ เป็นบริษัทนำร่องของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่จัดทำนโยบายที่เป็นมิตรต่อการสร้างครอบครัว

แต่สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีพนักงานกว่า 350,000 คนใน 22 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นความท้าทายในการขยายนโยบายนี้ในเครือฯ เนื่องจากมีประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง อาทิ (1) การกำหนดจำนวนวันที่เหมาะสมสำหรับการลาคลอด เพื่อให้สมดุลกับทั้งความต้องการของครอบครัวและไม่ถือเป็นภาระแก่บริษัทมากเกินไป (2) การประเมินผลของการใช้นโยบายนี้ในแง่มุมต่าง ๆ อาทิ ความผูกพันของพนักงาน (employee engagement) ต่อที่ทำงาน รวมทั้งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจนอกจากนี้ ซึ่งนายนพปฎลได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญของ UNICEF ช่วยจัดหาข้อมูลเชิงสถิติที่จะมาช่วยประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารด้วย ที่ประชุมยังมุ่งเน้นเรื่องนโยบายเกี่ยวกับครอบครัวและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เยาวชนเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป จากปัจจุบันเด็กทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

อาทิ ความยากจน ทุพโภชนาการ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาระดับปฐมวัยทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดย UNICEF คาดหวังว่า การหารือในเวทีนี้จะนำไปสู่การสร้างสถานที่ทำงานที่ยึดความต้องการครอบครัวและเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้ต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางเศรษฐกิจเอื้อซึ่งกันและกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวด้วย

ในโอกาสเดียวกัน คุณนพปฎล ได้เยี่ยมชม General Assembly (GA) ซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพระดับโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยสถาบันฯ นี้มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของพนักงานให้มีทักษะในการเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน ปัจจุบัน GA มี 22 สาขาทั่วโลก อาทิ ลอนดอน เมลเบิร์น และปารีส เป็นต้น โดยทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งอยู่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์มีความร่วมมือในการจัดหลักสูตรแก่ทรู ดิจิทัล อคาเดมี่ เกี่ยวกับการเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีอีกด้วย

Cr:PR CPG