ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ปาฐกถาพิเศษในงานเปิดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ย้ำไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน มีศักยภาพเติบโตสูง แนะนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลเร่งขยายการค้าการลงทุนครั้งใหญ่ ชูเทคโนโลยีขั้นสูง หนุนอุตสาหกรรมการผลิต

25 มิถุนายน 2566 –  คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติหอการค้าไทย-จีน เข้าร่วมพิธีเปิดพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ภายใต้ธีม “ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 จัดโดยหอการค้าไทย-จีน เพื่อสนับสนุนการขยายเครือข่ายกระชับความสัมพันธ์ทางการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ พร้อมยกระดับศักยภาพนักธุรกิจไทยและจีน โดยมี ฯพณฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี  พร้อมด้วยคุณเกา หยุนหลง  รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานคณะกรรมการบริหารสหพันธ์อุตสาหกรรมและการค้าสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมกันนี้ คุณณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และประธานกรรมการการจัดงาน WCEC ครั้งที่ 16 ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้  และคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ นอกจากนี้ยังมี คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์  คุณหยาง เสี่ยวผิง รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณเซี่ยยี่ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเป็นเกียรติในงาน โดยภายในงานยังได้รับความสนใจจากนักธุรกิจชาวจีนและนักธุรกิจนานาประเทศกว่า 4,000 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมเจรจาการค้าทางธุรกิจและสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจกันอย่างคับคั่ง  ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยเป็นเจ้าภาพเมื่อ 28 ปีที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์  กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลง และมีความไม่แน่นอน นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจะต้องเป็นผู้ที่มองเห็นโอกาสจากวิกฤต เพราะในวิกฤตจะมีโอกาส ต้องวิเคราะห์โอกาส จะคว้าโอกาสนั้นได้อย่างไร ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นการลงทุนและการพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยี ตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาคือการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ที่นำมาซึ่งเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เข้ามาในประเทศไทยทำให้ไทยมีโอกาสในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการพัฒนาประเทศ เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน จึงเป็นโอกาสสำคัญที่นักธุรกิจจีนจะต้องนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาธุรกิจการลงทุนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต ที่นักธุรกิจต้องเน้นเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและการลงทุนทางด้านสินทรัพย์ทางดิจิทัล

นายธนินท์ กล่าวด้วยว่า นักธุรกิจชาวจีนโลก จะไปลงทุนที่ประเทศใดก็ตามขอให้มองในแง่ของการสร้างประโยชน์ ต้องมี3ประโยชน์ คือ การลงทุนในประเทศอื่นต้องคำนึงว่าได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ให้กับประชาชน ของประเทศนั้น รวมถึงประโยชน์ของบริษัท “เราต้องใช้จิตวิญญาณศึกษาเรื่องการสร้างประโยชน์ให้3ฝ่าย” ควบคู่ไปกับการศึกษาเรื่องการใช้เทคโนโลยี รวมไปถึงการใช้บิ๊กดาต้าและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะปัจจุบันจีนเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล มีบริษัทชั้นนำเป็นที่ยอมรับ อาทิ อาลีบาบา และผิงอัน เป็นต้น  ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากจุดนี้มาปฏิรูปเศรษฐกิจในแต่ละประเทศรวมถึงไทย ให้เกิดประโยชน์ได้เพราะการทำธุรกิจตอนนี้ต้องมีความรู้ เทคโนโลยี มีอินเตอร์เน็ต ในการสร้างธุรกิจที่เร็วและง่ายขึ้น

“ตอนนี้ประตูที่เปิดของจีน ยิ่งเปิดกว้าง นักธุรกิจจีนต้องมองดูว่า โครงสร้างพื้นฐานทุกวันนี้ของจีนแตกต่างจากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ต้องเน้นในเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตจะต้องมีการปฏิรูป มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และใช้ดิจิทัลเข้ามาปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อนำประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล”

นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการกระบวนการผลิต โดยยกกรณีของเครือซีพีเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเจ้าแรกนำเทคโนโลยีขั้นสูงจากอเมริกามาใช้ในการเลี้ยงไก่ที่ไทย โดยมองว่าในภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นการลงทุนที่สร้างโอกาส เพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ในขณะเดียวเราสามารถนำเทคโนโลยีมาแปรรูปเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย

นายธนินท์ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ลงทุนที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลัก จึงหวังว่านักลงทุนชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก จะพิจารณามาลงทุนที่ไทย โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC หรือเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

นอกจากนี้นายธนินท์มีความเห็นว่าเมื่อใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ก็ต้องมีการวางแผนเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ดังนั้นในอนาคตนักธุรกิจควรให้ความสำคัญในการลงทุนด้าน พลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากของการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยยกกรณีการแลกเปลี่ยนสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับฝรั่งเศสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด และไฮโดรเจน รวมถึงนิวเคลียร์ โดยฝรั่งเศสมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพลังงานสะอาดมากมาย ด้วยเหตุนี้ธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาดจะเป็นโอกาสสำคัญที่นักธุรกิจจีนจะหันมาลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคตในการฟื้นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ

นายธนินท์ เน้นย้ำปิดท้ายว่า ประเทศไทยมีโอกาสและมีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก จึงอยากชักชวนนักลงทุนชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนรุ่นใหม่ ให้ลงทุนพร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์ให้สังคมต่อไป

สำหรับการประชุมนักธุรกิจจีนโลก หรือ  WCEC ก่อตั้งขึ้นโดย หอการค้าและอุตสาหกรรมจีนสิงคโปร์ หอการค้าจีนฮ่องกง เพื่อเป็นเวทีประชุมผู้ค้าชาวจีนจากทุกประเทศทั่วโลกที่มายาวนานกว่า 30 ปี การประชุมนี้จะจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ฮ่องกง ซึ่งในปีนี้หอการค้าไทย-จีน จัดการประชุมพร้อมการเสวนาใน 4 หัวข้อย่อยเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการลงทุน โดยมีผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของไทยและจีนเข้าร่วมงานอาทิ คุณเฉิน ซวี่  ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการชาวจีนโพ้นทะเลแห่งคณะรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน คุณว่าน ลี่จวิ้น ประธานสหพันธ์ชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  คุณเกา เฉวียนชิ่ง ประธานหอการค้าสิงคโปร์-จีน คุณไช่ กวานเซิน ประธานกรรมการหอการค้าฮ่องกง-จีน คุณผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย คุณชาติศิริ โสภณพนิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และผู้บริหารระดับสูงและนักธุรกิจไทย-จีนอีกจำนวนมาก เพื่อสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการจีนทั่วโลก ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนระหว่างไทยกับนานาประเทศ