ส่องเศรษฐกิจ CLMV ปี 2567 โอกาส ความท้าทาย “ส่งออก-ลงทุนไทย”

สนค.เผยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม CLMV ปี 2567 และโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกและการลงทุนไปในแต่ละประเทศ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ที่ประกอบด้วย กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มีแนวโน้มขยายตัวสูง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดย IMF ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลก ปี 2567 จะขยายตัว 2.9% ชะลอตัวจากที่คาดการณ์การขยายตัวในปี 2566 3.0%

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV มีมูลค่ารวมกว่า 26,695.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 9.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2566 โดยที่กัมพูชา คิดเป็นสัดส่วน 2.3% หรือ 6,441.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ สปป. ลาว คิดเป็นสัดส่วน 1.6% หรือ 4,647.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมียนมา คิดเป็นสัดส่วน 1.6% หรือ 4,410.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 3.9% หรือ 11,196.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม CLMV

1.กัมพูชา : 1) ธนาคารโลกเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจของกัมพูชาขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศ Lower-Middle Income ในปี 2559 2) สหภาพยุโรปได้เริ่มกระบวนการเพิกถอนกัมพูชาจากสิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562

3) การจัดทำแผนแม่บทโลจิสติกส์เพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ผ่าน 3 ระเบียงเศรษฐกิจ (เชื่อมโยงทะเลจีนใต้ ชายแดนประเทศไทย และชายแดนเวียดนาม) และ 4) การเปลี่ยนผ่านการปกครองสู่พลเอกฮุน มาเนต ผู้นำพรรค Cambodian People’s Party ที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2566 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 84

2.สปป. ลาว : 1) การมุ่งเป็น Battery of Asia ปัจจุบัน สปป.ลาว มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 42 แห่ง 2) รถไฟ สปป.ลาว-จีน เป็นจุดเปลี่ยนลักษณะภูมิประเทศจาก Land-locked เป็น Land-link เชื่อมต่อกับจีน ตลอดจนเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศ

3) สหประชาชาติรับรองให้ สปป.ลาว หลุดพ้นจากประเทศด้อยพัฒนาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 4) การพัฒนาระบบการคลังผ่านการเพิ่มการจัดเก็บรายได้และลดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยออกมาตรการควบคุมด้านการคลัง พัฒนาการจัดเก็บรายได้ และคุมการใช้จ่ายภาครัฐ 5) ราคาเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ สปป.ลาว ประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565

3.เมียนมา : 1) ในปี 2562 ธนาคารกลางเมียนมาประกาศออกใบอนุญาตให้แก่ธนาคารต่างประเทศจํานวน 5-10 แห่ง เพื่อสนับสนุนการเปิดเสรีทางการเงินของประเทศ 2) การรัฐประหารเมื่อปี 2564 เป็นปัจจัยจำกัดการเติบโตที่สำคัญ

3) นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากเมียนมาไปยังประเทศจีนในช่วงปลายปี 2565 ภายหลังจากที่เมียนมาประสบปัญหาการเมืองภายในประเทศ และ 4) ในปี 2565 ค่าเงินจั๊ตอ่อนค่ารุนแรง และรัฐบาลจึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพโดยการลดการสั่งสินค้าจากต่างประเทศ จำกัดการนำเข้า แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

4.เวียดนาม : 1) เวียดนามมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่ากว่า 435,000 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ แรงงานที่มีคุณภาพ และมีทำเลที่ตั้งที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าในภูมิภาค 2) เวียดนามเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในกลุ่ม CLMV โดยมีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกหลัก สัดส่วนกว่าร้อยละ 30 โดยประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ได้แก่ สหรัฐ และจีน

3) การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของ e-Commerce จากการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 เวียดนามมียอดการค้าบน e-Commerce สูงเป็นลำดับที่ 26 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 13,358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4) เวียดนามมีประชากรมากเป็นลำดับที่ 15 ของโลก (96.2 ล้านคน) โดยร้อยละ 70 อยู่ในวัยทำงาน

ส่งผลให้มีแรงงานจำนวนมากและมีตลาดภายในขนาดใหญ่ 5) การเมืองมีเสถียรภาพไม่ผูกขาดกับผู้นำคนเดียว แม้จะปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ 6) เวียดนามได้ประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เป็นประเทศเป้าหมายในการเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ รวมทั้งได้รับผลประโยชน์จากการส่งออกไปสหรัฐ เพิ่มขึ้น ทดแทนการส่งออกจากจีน

7) การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงาน 8) เวียดนามให้สัตยาบันรับรองข้อตกลง CPTPP ในปี 2561 โดยประเทศสมาชิกจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าตามรายการสินค้าที่กำหนดไว้ และ 9) ในปี 2563 เวียดนามยกเลิกข้อจำกัดการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจทั่วไป โดยยกเลิกเพดานการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ และลดเพดานจำกัดการถือครองหุ้นของต่างชาติเป็นร้อยละ 30 สำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น การธนาคาร และการบิน

โอกาสการค้าการลงทุนของไทย

1.กัมพูชา : 1) ใช้ประโยชน์จากแผนแม่บทโลจิสติกส์ 2025 ผ่านการส่งออกสินค้าไปยังกัมพูชาและประเทศที่ 3 เช่น เวียดนาม ซึ่งไทยสามารถลดต้นทุนทางการเงินและเวลาได้เฉลี่ยร้อยละ 20 2) อุปสงค์สินค้าผลไม้และผลไม้แปรรูปเพิ่มสูงขึ้นเป็นโอกาสส่งออกผลไม้แปรรูปของไทย 3) ความได้เปรียบจากการมีค่าแรงต่ำสุดในกลุ่มประเทศ CLMV จึงเหมาะกับอุตสาหกรรมที่เป็น Labor-Intensive

4) การออกกฎระเบียบที่ดึงดูดการลงทุน อาทิ กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำในการเริ่มต้นกิจการเพียงประมาณ 100,000 บาท การถือครองหุ้นได้ร้อยละ 100 (ในอุตสาหกรรมที่ไม่หวงห้าม) รวมทั้งสามารถนำกำไรกลับประเทศได้โดยมีกฎระเบียบน้อยกว่าประเทศอื่นในกลุ่ม CLMV และ 5) ธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ การแพทย์ พลังงาน เกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์

2.สปป.ลาว : 1) การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของ สปป.ลาว โดยจัดทำแผนบูรณาการการใช้พื้นที่บริเวณจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดหนองคายเชื่อมโยงไทยไปยังจีน ผ่านรถไฟ สปป.ลาว-จีน 2) การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน ทำให้การขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนสะดวกขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งในอนาคตสินค้าธัญพืชและสินค้าประมงแช่เย็น จะสามารถใช้เส้นทางรถไฟดังกล่าวขนส่งสินค้าเข้าไปยังจีนได้เช่นกัน

3) การเร่งปฏิรูปโครงสร้างระบบการเงินการธนาคารและสินเชื่อของประเทศให้มีความเป็นสากล สามารถรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสของไทยในการขยายการลงทุนสาขาบริการธนาคารใน สปป.ลาว

4) ผู้บริโภคมีความนิยมในสินค้าไทยโดยมองว่าเป็นสินค้าระดับบนที่มีคุณภาพ และนิยมข้ามพรมแดนมาจับจ่ายใช้สอยบริเวณชายแดน ทั้งนี้ มูลค่าการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ปี 2566 (ม.ค.-ส.ค. 66) มีมูลค่าการค้ารวม 169,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.53 (YOY) และ 5) ความท้าทายสำหรับการค้าและการลงทุนใน สปป.ลาว ได้แก่ ตลาดมีขนาดเล็ก (ประชากรประมาณ 7.5 ล้านคน ต่ำที่สุดใน CLMV) และกำลังซื้อยังไม่สูงมากนัก

3.เมียนมา : 1) การเร่งส่งเสริมการค้าชายแดน เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงภายในประเทศส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน ชาวเมียนมาจึงเลือกข้ามแดนมาใช้จ่ายบริเวณตะเข็บชายแดน ซึ่งชายแดนไทย-เมียนมามีระยะทางถึง 2,400 กิโลเมตร ประกอบกับในปลายปี 2565 รัฐบาลเมียนมาผ่อนปรนให้สามารถใช้เงินบาทชำระค่าสินค้าสำหรับการค้าชายแดน เพื่อกระตุ้นการค้าและลดการพึ่งพาการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ

2) โอกาสของไทยในการเป็นตัวเลือกลำดับต้นหากนักลงทุนพิจารณาจะย้ายฐานการผลิตออกจากเมียนมา โดยไทยอาจให้สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตจากเมียนมา เช่น เครดิตภาษีนำเข้าเครื่องจักรหรือปัจจัยการผลิต การนำเข้าแรงงานฝีมือ เป็นต้น และ 3) ความท้าทายสำหรับการค้าและการลงทุนในประเทศเมียนมา ได้แก่ กำลังซื้อโดยเฉลี่ยยังไม่สูง มีความแตกต่างด้านชาติพันธุ์สูง

4.เวียดนาม : 1) การที่เวียดนามมุ่งหมายเป็นศูนย์กลางไอทีของ CLMV และอาเซียน เป็นผลให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือด้านไอที ซึ่งการส่งออกแรงงานฝีมือด้านไอทีผ่าน Remote work ของไทย เป็นประเด็นที่ควรศึกษาความเป็นไปได้

2) เวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่ และเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ด้วยประชากรที่มากเป็นลำดับที่ 15 ของโลก (96.2 ล้านคน) และร้อยละ 70 อยู่ในวัยทำงาน ส่งผลให้มีกำลังซื้อสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ CLMV และ 3) ความท้าทายสำหรับการค้าและการลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ ชาวเวียดนามไม่ได้มองว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดีกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศหรือที่ซื้อจากประเทศอื่น ซึ่งแตกต่างกับ สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่มองว่า สินค้าไทยเป็นสินค้าระดับกลาง-ระดับบน