CPF ร่วมแชร์อนาคตของเทคโนโลยีอาหาร (Food Tech) ตอบโจทย์ความมั่นคงด้านอาหาร

ดร.ลลานา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ CPF เป็นตัวแทนบริษัทฯ ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ The Future of Food Tech ในงาน ThaiFex-Anuga ASIA 2022 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อแบ่งปันความรู้และมุมมองเกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารที่มีความสำคัญต่อวิถีความเป็นอยู่ของทุกคนในทศวรรษหน้า คำนึงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแนวทางที่ยั่งยืน
ดร.ลลานา กล่าวว่า เทคโนโลยีอาหารในช่วง 5 ปี มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและมีการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปี 2021 ที่ผ่านมา มีการลงทุนในเทคโนโลยีอาหารสูงขึ้น 4 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ครอบคลุมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการเฉพาะบุคคล (Personalized Nutrition) การจัดการอาหารส่วนเกิน อาหารทางเลือก รวมถึงการขนส่ง การค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มต่างๆ ที่เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากร ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างจำกัด
ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิจัย และนักโภชนาการ เข้ามาผลักดันนวัตกรรมอาหาร สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการวิจัยและออกแบบอาหาร ซึ่งในอีกสิบปีข้างหน้า เราจะได้เห็นอาหารในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะวิธีการผลิตที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคนมากขึ้น ทั้งเรื่องคุณภาพ คุณค่าโภชนาการเพื่อสุขภาพเฉพาะบุคคล ความสะดวก ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างสรรค์อาหาร ขณะที่ CPF ได้ทำงานร่วมกับ Startup จากทั่วโลกเพื่อพัฒนาโปรตีนทางเลือก ทั้ง Plant-based protein และ Cell-based protein เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารตอบรับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต
การระบาดของโควิด-19 ก็ยังเป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปในหลายมิติ เทรนด์อาหารในอนาคตจึงมุ่งไปสู่สร้าง “สุขภาพที่ดีอย่างยืนยาว” (Health span) มากกว่าการกินเพื่ออยู่ เช่น การใส่ใจต่อความสะอาด ปลอดภัย พฤติกรรมการปรุงอาหารเพื่อรับประทานเอง ไปจนถึงเทรนด์ “Functional Food” อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยป้องกันโรค เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น อาหารเพื่อผู้สูงอายุ นอกจากรสชาติถูกปาก ยังต้องมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม กลืนสะดวก ปริมาณอาหารแต่ละคำไม่ใหญ่ เพื่อช่วยป้องกันโรคและฟื้นฟูสภาพร่างกายควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้อายุยืนและมีสุขภาพที่ดี สำหรับตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุในเอเชียนั้นยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ผู้สูงอายุในไทยรวมถึงภูมิภาคเอเชียนิยมรสชาติที่เป็นท้องถิ่น รสชาติที่เป็นของคนไทย ช่วยให้ทานได้สะดวกและมีความสุขมากขึ้น
ดร. ลลานา กล่าวว่า ความท้าทายระดับโลก เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ นโยบายการค้า และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร แต่ละประเทศจึงต้องพยายามปรับตัวและลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารมากขึ้น เพราะฉะนั้นการสนับสนุน Startup การค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมอาหารและวิธีการผลิตใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในทศวรรษหน้า
ด้าน Tony Hunter Food Futurist ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาหารแห่งอนาคต ได้กล่าวถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร และ Startup ในไทยที่มีความก้าวหน้าและสร้างนวัตกรรมอาหารที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยยกตัวอย่างการเติบโตของ Meat Zero ว่าผลิตเมนูอาหารที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในภูมิภาค จนกลายเป็นผู้นำในตลาดโปรตีนทางเลือกของไทยอีกด้วย