คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นำทีม “สภาดิจิทัลฯ” เสนอนโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทยถึงรัฐบาลชุดใหม่ในงาน สภาดิจิทัลฯ กับโจทย์ใหญ่ไทยแลนด์ 5.0 “เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” พร้อมแนะตั้งบอร์ดแห่งชาติ ผสานรัฐและเอกชนช่วยขับเคลื่อนทุกภาคส่วน

กรุงเทพฯ – 8 พฤษภาคม 2566 : คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือซีพี ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เสนอมุมมองแนวคิดการขับเคลื่อน Digital Transformation ในการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในงาน สภาดิจิทัลฯ กับโจทย์ใหญ่ไทยแลนด์ 5.0 “เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ยกระดับการทำงานภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ปลดล็อกศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ดึงดูดการลงทุน ผลัก­ดันให้เกิดเทคสตาร์ทอัพ 20,000 บริษัทในไทยพร้อมสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทุกมิติ ดันไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีในภูมิภาค ณ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

โดยมี ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท รองประธานสภาดิจิทัลฯ และประธานคณะกรรมการพันธกิจด้านพัฒนาสังคมดิจิทัล คุณวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ ในฐานะรองประธานสภาดิจิทัลฯ ดร.วีระ วีระกุล ในฐานะรองประธานสภาดิจิทัลฯ คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ในฐานะรองประธานสภาดิจิทัลฯ ดร.อธิป อัศวานันท์ ในฐานะผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ สภาดิจิทัลฯ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ คณะกรรมการ สมาคมสมาชิก และองค์กรพันธมิตร และสื่อมวลชน ร่วมงาน

“คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศไทย ทำให้คนไทยและธุรกิจไทยแข็งแกร่ง จึงมีการแถลงนโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทย มุ่งสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทุกมิติ เพื่อเป็นแนวทางให้พรรคการเมืองนำไปกำหนดเป็นนโยบายพัฒนาประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้มีความแข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับสร้างขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น

“หากเราดูจากอันดับการแข่งขันในเวทีโลกด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 26 และอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่อันดับที่ 40 อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารอยู่อันดับที่ 15 ของโลก รวมถึงทักษะภาษาอังกฤษอันดับที่ 97 นอกจากนั้นด้านการลงทุน พบว่า ต่างประเทศลงทุนด้านเทคโนโลยีเหลือเพียง 2% ของมูลค่ารวมอาเซียนดังนั้น จะเห็นว่าประเทศไทยมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก นอกจากนี้ ความท้าทายของโลกและของประเทศไทยมี 4 ประการ ประกอบด้วย ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงแหล่งทุน (Inclusive Capital) การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (Digital Transformation) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) โลกแบ่งขั้ว (Multi Polar) ประเด็นท้าทายข้างต้นเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งสิ้น”

โดยสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามความท้าทายในระดับโลกได้ คือ นโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทย ขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค 5.0 ซึ่งสภาดิจิทัล ฯ ได้เสนอแนวทางสำคัญ 5 ด้าน ที่จะเสริมศักยภาพและขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ประกอบด้วย

  1. บูรณาการให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม (PUBLIC-PRIVATE-PARTNERSHIP) เพื่อวางรากฐานของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน โดยการยกระดับการทำงานของภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล (E-Government) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และผสานความร่วมมือในประเด็นที่คาบเกี่ยวกันหรือทับซ้อนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เกิดความโปร่งใส เร่งดึงคนเก่งและคนดีเข้าสู่การทำงานภาครัฐในระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือนเทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน และควรมีข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20% รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดันให้ไทยสามารถขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างแท้จริง
  1. สร้างคนทักษะดิจิทัลโดยการปฏิรูปการศึกษา ตั้งเป้า 6% ของคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปมีทักษะดิจิทัลขั้นสูง ภายในปี 2570 แม้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดแต่ในปัจจุบันคนไทยที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูง (เขียนโปรแกรมได้) ยังมีเพียง 7 แสนคนหรือ 1% ในขณะที่มาเลเซียมีมากถึง 16% ซึ่งระดับทักษะดิจิทัลของคนในประเทศย่อมส่งผลกระทบทั้งด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ การวิจัยพัฒนานวัตกรรม การวางแผนการพัฒนาบุคคลากรและการดึงดูดการลงทุนการแก้ไขปัญหาถือเป็นเรื่องเร่งด่วนโดยควรปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) เริ่มจากการวางวิชาพื้นฐานในระดับเยาวชนด้วยหลักสูตรด้านเทคโนโลยีในการศึกษาภาคบังคับ การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ และ Computer Science เป็นวิชาหลัก รวมทั้งผลักดันให้เยาวชนไทย 7 ล้านคนมีคอมพิวเตอร์ที่มีการคัดกรองเนื้อหาที่ดี เพื่อให้เข้าถึงการค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรม รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี นอกจากนั้นยังควรปลูกฝังความเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา รวมทั้ง ส่งเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีนก่อนเข้าสู่โลกธุรกิจจริงในอนาคต  ระดับโรงเรียนต้องสร้างแหล่งเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experience Learning Based Center) ระดับมหาวิทยาลัยต้องมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม (Excellence Center) และในระดับเมืองควรเป็นคลัสเตอร์แห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Cluster) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญให้เกิดการพัฒนาทักษะดิจิทัลในทุกระดับ
  1. สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ประเทศไทยมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล แต่ปัจจุบันเรายังเป็นเพียงผู้ใช้และเป็นตัวกลางซื้อขายเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนบทบาทให้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนนโยบายเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยตั้งแต่ระดับ SME สามารถก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้นและเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการดิจิทัลที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านการเกษตรเพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางความมั่นคงทางอาหาร (Agro/Food Security Hub) จึงควรยกระดับการเกษตรมีการทำ Agro Industry Transformation โดยใช้เทคโนโลยีอย่าง  Smart Farming, Food Tech  และ Digitalization มาช่วยบริหารการเพาะปลูก รวมทั้ง การปรับระบบ Supply Chain ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ไทยในระดับโลก โดยผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับ 3,000-5,000 องค์กร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน ด้วยการสร้าง Soft Power สินค้า บริการ ท่องเที่ยว ตลอดจนเตรียมพร้อมด้าน Digital Infrastructure สำหรับรองรับวิถีดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรม
  1. ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 ยกระดับ R&D สร้างเทคสตาร์ทอัพ 20,000 บริษัทในไทยเพื่อช่วยเร่งให้เกิดการทำ Digital Transformation ได้เร็วขึ้น และทำให้เกิดการจ้างงาน Digital & Tech Workforce ไม่ต่ำกว่า 1,000,000 คน ประเทศไทยมีโอกาสดึงดูดนักลงทุนระดับโลกด้วยความพร้อมทางภูมิศาสตร์และความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีอยู่ เทคสตาร์ทอัพนับเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงาน อีกทั้ง จำนวนสตาร์ทอัพยังเป็นเสมือนกระจกสะท้อนความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความมั่นใจในการตัดสินใจลงทุน รัฐจึงควรตั้งเป้าหมายดึงดูดกองทุนหรือนักลงทุนระดับโลก (Big Boy) อย่างน้อย 3 ราย ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยควรสร้าง 5 Innovation Center ระดับโลก ได้แก่ 1.Bio 2.Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health care / Health Tech อย่างไรก็ตามการตั้งเป้าเป็น Regional Innovation Hub หรือแหล่งการลงทุนและศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมของภูมิภาค เราจะต้องพัฒนาศักยภาพการเป็น Innovation Cluster สำหรับผู้ประกอบการและนักวิจัยไทย ตลอดจน ผลักดันนโยบายเร่งด่วนเพื่อดึงดูดการลงทุน และผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เช่น Global Talents และDigital Nomads พร้อมทั้งเร่งยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมโดยประสานพลังภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาให้ต่อยอดขยายผลเกิดการใช้งานจริงได้ในระดับโลก
  1. สร้างสังคมดิจิทัลควบคู่ส่งเสริมคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนโดยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางจำนวน 1 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมภายในปี 2566 อีกทั้งรัฐบาลควรส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัล (Digital Vaccine) ความปลอดภัยและความรู้เท่าทันเทคโนโลยีให้แก่ประชาชนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแก้ปัญหาของประเทศทุกมิติ โดยการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนแบบ Green Economy ที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อให้ต้นทุนพลังงานถูกลง จึงจะเกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลายทั่วถึงและยั่งยืน นอกจากนี้ รัฐควรผลักดันนโยบายที่สนับสนุนดิจิทัลคอนเทนต์คุณภาพของไทย โดยการสร้างอัตลักษณ์คุณค่าทางวัฒนธรรมไทย ที่ผสมผสานทั้งสื่อ วัฒนธรรมและเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน และควรสนับสนุนคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมในช่วงเวลา Prime Time ด้วยการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) เช่น เงินทุนสนับสนุน ทำให้ประเทศสามารถหล่อหลอมวัฒนธรรมที่ดีงามไปกับเทคโนโลยี ถือเป็นการขับเคลื่อนวัฒนธรรมของชาติให้ออกสู่เวทีโลก

คุณศุภชัย ได้กล่าวสรุปให้เห็นถึง 7 ประเด็นสำคัญที่อยู่ภายใต้ 5 ข้อเสนอข้างต้น เพื่อเป็นแนวทางแก่รัฐบาลใหม่ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนี้

  1. กำหนดวิชาภาษาคอมพิวเตอร์/Computer Science เป็นวิชาหลักในการหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน และเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์คัดกรองที่ดีและมีคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี
  2. ส่งเสริม Media & Content ที่เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรม ในช่วง Prime Time ด้วยการให้ Incentive
  3. ตั้งเป้าเทคสตาร์ทอัพ 20,000 บริษัท เพื่อช่วย Digital Transformation และ Digital & Tech Workforce 1 ล้านคน
  4. ยกระดับการเกษตร Agro Industry Transformation / Smart Farming / Food Tech & Brand / สร้าง 3,000-5,000 องค์กร สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน 5.0
  1. ดึงดูดคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบราชการระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือน เทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน ปรับรัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล (E-Government) และควรมีข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20%
  2. สร้าง 5 Innovation Centers ระดับโลก ได้แก่ 1. Bio 2. Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health Care/Health Tech
  3. สนับสนุนการต่อยอดผู้ประกอบการไทย

และในช่วงท้ายได้รับเกียรติจาก คุณหนุ่ย – พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ผู้ก่อตั้งแบไต๋ และพิธีกรชื่อดังทางด้านไอทีมาร่วมชวน คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ร่วมตอบประเด็นคำถามจากสื่อมวลชนท่ามกลางบรรยากาศอย่างเป็นกันเอง

ทั้งนี้ ทางสภาดิจิทัลฯ ได้สรุปความเห็นของที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ รองประธาน คณะกรรมการ สมาคมสมาชิก และองค์กรพันธมิตร สภาดิจิทัลฯ และนำเสนอแนวคิดการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลของประเทศแก่พรรคการเมืองต่าง ๆ ในการเลือกตั้ง 2566 เพื่อเป็นแนวทางกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเร่งช่วยต่อยอดให้ผู้ประกอบการไทยได้ต่อไปอย่างแข็งแรงและเติบโตทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับโลก