ชวนมารู้จัก CBDC สกุลเงินดิจิทัลของแบงก์ชาติ อนาคตการเงินของไทย ที่ทำให้บิตคอยน์ยังไม่ได้เกิด

จากข่าวในช่วงที่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ ออกมาเบรกความฝันของชาวคริปโตเนียนในการใช้สกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีในการชำระราคาสินค้าต่าง ๆ นำมาสู่ความไม่พอใจของคนที่รักและสนับสนุนรวมถึงคนที่เชื่อในอรรถประโยชน์ในอนาคตของคริปโทเคอร์เรนซีเป็นอย่างมาก

“ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ติดตามการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบต่าง  ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในรูปแบบที่เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการแจ้งเตือนเป็นระยะ และขอย้ำว่าธนาคารแห่งประเทศไทย “ไม่สนับสนุน” การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง

อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย ในระยะต่อไป

หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้”

ถ้าจะพูดอย่างไม่เป็นทางการก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากหากมองให้ลึกจะพบว่า หน้าที่ของแบงก์ชาติคือการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทซึ่งเป็นสกุลเงิน เฟียส ของประเทศเรา

คิดดูว่าหากเอาแค่คน 30% ของประเทศหันหลังให้เงินบาท เงินบาทจะอ่อนค่าลงมากแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก่อนที่จะไปพูดถึง CBDC เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีถึงยังไม่สามารถจะทำหน้าที่เหมือนที่เงินบาททำได้ในตอนนี้

1. การเป็น Store of Value ข้อนี้หลายเหรียญสอบตกเนื่องจากไม่ได้มีปริมาณเหรียญที่จำกัด ซึ่งตอนนี้มี BTC ที่มีปริมาณเหรียญจำกัด เพื่อที่จะสามารถรักษามูลค่าที่แท้จริงและไม่โดนเรื่อง Time Value of Money ทำให้มูลค่าลดลง

2. การเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ก็ต้องยอมรับว่าคนไทยรวมถึงหลาย ๆ คนทั่วโลกก็มักจะถือคริปโทฯ เพื่อการเก็งกำไรเสียเป็นส่วนใหญ่ และมีส่วนน้อยมาก ๆ ที่จะนำมาใช้ซื้อขายสินค้าในวงกว้าง โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค

3. มีมาตรฐานที่ใช้วัดมูลค่า พูดให้เข้าใจง่ายคือมูลค่าของสกุลเงินคริปโทฯ ต้องนิ่งไม่ผันผวน แต่จะสังเกตว่าราคาของคริปโทฯ ส่วนใหญ่ยังมีความผันผวนอย่างรุนแรงมากอยู่ จงทำให้แบงก์ชาติแสดงความกังวลออกมา ณ จุด นี้

 

มาทำความรู้จักกับ CBDC

CBDC หรือ Central Bank Digital Currency เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง จากข้อมูลของธนาคารของประเทศ บอกว่า CBDC ถือเป็น “สกุลเงิน” ที่ออกโดยธนาคารกลางในแต่ละประเทศ แต่เราจะพูดถึงเฉพาะของไทยเรา

เรื่องคุณสมบัติเทียบเท่าเงินบาทนั้นไม่ต้องห่วงเพราะทางแบงก์ชาติยืนยันออกมาเองว่า “มีครบ” ไม่ว่าจะเป็นการรักษามูลค่า (Store of Value) เป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ และสำคัญที่สุดคือการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ (การันตีโดย ธปท.)

ซึ่งต่างจาก  Bitcoin Ethereum หรือสกุลเงินอื่น ๆ ที่ออกโดยภาคเอกชน ที่มูลค่าผันผวนจากการเก็งกำไร

 

CBDC มีกี่ประเภท

CBDC มีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่ สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) และสำหรับทำธุรกรรมระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาชน หรือ Retail CBDC

 

โครงการอินทนนท์

เป็นหนึ่งในโครงการที่ ธปท. จับมือกับสถาบันการเงิน 8 แห่งได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ (ปัจจุบันเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาติ) ธนาคารกรงศรีอยุธยา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ธนาคาร HSBC และ R3 ซึ่งเป็นผู้ที่ทำระบบการชำระเงินโดยใช้ CBDC ให้กับแบงก์ชาติ

โครงการอินทนนท์ มีขึ้นเพื่อเป็นแบบจำลองการใช้ระบบการชำระเงินของประเทศไทยในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัล โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 ทดลองให้ธนาคารต่าง ๆ แปลงเงินที่ต้องนำมาฝากเป็นเงินทุนสำรองที่แบงก์ชาติให้อยู่ในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยแบงก์ชาติ นั่นก็คือ CBDC โดยแล้วเสร็จแล้วในเดือนมกราคม 2562

ระยะที่ 2 สร้าง Smart Contract มาจำลองวงจรชีวิตของพันธบัตร (Bond) ตั้งแต่แปลงพันธบัตรให้อยู่ในรูปของ Token จนไปถึงการจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย รวมถึงการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ

ระยะที่ 3 เชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินในต่างประเทศผ่านการใช้ CBDC เพื่อลดการทำธุรกรรมผ่านตัวกลางหลายราย และพัฒนาไปสู่การโอนและชำระเงินตรงถึงกัน

ถ้าอ้างอิงจากรายงานของ ธปท. ต้องบอกว่าตอนนี้โครงการอินทนนท์นั้นได้ผ่านการทดสอบระยะที่ 3 ไปตั้งแต่เมื่อปี 2562 แล้ว แต่ถ้าถามเรื่องการนำมาใช้กับภาคประชาชนจะเริ่มได้เมื่อใด ธปท. ก็ยังไม่สามารถตอบได้

เนื่องจากการจะนำ CBDC มาใช้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับแบงก์ชาติแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่จะต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชนและภาคประชาชนด้วย

ในส่วนของประชาชนส่วนหนึ่งที่รู้เท่าทันเทคโนโลยีอาจจะมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวเนื่องจากเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหาก “บาทดิจิทัล” ถูกนำมาใช้จริง แบงก์ชาติเองก็จะสามารถแทร็กกิ้งธุรกรรมส่วนตัวของประชาชนได้ซึ่งขัดกับความตั้งใจของหลายคนที่อยากใช้สกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชน ซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ทำธุรกรรมได้

นี่ยังไม่นับรวมหลาย ๆ คนที่อาจจะไม่สามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีที่รุดหน้าไปไกลมาก ๆ ในปัจจุบันได้ ก็อาจจะไม่สามารถใช้ CBDC ได้

ก็ต้องตามกันต่อว่าหลังจากนี้ท่าทีของ ธปท. ที่มีต่อสกุลเงินดิจิทัลจะเป็นอย่างไร หลังมีกระแสต่อต้านค่อนข้างมากในโลกออนไลน์


อ้างอิง:  workpointtoday.com / bot.or.th / bot.or.th