มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สนองพระราชดำริอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ผนึกภาครัฐ จัดกิจกรรม “ปรับ เปลี่ยน ปลูก ป่าชุมชน สร้างสมดุลอย่างยั่งยืน” ในโครงการ “อมก๋อย โมเดล” จ.เชียงใหม่เดินหน้าปลูกต้นไม้สร้างป่าต้นน้ำ

วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 – มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จัดกิจกรรม “ปรับ เปลี่ยน ปลูก ป่าชุมชน สร้างสมดุลอย่างยั่งยืน” ในโครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ โดยมี ว่าที่ร้อยตรี อดิศักดิ์ ดวงจินดา นายอำเภออมก๋อย และคุณกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย คุณมนตรี บัวเกตุ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลยางเปียง องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เกษตรอำเภออมก๋อย สาธารณสุขอำเภออมก๋อย พัฒนาการอำเภออมก๋อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย หน่วยพิทักษ์ป่าบ้านมูเซอ หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้อมก๋อย หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตื่น และชุมชนบ้านมูเซอ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวฯ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ จุดชมวิวบ้านมูเซอ ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

สืบเนื่องจากพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชประสงค์สร้างความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ทรงได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อาทิ สำรวจเก็บรวบรวม ปลูกรักษา อนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในการนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานในพื้นที่ อ.อมก๋อย ร่วมสนองพระราชดำริ โดยร่วมปลูกต้นไม้ ในกิจกรรม “ปรับ เปลี่ยน ปลูก ป่าชุมชน สร้างสมดุลอย่างยั่งยืน” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นไม้น้ำ ซึ่งมีการปลูกต้นไม้ จำนวน 1,000 ต้น ได้แก่ ต้นนางพญาเสือโคร่ง ต้นเสี้ยวขาว ต้นกัลปพฤกษ์ และต้นอินทนิล ระยะทางในการจัดกิจกรรมรวม 5 กิโลเมตร

ว่าที่ร้อยตรี อดิศักดิ์ ดวงจินดา นายอำเภออมก๋อย กล่าวว่า กิจกรรมฯ ในครั้งนี้สะท้อนถึงความตั้งใจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนบ้านมูเซอ และคณะผู้จัดงานที่จะร่วมกัน ในการนำแนวทางพระราชดำริในการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชท้องถิ่นของ อ.อมก๋อยให้คงอยู่คู่กับชุมชน โดยทั้งหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชนช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว พร้อมปลูกฝังให้ชุมชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสร้างการปรับ เปลี่ยน การทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว โดยการนำพืชกาแฟสร้างป่ามาเป็นพืชสีเขียวที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ และยังเป็นการสร้างป่าชุมชนที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนสร้างสมดุลอย่างยั่งยืน

คุณกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีเป้าหมายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินโครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ ในยุทธศาตร์ 3 สำคัญ ได้แก่ 1) ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำและการอนุรักษ์สัตว์ป่า 2) สร้างอาชีพรายได้ที่ยั่งยืน และ3) การสร้างชุมชนที่ยั่งยืน โดยกิจกรรม “ปรับ เปลี่ยน ปลูก ป่าชุมชน สร้างสมดุลอย่างยั่งยืน” ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีความสอดคล้องกับการดำเนินงานโครงการอมก๋อย โมเดล โดยสนับสนุนกล้าไม้ จำนวน 1,000 ต้น ปลูกในระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร พร้อมทั้งยังส่งต่อแนวคิด องค์ความรู้ การปลูกจิตสำนึกรักทรัพยากรป่าไม้ ที่เป็นบ้านเกิดตนเองให้กับชุมชน นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังเข้าไปสนับสนุนปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรของชุมชน จากรูปแบบเชิงเดี่ยวมาเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชมูลค่าสูง และกาแฟสร้างป่า เพื่อฟื้นฟู รักษาป่าต้นน้ำในพื้นที่ อ.อมก๋อย และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

ทั้งนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ยังคงขับเคลื่อนโครงการ “อมก๋อย โมเดล” ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน อย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนงานและยุทธศาสตร์ 5 ปี ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า อ.อมก๋อย ซึ่งถือเป็นป่าต้นน้ำและป่าสงวนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ จ.เชียงใหม่ และมีความสำคัญของไทย นอกจากนี้ ชุมชนบนพื้นที่สูงมีการดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพิงป่า ดังนั้น เป้าหมายของโครงการนี้ คือ การปกป้อง และฟื้นฟู เพิ่มพื้นที่ป่า โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 10,000 ไร่ พร้อมทั้ง สามารถสร้างความสมดุลระหว่างป่า คน และสัตว์ป่าให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน