คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร PIM เชื่อมั่นภาคการเกษตรยังสำคัญต่อประเทศ แนะปรับเปลี่ยนสู่เกษตร 4.0 เน้นจัดหลักสูตรจัดการเชิงธุรกิจ ผลิตนักจัดการเกษตรรองรับเกษตรสมัยใหม่เพิ่มโอกาสแข่งขันของประเทศ

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา We Are CP จัดกิจกรรม CP Round Table ล้อมวงคิดใกล้ชิดผู้นำ กับ อ.มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดี คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มาแบ่งปัน ข้อคิด มุมมองเรื่องการเกษตรของไทย ในยุค 4.0 พร้อมด้วยคณาจารย์รุ่นใหม่ของคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ได้แก่ ผศ. ดร มลฤดี จันทรัตน์ , ผศ. ดร. กรวิทย์ ไชยสุ , ผศ.ดร. ชัยรัตน์ บูรณะ และ ดร. ณภัทร กำธรสิริวิมล มาร่วมแบ่งปันความรู้การทำเกษตรยุคใหม่แบบ 4.0 ให้แก่ผู้บริหาร พนักงานในเครือฯ ร่วมรับฟังผ่าน TrueVroom และนักศึกษาปีที่2 คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ร่วมรับฟัง ณ ห้องสมุด สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

อ.มนตรี คงตระกูลเทียน กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานในเครือฯ กว่า 40 ปี มีโอกาสได้ทำงานในภาคการเกษตร ทำให้เชื่อมั่นว่าภาคการเกษตรยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและต่อเครือฯ ซึ่งภาคการเกษตรเป็นรากฐานการผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพให้แก่อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ป้อนให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตอาหารด้วย และจากประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับเครือฯ สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ การมีความรู้ในเรื่องการเกษตรเชิงธุรกิจ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ รวมทั้งการนำองค์ความรู้ในเรื่องการผลิต การตลาด การแปรรูป ที่มีมาใช้ในการการบริหารจัดการ

“เมื่อผมเข้ามารับหน้าที่ คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ได้นำประสบการณ์ ความรู้มาออกแบบการเรียนการสอนเพื่อสร้างบุคลากรรองรับการเกษตรในยุค 4.0 ดึงอาจารย์คนหนุ่มสาวที่มีความรู้การจัดการธุรกิจการเกษตร การบริหารจัดการเกษตรทันสมัย การใช้เทคโนโลยีการผลิต การตลาด การแปรรูป และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการเรียนการสอนให้นักศึกษาเรียนรู้จากของจริงที่เรามีเครือข่ายกว่า 400 เครือข่าย ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการเกษตรที่มีคุณภาพออกมาทำงาน บัณฑิตทุกรุ่นที่จบออกมาล้วนมีงานทำและเป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการ ทั้งหน่วยงานในเครือฯและนอกเครือฯ ต้องขอบคุณผู้บริหารในเครือเจริญโภคภัณฑ์ในแต่ละหน่วยงานที่ช่วยฝึกให้นักศึกษาเรา ที่ผ่านไปแล้ว 4 รุ่น ได้งานทำทุกคนไม่มีใครตกงาน”

ในโอกาสเดียวกันนี้ ผศ. ดร มลฤดี จันทรัตน์ ได้มาถ่ายทอดเรื่องราวการทำธุรกิจเกษตร โดยกล่าวว่า นักศึกษาที่เข้ามาเรียนที่คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ต้องเริ่มด้วยการปรับ Mindset ให้เขาเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่และเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้เรียนรู้ธุรกิจเกษตร โดยเริ่มตั้งแต่เรียนรู้การเลือกและจัดหาปัจจัยการผลิตที่ดีมีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การผลิตในฟาร์มให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้า จากนั้นเรียนรู้กระบวนการการแปรรูปเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพส่งต่อไปยังการกระจายสินค้า ผ่านทางช่องทางการขายต่างๆ ทั้งค้าปลีกค้าส่งทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ นอกจากให้ความสำคัญในการการสร้างคนเก่งแล้ว ยังสร้างคนดีด้วย เพราะ เป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่พอต้องมีความดีมีคุณธรรมประจำใจมีความกตัญญู ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของนักศึกษาคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร โดยมุ่งเน้นสร้างนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ในการเป็น Professional Agriculture Business Solutions Provider ที่มีความรอบรู้เรื่องธุรกิจเกษตร และสามารถจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ ต้นน้ำกลางน้ำ ปลายน้ำ

” เราเชื่อมั่นในศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่มีในทุกๆ คน เราเชื่อว่าทุกคนมีความถนัดในสิ่งที่แตกต่างกัน บางวิชาที่คนนึงไม่ถนัด ก็มีเพื่อนที่จะคอยประคองกันไป แล้วก็ทำงานเป็นทีม เรามีสโลแกนว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่ง นอกจากเรียนที่นี่ได้ความรู้ ได้เพื่อนได้มิตรภาพแล้ว อย่างที่หลายๆ ท่านบอกว่านักศึกษาจะได้คอนเนคชั่นซึ่งสำคัญมากๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่งเราเริ่มสร้างตั้งแต่การฝึกงานเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปรู้จักองค์กร และความรู้จากวิทยากรเก่งระดับประเทศ” ผศ. ดร มลฤดี กล่าวในตอนท้าย

ผศ. ดร. กรวิทย์ ไชยสุ กล่าวว่าเพิ่มเติม ว่าในช่วงมัธยมปลาย เราอาจจะเรียน ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แล้วไม่ได้ใช้งาน แต่หลักสูตรของคณะฯ จะนำความรู้ดังกล่าวเข้ามาใช้งานเพื่อช่วยแก้โจทย์ปัญหาของเกษตรกร พร้อมทั้งใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือ ซึ่งนวัตกรรมที่นำมาใช้มีองค์ประกอบ 4 ประการคือ 1. NEW ต้อง “ใหม่” แนวคิดใหม่ เทคโนโลยีใหม่ 2.Different ต้อง “แตกต่าง” แตกต่างจากที่อื่นหรือหากมีแล้วต้องนำมาบูรณาการได้ 3. Better “ดีกว่า” ที่เรามีอยู่เดิม 4. Marketing ทำแล้วต้องขายได้ ถ้ามีไม่ครบทั้ง 4 ข้อนี้จะเป็นแค่สิ่งประดิษฐ์ไม่ใช่นวัตกรรม

“ในรายวิชาของเราจะเน้นเรื่องการนำองค์ความรู้ นำคุณสมบัติของพืชแต่ละอย่างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยสร้างกิจกรรมขึ้นมาชื่อว่า Bio Model พร้อมบ่มเพาะเรื่อง Design Thinking (แนวคิด) เรื่องของ PDCA (การวางแผนอย่างเป็นระบบ) เรื่องของแนวคิดนวัตกรรม 4 ข้อ ที่กล่าวมาแล้ว เราจะให้แต่ละกลุ่มสร้างสรรค์ผลงานจากการนำปัญหาของเกษตรกรที่ได้ไปเรียนรู้ จากปัญหาที่นักศึกษาได้ไปสำรวจข้อมูลมา แล้วคิดนวัตกรรม ทั้งการคิดในเชิง Innovation process (นวัตกรรมเชิงกระบวนการ) ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มพูลมูลค่าผลผลิต เสริมสร้างกำไรให้แก่สินค้าเกษตร รวมทั้งการคิดในเชิง Innovation product (นวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์) เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค” ผศ. ดร. กรวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้ ผศ. ดร.ชัยรัตน์ บูรณะ ได้มาถ่ายทอดถึงเรื่องความสำคัญและการดูแลเอาใจใส่พืช โดยกล่าวว่า “พืชก็เหมือนเด็กที่ต้องเอาใจใส่ดูแล ต้องรู้นิสัยเด็กแต่ละคนว่าชอบอะไร ชอบอาหารแบบไหน เพราะผู้ใหญ่กับเด็กชอบอาหารไม่เหมือนกัน พืชก็เช่นกัน ต้นกล้าพืชที่กำลังเจริญเติบโตและพืชที่กำลังเก็บเกี่ยว ความต้องการอาหารแตกต่างกัน แหล่งที่อยู่ที่สำคัญของพืชก็คือ “ดิน” นักศึกษาจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชนิดของดิน โครงสร้างของดิน รวมทั้งวิธีการปรับปรุงดินให้ตรงตามความต้องการของพืชแต่ละชนิด เช่น ไม้ดอกต้องการดินแบบไหน ต้องดูแลอย่างไร ต้องเอาใจใส่เขาให้ดีที่สุดเช่นเดียวกัน ถ้ามนุษย์มีความสุขผลงานที่ออกมาก็จะดี ต้นไม้หากได้รับสิ่งแวดล้อมที่ดี อาหารที่ดี ผลผลิตก็จะดีเช่นกัน”

ด้าน ดร.ณภัทร กำธรสิริวิมล ได้กล่าวถึงความสำคัญของวิชาฟิสิกส์กับนวัตกรรมทางการเกษตร โดยกล่าวว่า “ฟิสิกส์เป็นวิชาบังคับที่จำเป็นสำหรับวิศวกร แต่สำหรับคนที่เรียนเกษตร มักจะบอกว่า ฟิสิกส์เป็นเรื่องยาก ไม่อยากเรียน เพราะเรียนไปแล้วไม่รู้เอาไปทำอะไร ซึ่งคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก จึงได้ปรับกระบวนการเรียนรู้ทำให้นักศึกษาเข้าใจการว่าเรียนวิชาฟิสิกส์มีความสำคัญต่อการเกษตรอย่างไร

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ในการปลูกพืช 1 ต้นต้องมีแสง ต้องมีอุณหภูมิ ต้องมีการให้น้ำและความชื้น ปริมาณทั้งหมดนี้เป็นปริมาณทางฟิสิกส์ซึ่งตรวจวัดได้ ในการทำเกษตรสมัยใหม่เราใช้เซ็นเซอร์เป็นตัววัด การเรียนฟิสิกส์ทำให้เราเข้าใจเรื่องของเซ็นเซอร์ ทำให้เราเข้าใจว่าเกษตรสมัยใหม่มีหลักการคือ “ง่าย ครบ จบ ในนิ้วเดียว” นั่นคือสิ่งที่จะสอน และขับเครื่องจักรกลเกษตรจริงๆ รวมไปถึงการฝึกใช้โดรนเพื่อการเกษตร ด้วย ” ดร.ณภัทร กล่าว

ในช่วงท้ายของการเสวนา อ.มนตรี ได้กล่าวให้ข้อคิดว่า “ เครือฯ เริ่มต้นแต่เม็ดพันธุ์ตราเครื่องบินจนกระทั่งวันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น การนำโดรนเข้ามาช่วยในด้านการเกษตร นำหุ่นยนต์มาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนตลอดเวลา วันนี้สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการสร้าง “คนรุ่นใหม่” ที่จะมาแทนพวกเรา คนรุ่นใหม่ที่มาก็ต้องเก่งกว่าพวกเราเพราะว่าได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากคนรุ่นก่อน คนรุ่นเก่าๆ ไม่สามารถจะสู้กับคนรุ่นใหม่ได้โดยเฉพาะเรื่องของ เทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจะทำได้ไวกว่า ก็ขอฝากพวกเราชาวเครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ของผมนะน้องรุ่นใหม่มีโอกาสได้เข้าไปรับใช้เครือฯ รับใช้สังคม ฝากถึงลูกศิษย์ทุกคนขอให้ตั้งใจ เรามาถูกที่ ถูกทางถูกเวลา ถ้าเราเก็บเกี่ยวได้เราจะเป็นผู้ที่มีทั้งความดีและความเก่ง และเราก็จะเป็นกำลังสำคัญให้แก่ประเทศชาติของเรา” อ.มนตรี กล่าวในที่สุด

ติดตามเทปการเสวนา CP Roundtable 13 ตัวเต็ม ได้ทางเว็บไซต์ wearecp.com