ดีส์หั่นแนวโน้มเครดิตเอเชียสู่ ‘เชิงลบ’ เผย ‘จีน’ ดึงเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค / หุ้นฮ่องกงดิ่ง 36% ร่วงลึกกว่าหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ในรอบ 15 ปี / เทรดเดอร์คาดเฟดไม่หั่นดอกเบี้ยจนถึงเดือนพ.ค.

ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ

เศรษฐกิจเอเชีย

มูดีส์หั่นแนวโน้มเครดิตเอเชียสู่เชิงลบเผยจีนดึงเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค

  • บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส” ประกาศหั่นแนวโน้มเครดิตภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ลงสู่มุมมอง “เชิงลบ” จากมุมมองเสถียรภาพในปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยลบหลักๆ มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในจีน การระดมทุนที่คาดว่าจะตึงตัวขึ้น และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายตัว
  • เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ไม่เร็วพอตามที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดหวังไว้ตั้งแต่ต้นปี 2566 และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ที่ผ่านมาก็ขยายตัวได้เพียง 5.2% ซึ่งน้อยกว่าที่ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์สคาดการณ์ไว้ที่ 5.3%
  • ก่อนหน้านี้มูดีส์ได้ออกรายงานเกี่ยวกับจีนเมื่อวันที่ 15 ม.ค. โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีที่แท้จริงของจีนจะขยายตัวได้ 4% ทั้งในปีนี้และปีหน้า จากเดิมที่เคยโตได้เฉลี่ย 6% ระหว่างปี 2557 – 2566 ซึ่งการเติบโตของจีนที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญถึงเศรษฐกิจทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย
  • นอกจากปัจจัยเรื่องจีนแล้ว มูดีส์ยังระบุว่า “สภาวะการระดมทุนที่ตึงตัว” จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบที่กดดันอันดับความน่าเชื่อถือของเอเชีย-แปซิฟิก (กรุงเทพธุรกิจ)

เศรษฐกิจฮ่องกง

หุ้นฮ่องกงดิ่ง 36% ร่วงลึกกว่าหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ในรอบ 15 ปี

  • ดัชนี Hang Seng China Enterprises ลดลง 2.4% ใกล้แตะระดับต่ำสุดเกือบ 2 ทศวรรษ ขณะที่ดัชนี CSI 300 ของจีนแผ่นดินใหญ่ลดลง 1.6% ส่งผลให้ดัชนีที่ติดตามส่วนต่างระหว่างราคาหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่กับหุ้นที่จดทะเบียนในฮ่องกงพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2009
  • ความสูญเสียอย่างรุนแรงในฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทจีนที่มีอิทธิพลและมีนวัตกรรมมากที่สุดบางแห่ง และได้รับอิทธิพลจากรัฐบาลจีนน้อยกว่า สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่น่ากังวลมากขึ้นของนักลงทุนทั่วโลกที่มีต่อประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก
  • ภาวะเทขายหุ้นจีนยิ่งดูย่ำแย่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่คึกคัก โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 มกราคม) ดัชนี S&P 500 เพิ่งทำระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ในรอบ 2 ปี
  • ความอ่อนแอที่ยืดเยื้อยังเกิดขึ้นหลังจากธนาคารพาณิชย์จีนคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสอดคล้องกับการตัดสินใจล่าสุดของธนาคารกลางจีน ที่ตัดสินใจคงต้นทุนการกู้ยืม แต่นั่นส่งผลให้นักลงทุนต่างผิดหวังที่ทางการจีนไม่ยกระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากกว่านี้ (เดอะสแตนดาร์ด)

เศรษฐกิจสหรัฐฯ

เทรดเดอร์คาดเฟดไม่หั่นดอกเบี้ยจนถึงเดือนพ.ค.

  • ผลสำรวจล่าสุดซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า เทรดเดอร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงการประชุมเดือนพ.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด
  • เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ม.ค. มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค สหรัฐเดือนม.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ขณะที่นายออสแทน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโกแสดงความเห็นว่า เฟดไม่ควรส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน
  • การแสดงความเห็นของนายกูลส์บี ทำให้นักลงทุนปรับลดน้ำหนักต่อการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. โดยเครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ณ ช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 47.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. ซึ่งลดลงอย่างมากจากระดับ 81% ในการสำรวจเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ (กรุงเทพธุรกิจ)