มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมจัดกิจกรรม “ปลูกต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและป่าชุมชนบ้านห้วยไม้หก” ผ่านโครงการ “อมก๋อย โมเดล” เดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ ให้อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกิจกรรม “ปลูกต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและป่าชุมชนบ้านห้วยไม้หก” ผ่านโครงการ “อมก๋อย โมเดล” โดยมี คุณมนตรี บัวเกตุ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง ร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย คุณชุมพลภัทร์ คงธนจารุอนันต์ ผู้จัดการฝ่ายปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ฝ่ายปฏิบัติการเพื่อสังคม มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท คุณศักรนันทน์ ชายกวินภพ ผู้ใหญ่บ้านห้วยไม้หก ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวฯ จัดขึ้นโดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้อมก๋อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตื่น สถานีตำรวจภูธรแม่ตื่น โรงเรียนบ้านห้วยไม้หก และชุมชนบ้านห้วยไม้หก ณ โรงเรียนบ้านห้วยไม้หก และพื้นที่ป่าต้นน้ำห้วยเลเจโกร ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำ จำนวน 100 ไร่ ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

คุณชุมพลภัทร์ คงธนจารุอนันต์ ผู้จัดการสำนักปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ฝ่ายปฏิบัติการเพื่อสังคม มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า มูลนิธิฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีพ พร้อมทั้งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กัน ผ่านโครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการดำเนินงานคือ การปกป้องอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและป่าชุมชนรวมถึงสัตว์ป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานของมูลนิธิฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคีเครือข่าย รวมถึงราษฎรบ้านห้วยไม้หก และโรงเรียนบ้านห้วยไม้หก โดยมูลนิธิฯ มีส่วนร่วมสนับสนุนกล้าไม้ทั้งไม้ป่า ไม้ผล และไม้ดอกสวยงาม ได้แก่ ต้นมะไฟ ต้นจันทน์หอม ต้นพยุง ต้นนางพญาเสือโคร่ง จำนวน 600 ต้น โดยมีเมล็ดพันธุ์ต้นเนียง จำนวน 200 กิโลกรัม ผู้นำชุมชนบ้านห้วยไม้หกและกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าต้นน้ำ นำไปปลูกในพื้นที่ป่าต้นน้ำห้วยเลเจโกร ซึ่งนอกจากจะสามารถเพิ่มป่าแล้ว ชุมชนยังสามารถใช้ประโยชน์จากพันธุ์ไม้ที่นำไปปลูกโดยการนำไปรับประทาน และไม้ดอกสวยงาม ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ชุมชนได้อีกด้วย นับได้ว่าเป็น “ธนาคารอาหารชุมชน” หรือ Food bank

ทางด้าน คุณมนตรี บัวเกตุ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง กล่าวว่า การจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์และมีน้ำใช้สำหรับอุปโภคและบริโภคตลอดทั้งปี และเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ชุมชน เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและใช้ประโยชน์จากป่าต้นน้ำอย่างสมดุลและยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการ “อมก๋อย โมเดล” เกิดขึ้นจากการที่มูลนิธิฯ เล็งเห็นว่า พื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ถือได้ว่าเป็นแหล่งป่าต้นน้ำที่สำคัญของไทย นอกจากนี้ยังมีวิถีชาติพันธุ์ ของชุมชนบนพื้นที่สูงอยู่หลากหลายที่ดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพิงป่า และเชื่อว่าป่าเป็นสายเลือดที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต ดังนั้น ภารกิจหนึ่งที่สำคัญของโครงการนี้ คือ การปกป้อง และฟื้นฟู เพิ่มพื้นที่ป่า โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 10,000 ไร่ พร้อมทั้ง สามารถสร้างความสมดุลระหว่างป่า คน และสัตว์ป่าให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน