โครงการรถไฟความเร็วสูง เอกชนรับความเสี่ยงเพียงลำพัง โดย TNN 16

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภาครัฐจึงเลือกใช้การร่วมทุนรูปแบบภาครัฐกับเอกชน หรือ PPP Net Cost เพื่อลดความเสี่ยงด้านงบประมาณ และคัดเลือกเอกชนที่มีประสิทธิภาพมาร่วมโครงการ

การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน มักจะใช้กับโครงการลงทุนขนาดใหญ่่ อย่างโครงสร้างพื้นฐาน ที่ภาครัฐไม่มีงบลงทุนจำนวนมากมหาศาลมาลงทุนเองได้ทั้งหมด แต่รูปแบบการลงทุนแบบดังกล่าว ทั้ง 2 ฝ่ายต้องจัดสรรผลประโยชน์ หรือความเสี่ยงร่วมกันให้วินวินทั้งรัฐและเอกชนจึงจับมือลงทุนร่วมกันได้

โครงการรถไฟความเร็วสูงในหลายประเทศ ที่ให้บริการล้วนต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล รวมถึงต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สำหรับประเทศไทยแน่นอนว่า จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ส่งผลต้องใช้เงินลงทุนเกินกว่าแสนล้าน ภาครัฐจึงไม่พร้อมทุ่มงบประมาณลงทุนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงได้อย่างเดียวได้ เพราะต้องใช้งบประมาณพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อการบริหารประเทศด้วย หรือหากจะกู้เงินมาลงทุน ก็อาจสร้างปัญหาหนี้สาธารณะสูงเกินกรอบวินัยการเงินคลัง

ดังนั้น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภาครัฐจึงเลือกใช้การร่วมทุนรูปแบบภาครัฐกับเอกชน หรือ PPP Net Cost เพื่อลดความเสี่ยงด้านงบประมาณ และคัดเลือกเอกชนที่มีประสิทธิภาพมาร่วมโครงการ ซึ่งใน 5 ปีแรก เอกชนจะลงทุนการก่อสร้างทั้งหมด พร้อมจ่ายค่าเช่าที่ดินที่จะนำมาพัฒนา ขณะที่รัฐทยอยจ่ายในปีที่ 6 ต่อเนื่องไป 10 ปี โดยให้สิทธิ์เอกชนดำเนินการเก็บรายได้ทั้งหมดดำเนินการตลอดอายุโครงการ 50 ปี และแบ่งรายได้จากค่าโดยสารและการพัฒนาพื้นที่ให้ภาครัฐ

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดูแล้วผลประโยชนน่าจะลงตัวทั้งฝั่งรัฐและเอกชน แต่ความเสี่ยงนั้น ดูเหมือนภาระจะอยู่ที่ภาคเอกชนทั้งหมด เพราะภาครัฐใช้เงื่อนไขปิดความเสี่ยงทุกด้าน ตั้งแต่การจ่ายเงินร่วมทุนจำนวน 149,650 ล้านบาท ที่ไม่จ่ายในปีแรก แต่จ่ายในปีที่ 6 และทยอยจ่ายนาน 10 ปี ขณะที่เอกชนต้องหาเงินก้อนโตมาลงทุนใน 5 ปีแรก

(คลิป https://youtu.be/m7mNapsT7uE)

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐไม่ได้ร่วมใช้เงินลงทุนตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง แต่ก็น่าจะอำนวยความสะดวกให้เอกชนกู้เงินได้ง่ายขึ้น โดยการันตีจำนวนผู้โดยสารให้เอกชน เหมือนที่รัฐบาลทั่วโลกกระทำสำหรับการลงทุนโครงการรถไฟ และรถไฟความเร็วสูง แต่รัฐบาลไทยกลับปฏิเสธที่จะการันตีจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งแน่นอนว่า เป็นจุดอ่อนที่สถาบันการเงินจะไม่ปล่อยกู้ให้โครงการที่มีความเสี่ยงในอนาคต เพราะไม่รู้ว่าจะขาดทุนหรือกำไร หรือถ้ายอมปล่อยกู้ ก็จคิดดอกเบี้ยอัตราสูง ซึ่งต้นทุนโครงการดังกล่าวจะสูงตามไปด้วย

นอกจากนั้น เอกชนยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การเมืองที่รัฐบาลมีอายุแค่ 4 ปี แต่กว่าเอกชนจะได้รับเงินร่วมทุนจากรัฐก่อนแรกก็ปีที่ 6 หากมีการเปลี่ยนรัฐบาล และถ้ารัฐบาลใหม่ยกเลิกโครงการ ไม่ยอมจ่ายเงินลงทุน ก็อาจนำไปสู่การฟ้องร้องในที่สุด ประเมินแล้วเอกชนที่ลงทุนโครงการนี้มีความเสี่ยงรอบด้าน แต่ภาครัฐดูเหมือนลอยตัวอยู่เหนือทุกปัญหา