เงินเฟ้อสหรัฐ มกราคม 2566 ชะลอลงติดต่อกันเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน / แบงก์ชาติแก้หนี้ครัวเรือนจริงจัง 4 ปี หนี้ต่อจีดีพีต้องต่ำกว่า 80% / ยอดขาย EV ทั่วโลกพุ่งขึ้น 53% ในปี 2022

ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ

เศรษฐกิจโลก

เงินเฟ้อสหรัฐ มกราคม 2566 ชะลอลงติดต่อกันเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน

  • สำนักสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาแถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.2% ซึ่งเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564
  • ค่าที่พักอาศัยเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากที่สุดในการหนุนให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด รองลงมาคือราคาอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ
  • ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐาน ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.6% เมื่อเทียบรายปี
  • แนวโน้มเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ทำให้ FedWatch Tool ของ CME Group ให้น้ำหนักว่า เฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนมี.ค.และเดือนพ.ค. (ฐานเศรษฐกิจ)

เศรษฐกิจไทย

แบงก์ชาติแก้หนี้ครัวเรือนจริงจัง 4 ปี หนี้ต่อจีดีพีต้องต่ำกว่า 80%

  • ‘สุวรรณี เจษฎาศักดิ์’ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า แบงก์ชาติต้องการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยอยากเห็นหนี้ครัวเรือนลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืน(ต่ำกว่า 80%) ซึ่งหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจาก 59.3% ในปี 2553 มาเป็น 86.8% ต่อจีดีพีในไตรมาสที่ 3 ปี 2565
  • โดยแบงก์ชาติคาดการณ์ว่า หากไม่แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ในปี 2570 หรือในอีก 4 ปีต่อจากนี้ หนี้ครัวเรือนไทยจะยังทรงตัวสูงที่ระดับ 84% จะฉุดรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะคนที่เป็นหนี้ พอได้รายได้มา ก็จะถูกหักออกไปใช้หนี้ แทนที่จะเอาไปใช้จ่ายเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัว (เวิร์คพอยท์ทูเดย์)

รถไฟฟ้า

ยอดขาย EV ทั่วโลกพุ่งขึ้น 53% ในปี 2022

  • BloombergNEF เผยแพร่รายงานว่า การใช้จ่ายทั่วโลกสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 53% ในปีที่แล้วเป็น 3.88 แสนล้านดอลลาร์ และ BNEF คาดว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์นั่งไฟฟ้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านดอลลาร์
  • โดยแบรนด์รถไฟฟ้าญี่ปุ่นมียอดขายไม่ถึง 5% ของยอดขายทั้งหมดในปีที่แล้ว และส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นในจีน ลดลงเหลือ 21% จาก 25% ในปี 2021 ซึ่งโตโยต้ากล่าวว่าจะไม่มีแพลตฟอร์มรถอีวีใหม่จนปี 2027 สะท้อนปัญหาของผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมที่ต้องใช้เวลาการปรับตัวค่อข้างมาก (บางกอกโพสต์)