BJC บุกตลาดร้านสะดวกซื้อ “โดนใจ” 30,000 สาขา / โตโยต้าทุ่ม 1.1 แสนล้านบาท ให้ LG ผลิตแบตเตอรี่ EV / ผลสำรวจของ KPMG พบ 80% ของ CEO ระดับโลกวิตกค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ

ธุรกิจ

BJC บุกตลาดร้านสะดวกซื้อ “โดนใจ” 30,000 สาขา

  • ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยกำลังจะเกิดการแข่งขันครั้งใหญ่ ไทยเบฟเวอเรจมีแผนจะบุกร้านของชำ 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็น “ร้านโดนใจ” ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในเครือของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ BJC ภายในปี 2570
  • เปลี่ยนโฉมให้ร้านโชห่วยขนาดเล็กกลายเป็นร้านสะดวกซื้อยุคใหม่ โดยแลกกับการที่ร้านจะต้องลงของจากบริษัทต่างๆ ในเครือ เช่น บิ๊กซี และไทยเบฟ ในปริมาณไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้
  • “เจ้าสัวคีรี” หรือนายคีรี กาญจนพาสน์ แห่งบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และ “ตระกูลจิราธิวัฒน์” แห่งกลุ่มเซ็นทรัล สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ด้วย (กรุงเทพธุรกิจ)

เทคโนโลยี

โตโยต้าทุ่ม 1.1 แสนล้านบาท ให้ LG ผลิตแบตเตอรี่ EV

  • แอลจี เอ็นเนอร์จี โซลูชัน ของเกาหลีใต้ เซ็นสัญญามูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ (1.1 แสนล้านบาท) เพื่อจัดหาซัพพลายแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน ให้รถยนต์ไฟฟ้าโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก
  • แอลจี เอ็นเนอร์จีโซลูชัน จัดหาซัพพลายให้เจนเนอรัล มอเตอร์ส, ฮุนได และฮอนด้า และบริษัทเตรียมสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในสหรัฐ มูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์กับฮุนได เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
  • โตโยต้า กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด 3 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2565 โตโยต้าจำหน่ายรถยนต์ได้เกือบ 10.5 ล้านคัน และตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ 30 รุ่น ทั้งแบรนด์โตโยต้า และเลกซัส และคาดว่าจะผลิตรถยนต์อีวีให้ได้ 3.5 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2573 (ซีเอ็นบีซี)

เศรษฐกิจโลก

ผลสำรวจของ KPMG พบ 80% ของ CEO ระดับโลกวิตกค่าครองชีพที่สูงขึ้น

  • จากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2022 เหลือเพียง 3.7% ในเดือนสิงหาคม 80% ของ CEO ที่ร่วมการสำรวจยกให้ปัญหาค่าครองชีพเป็นปัจจัยที่น่าวิตกกังวลมากที่สุด
  • แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นยังคงกระตุ้นให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และต้นทุนด้านสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น พลังงาน ยังคงสูงขึ้น ส่วนต้นทุนอาหารยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากสภาพภูมิอากาศ
  • CEO มั่นใจต่อความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจมากกว่าปีที่แล้ว โดย 77% เชื่อว่าธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้ดี
  • 72% ของ CEO เห็นว่าการแข่งขันและการลงทุนในเทคโนโลยี AI เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่ 81% กังวลว่าขาดกฎระเบียบอาจทำให้บริษัทไม่สามารถเพิ่มผลกำไรและเติบโตได้อย่างเต็มที่ บรรดาผู้นำธุรกิจเชื่อว่าองค์กรจะมีประสิทธิผลมากขึ้นในอนาคตหากพนักงานอยู่ต่อหน้าและร่วมมือกันต่อหน้ามากขึ้น (เดอะแสตนดาร์ด)