ประชาชนในพื้นที่ขานรับรถไฟความเร็วสูง – สนามบินอู่ตะเภาช่วยเศรษฐกิจโต แนะทำความเข้าใจสร้างการมีส่วนร่วมเร่งหามาตรการรองรับผลกระทบให้ครบทุกมิติ

ซีพี ให้ความสำคัญ การสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มอบหมายให้ มหาวิทยาลัย บูรพา ศึกษาผลกระทบในมิติด้านความยั่งยืน พร้อมหามาตรการป้องกันและเตรียมการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

โดยเมื่อเร็วๆนี้ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เปิดเผยผลงานวิจัย การประเมินผลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนารถไฟควาเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา), ท่าเรือแหลมฉบัง-มาบตาพุด และสนามบินอู่ตะเภา โดยสุ่มสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่ เพราะทำให้เศรษฐของพื้นที่ขยายตัวและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม พร้อมทั้งแนะนำผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม

เศรษฐกิจขยายเกิดการจ้างงานเพิ่มแนะเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
จากการสำรวจความเห็นประชาชนในพื้นที่ให้ความเห็นว่า โครงการขนาดใหญ่จะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีการขยายตัว เกิดอาชีพใหม่ๆ และเกิดการจ้างแรงงานทั้งในพื้นที่และมีแรงงานต่างถิ่นอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก เป็นการกระจายความเจริญมาสู่ภูมิภาค ทำให้เกิดเมืองใหม่รอบๆ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเปรียบเสมือนสัญญลักษณ์ของการพัฒนา ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบต่างๆ และมีโอกาสในการได้รับประโยชน์จากกองทุนที่ถูกจัดตั้งในกระบวนการพัฒนาหรือได้รับประโยชน์ จากโครงการรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ

แต่ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจขยายตัวความเจริญจะหลั่งไหลเข้ามา ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการที่แรงงานจากต่างถิ่นไหลเข้าไปทำงานในพื้นที่จะทำให้เกิดการแย่งงาน และขาดความพร้อมด้านบุคคลากรที่พัฒนาไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบุคลากรในสาขาท่องเที่ยวและการบริการ อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์ชุมชนซึ่งเคยเป็นจุดขายในพื้นที่อาจจะไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร และปัญหาการเวนคืนที่ดินที่จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งปัญหาความเป็นธรรมของจ่ายค่าชดเชยในการเวนคืน

นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างการก่อสร้างอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรอบ ซึ่งอาจได้อันตรายจากเครื่องจักรและรถบรรทุก ปัญหาโจรโขมยที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของประชากรต่างถิ่น รวมทั้ง ปัญหาความไม่พร้อมของสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมจากการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และการก้าวเข้าสู่สังคมเมืองอาจจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างความสัมพันธ์และวิถีชีวิตของชุมชน

เสนอแนะเร่งเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในระยะเวลาก่อสร้างอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาจราจรติดขัดและความปลอดภัยในการเดินทางระหว่างการก่อสร้าง และอาจส่งผลให้พื้นที่สีเขียวในชุมชนลดลง รวมทั้งปัญหาขยะ ปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ รวมทั้งอาจเกิดปัญหามลพิษทาง เสียง อากาศ ดิน และน้ำในระยาว ซึ่งจากผลการศึกษา ได้เสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังนี้

ในช่วงระยะเวลาก่อนก่อสร้าง ต้องมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างเป็นระยะๆ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชาวชุมชนในพื้นที่ผ่านการจัดเวทีสาธารณะทำให้เกิดการปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงการก่อสร้าง ที่สำคัญต้องสร้างให้เกิดความเป็นธรรมในกระบวนการเวนคืนที่ดิน

ทั้งนี้ ต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาภายหลังที่เปิดให้บริการ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการพัฒนา โดยจะต้องทำให้ทุกฝ่าย Win Win ภายใต้หลักการทางสังคม ยกระดับกลไกของการมีส่วนร่วมเพื่อแสดงให้เห็นว่าชุมชนเปรียบเสมือนหุ้นส่วน พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมการพัฒาโครงสร้างพื้นฐานระดับชุมชน หรือหมู่บ้าน มีการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ชุมขนโดยรอบ จัดทำมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริการ

นอกจากนี้ จะต้องเตรียมแผนเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว สร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันของชาวชุมชนและผู้ประกอบการ ด้วยการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ จัดโซนนิ่งการพัฒนา ส่งเสริมการเชื่อมโยงสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ภายนอก ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการประเมินผลกระทบและหามาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าว เป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ที่อยากเห็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนต้องให้ความสำคัญและเตรียมมาตรการพร้อมทั้งแนวทาง เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนพร้อมรับปรับตัวและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอย่างจริงจังต่อไป

Cr ภาพ : workpointnew