ไขรหัสลับความสำเร็จ “บ้านมะขาม” SME DNA ต้นแบบเซเว่นฯ ชู “นวัตกรรม-ดีไซน์” ปั้นแบรนด์สินค้าไทยคว้าใจต่างชาติ

“บ้านมะขาม”ถือเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่เริ่มต้นจากศูนย์ และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นแบบ“SME DNA”ของ เซเว่น อีเลฟเว่น ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจึงเดินหน้าพัฒนาต่อยอดผลิตผลท้องถิ่นอย่าง “มะขามหวาน จ.เพชรบูรณ์”อย่างไม่หยุดยั้งส่งผลให้วันนี้ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “บ้านมะขาม” ที่ผลิตโดย บริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัดเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ และก้าวสู่แบรนด์สินค้าระดับโลก ที่ปัจจุบันมีวางจำหน่ายกว่า 10 ประเทศทั่วโลก

เต้น-ธนนท์ โฆวงศ์ประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด ทายาทรุ่นที่ 2 เล่าให้ฟังถึงเส้นทางความสำเร็จในการสร้างแบรนด์และการทำตลาดต่างประเทศว่า ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมาสินค้าหลักมีเพียง “มะขามคลุกเสวย” ซึ่งเป็นมะขามคลุกแบบไร้เมล็ด สูตรดั้งเดิมของเพชรบูรณ์เท่านั้นช่องทางการขายคือ ขายส่งตลาดนัดดังๆในกรุงเทพฯ และร้านขนมมีชื่อต่างๆ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ขายได้วันละหลายร้อยกิโล แต่ก็เหนื่อยมากเพราะต้องวิ่งหลายที่

กระทั่งในปี 2544 ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีจำนวนสาขามากถึงกว่า 1,000 สาขา คุณพ่อเลยมองว่าอยากจะนำสินค้าเข้ามาขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น บ้าง เพราะจะทำให้เราขายได้ทั่วประเทศ โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยวิ่งส่งเอง ไม่ต้องมีหน้าร้าน

“การขายส่งแบบดั้งเดิมทำให้เราได้เงินก็จริง แต่ไม่มีความยั่งยืน เพราะพอขายส่งร้านจะไม่ให้ติดแบรนด์ หรือแม้กระทั่งเบอร์โทร แต่เราอยากมีแบรนด์ อยากสร้างแบรนด์ การขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดน่าจะตอบโจทย์ของเราได้ดีที่สุด จึงตัดสินใจเข้าไปเสนอขายที่เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งทางเซเว่น อีเลฟเว่น ก็ได้ให้โอกาสและให้คำปรึกษาที่ดีมากในทุกขั้นตอนการทำงานและกระบวนการผลิต โดยจำหน่ายในช่วงแรกเพียงแค่ 3 รายการจำนวน 1,000 ชิ้นต่อวันเท่านั้น ปัจจุบันมี 40รายการ4 แบรนด์ ได้แก่ บ้านมะขาม, เลิฟ ฟาร์ม (LOVE FARM),พัตโตะ (Patto)และน้องใหม่ล่าสุด ปองดอง โดยแต่ละแบรนด์ก็มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนละกลุ่มโดยสินค้าชูโรงสำคัญก็ยังคงเป็น มะขามคลุกเสวยและอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ มะขามแกะเปลือกแกะเมล็ด ที่มียอดขายเป็นอันดับ1ของบริษัทจนถึงปัจจุบัน”

“นวัตกรรม-ดีไซน์” จุดขายบ้านมะขาม

เต้น-ธนนท์ กล่าวว่า นอกเหนือจากเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบที่คัดสรรมาเป็นอย่างดีก่อนบรรจุลงผลิตภัณฑ์ สิ่งที่ไม่อาจละเลยได้คือเรื่องการรักษาคุณภาพของสินค้าให้คงอยู่เสมือนเพิ่งแกะออกจากฝัก ปัญหาของมะขามมีอยู่ 2 เรื่องหลักๆคือ 1.เกิดมอดได้ง่าย 2.เมื่อโดนอากาศจะมีสีหมองคล้ำ ทำให้ไม่น่ารับประทาน เราจึงคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาได้ออกมาเป็น “เครื่องกำจัดมอดมะขามด้วยคลื่นความถี่วิทยุ”ถือเป็นนวัตกรรมการกำจัดมอดในมะขาม 100% รายแรกของประเทศขณะที่ปัญหาเรื่องสีหมองคล้ำของมะขามนั้น แก้ไขโดยการดีไซน์แพ็กเกจจิ้งไม่ให้มีอากาศเข้าเข้าสู่ตัวสินค้าได้ง่ายด้วยการใช้กระป๋องฝาฟอยล์ช่วยยืดระยะเวลาการเข้าของอากาศได้อีก 2-3 เดือน จากเดิม4-5 เดือน เป็น6-9 เดือน

นอกจากเรื่องนวัตกรรมแล้ว เรื่องงานดีไซน์แพ็กเกจจิ้งก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะคือด่านแรกในการทำให้สินค้าได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ดีไซน์ต้องโดดเด่น พรีเซนต์ตัวเองได้ มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจน เล่าเรื่องได้ในระดับหนึ่งการที่สินค้ามีคาแร็กเตอร์และเรื่องราวช่วยให้ทำการตลาดได้ง่ายขึ้น สร้างการจดจำให้ผู้บริโภค ทำให้ง่ายต่อการต่อยอดสู่สินค้าใหม่ๆ ในอนาคต

อยาก Go Inter ไม่ยาก แค่เข้าใจ

เมื่อตลาดในประเทศแข็งแรง “บ้านมะขาม” จึงต้องมองหาโอกาสเติบโตในตลาดต่างประเทศเต้น-ธนนท์เล่าให้ฟังว่า การทำตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเข้าใจวัฒนธรรมการบริโภคของแต่ละประเทศให้ลึกซึ้ง เพื่อจะปรับปรุงสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุด

“เราเริ่มทำตลาดต่างประเทศเมื่อ10 ปีที่ผ่านมา ช่วงแรกผู้บริโภคไม่รู้จักมะขาม เราต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งศึกษาเรื่องของกฎหมายให้เข้าใจเรียกว่าเริ่มจากศูนย์เลย เราใช้กลยุทธ์นำสินค้าที่เค้ารู้จักอย่างกล้วยเข้ามาเป็นส่วนประกอบ โดยเอามะขามเป็นตัวสอดไส้ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ปัจจุบันเราส่งออกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อังกฤษ และออสเตรเลีย ในรูปแบบแปรรูป น้ำมะขามเปียกส่งออกตะวันออกกลาง แต่ละประเทศจะส่งออกสินค้าต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละประเทศ สำหรับสินค้าขายดีได้แก่ กล้วยไส้มะขาม มะขามอบแห้ง น้ำมะขามเปียก”

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 10% ของยอดขายรวม ที่เหลือ 90% เป็นยอดขายภายในประเทศ และยอดขายภายในประเทศกว่า 50% (ประมาณ 100 ล้านบาท) มาจากเซเว่น อีเลฟเว่นทั้งนี้คาดว่าในปี 2565 ยอดขายรวมของทั้งบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านบาทสำหรับในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าเติบโตที่ประมาณ 20%

ส่งมอบโอกาสสู่เกษตรกร-ชุมชน ปีละกว่า 100 ล้าน

เต้น-ธนนท์ กล่าวเสริมว่า การที่บริษัทก้าวมาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะได้รับโอกาสจากทาง เซเว่น อีเลฟเว่นเราจึงส่งมอบโอกาสนี้ต่อไปยังเกษตรกรและชุมชน โดยการรับซื้อมะขามจากเกษตรกรประมาณ 2,000 ตันต่อปี ตลอดจนสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชนโดยรอบพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ คิดเป็นรายได้กลับคืนสู่เกษตรและชุมชนกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

เรื่องราวความสำเร็จของ “บ้านมะขาม”ผ่านการสั่งสมและบ่มเพาะประสบการณ์มาเป็นอย่างดี จนได้มาเป็น 7-Eleven SME DNAที่มีจุดเด่นของ DNA ทั้ง 5 ข้อ ตั้งแต่นักคิด – มีไอเดียในการผลิตสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ นักพัฒนา -นำความคิดมาพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ นักสู้-ไม่ย่อท้อแม้เจอปัญหา/อุปสรรค นักแก้ปัญหา-เจอปัญหาก็พร้อมที่จะหาทางแก้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  และ นักสร้าง -สร้างสัมพันธ์ที่ดีพร้อมส่งต่อความยั่งยืนกลับสู่ชุมชน ไม่มุ่งหวังแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว

ที่มา ซีพีออลล์